วันอังคารที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2552

คำนำ
เอกสารโครงการสอนรายวิชาเคมีในชีวิตประจำวันเป็นเอกสารเตรียมการและวางแผนการสอนรายวิชา 13-020-115 ชื่อวิชา เคมีในชีวิตประจำวัน (Chemistry in Daily Uses) ซึ่งเป็นเนื้อหาสาระเกี่ยวกับสารเคมีที่ใช้ในชีวิตประจำวัน อาทิเช่น สบู่ ผงซักฟอก เครื่องสำอาง สารเติมแต่งอาหาร ยาที่ใช้ในชีวิตประจำวัน น้ำดื่ม น้ำใช้ พลาสติก ยาง และสารพิษที่ทำให้เกิดพิษภัยต่างๆ
ลักษณะรายวิชา การแบ่งหน่วยการเรียน จุดประสงค์การสอน การประเมินผลรายวิชา พร้อมทั้งกำหนดการสอน เอกสารและสื่อการสอน ทั้งนี้คาดหวังว่า เอกสารฉบับนี้จะเป็นคู่มือครูประกอบการสอนที่ได้มีการเตรียม และวางแผนการสอนไว้อย่างรอบคอบ ซึ่งจะส่งผลให้การเรียนการสอนรายวิชานี้มีประ-สิทธิภาพและมีคุณภาพดียิ่งขึ้นไป
จุดมุ่งหมายรายวิชาเพื่อให้ รู้จักสารเคมีที่ใช้ในชีวิตประจำวัน รู้จักประโยชน์และโทษของสารเคมี
เข้าใจวิธีการใช้และเก็บรักษา เข้าใจวิธีป้องกันอันตรายที่เกิดขึ้นเนื่องจากการใช้สารเคมี ประยุกต์ความรู้เหล่านี้เข้าใช้ในชีวิตประจำวัน

รายการเอกสารประกอบการสอน

จากแผนการสอน อ.ศิริพร พุ่มพึ่งพุทธ
1. กนกพร อุ่นใจชน. “ความรู้เกี่ยวกับสารป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืช”. เรื่องน่ารู้สำหรับประชาชนเล่มที่ 21. กรุงเทพฯ : ชมรมนักเรียนทุนมูลนิธิ.
2. กฤษณา ชุติมา. 2522. หลักเคมีทั่วไป. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ : ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์และอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.
3. กฤษณา ชุติมา. 2535. วิทยาศาสตร์กับชีวิตประจำวัน. กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์.
4. กันสตัน, บิล, สุวิน บุศราคำ. 2531. น้ำ. กรุงเทพฯ : เบสท์บุ๊คส์.
5. จักร์พันธุ์ ปัญจะสุวรรณ. 2542. เคมีประยุกต์. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์.
6. จินดา อุดชาชิน และคณะ. 2544. เคมี. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : นานมีบุ๊คส์.
7. จุไรรัตน์ เกิดดอนแฝก. 2536. ภัยมืดจากสารพิษ. กรุงเทพฯ: ศูนย์บริการสาธารณสุข 51 วัดไผ่ตัน.
8. ชมรมนักเรียนทุนมูลนิธิ “อานันทมหิดล”. 2537. เรื่องน่ารู้สำหรับประชาชน เล่มที่ 21. กรุงเทพฯ: ชมรมนักเรียนทุนมูลนิธิ.
9. ชวลิต ยอดมณี. 2531. ยาเสพติด : ขบวนการใต้ดิน. กรุงเทพฯ : สำนักงานป้องกันและปราบ
ปรามยาเสพติด สำนักนายกรัฐมนตรี.
10. แซง, เรย์มอนด์. 2544. เคมี เล่ม 2 . กรุงเทพฯ : แมคกรอ-ฮิล.
11. นงลักษณ์ สุขวาณิย์ศิลป์.(บรรณาธิการ). 2545. ยาใหม่ในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : บริษัทนิวไทยมิตรการพิมพ์ (1996) จำกัด.
12. นภดล ไชยคำ. 2544. เคมี. กรุงเทพฯ : แมคกรอ-ฮิล.
13. นวลแข ปาลิวนิช. 2542. ความรู้เรื่องผ้าและเส้นใย ฉบับปรับปรุงใหม่. กรุงเทพฯ: ซีเอ็ดยูเคชั่น.
14. ประภาณี เกษมศรี ณ อยุธยา และคณะ. 2541. เคมีทั่วไป เล่ม 1. กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
15. ประภาณี เกษมศรี ณ อยุธยา และคณะ. 2542. เคมีทั่วไป เล่ม 2. กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
16. ประวิตร พิศาลบุตร. 2538. ผิวหน้าสดใส. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : เฮลท์ ออทอริตี้ส์.
17. ปิยวรรณ แสงสว่าง และสุพิณณี ชวนสนิท. 2539. วิทยาศาสตร์กับชีวิตประจำวัน. กรุงเทพฯ :อินเตอร์เทคพริ้นติ้ง.
18. พัฒน์ สุจำนงค์. 2528. ยาเสพติดมีพิษชีวิตเป็นภัย. กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์.
19. พัฒน์ สุจำนงค์. 2528. น้ำดื่มสะอาด. กรุงเทพฯ : แพร่พิทยา.
20. พิชิต เลี่ยมพิพัฒน์. 2539. พลาสติก. พิมพ์ครั้งที่ 13. กรุงเทพฯ: สัมพันธ์พาณิชย์.
21. พิมพร ลีลาพรพิสิฐ. 2532. เครื่องสำอางสำหรับผิวหนัง. กรุงเทพฯ : โอ เอส พริ้นติ้ง เฮ้าส์.
22. พิมพร ลีลาพรพิสิฐ. 2544. เครื่องสำอางเพื่อความสะอาด (ฉบับปรับปรุง). กรุงเทพฯ :
โอเดียนสโตร์.
23. พิมพร ลีลาพรพิสิฐ. 2547. เครื่องสำอางธรรมชาติ ผลิตภัณฑ์สำหรับผิวหนัง. กรุงเทพฯ :
โอเดียนสโตร์.
24. มูลนิธิโลกสีเขียว. 2535. น้ำ. กรุงเทพฯ : มูลนิธิโลกสีเขียว.
25. ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการบริหารกิจการ และการบำรุงรักษาระบบประปาชนบท
พ.ศ.2535.
26. เรวดี ธรรมอุปกรณ์. 2545. ใช้ยาต้องรู้. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
27. ไรอัน, ลอร์รี. 2544. เคมี. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : นานมีบุ๊คส์.
28. วิชาการ, กรม กระทรวงศึกษาธิการ. 2534. ความรู้เรื่องผ้าสำหรับวัยรุ่น. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์การศาสนา.
29. วินัย ดะห์ลัน. 2543. โภชนาการทันสมัยฉบับผู้บริโภค. กรุงเทพฯ: วิทยพัฒน์.
30. วิโรจน์ สุ่มใหญ่. 2543. ยาบ้ามหันตภัยข้ามสหัสวรรษ. กรุงเทพฯ : ศูนย์หนังสือจุฬาลงกรณ์
มหาวิทยาลัย.
31. ศิริภรณ์ ฟุ้งวิทยา. 2540. ยาระงับปวด. กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
32. ศิวาพร ศิวเวชช. 2529. วัตถุเจือปนอาหาร. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.
33. สนั่น มหิฑธิวาณิชชา.2547. มหันตภัยจากการบริโภคของมนุษย์. กรุงเทพฯ: [ม.ป.ท.].
34. สถาบันโรคผิวหนัง. 2524. เครื่องสำอางกับความงาม. กรุงเทพฯ : สถาบันโรคผิวหนัง.
35. สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา. 2545. คู่มือผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางเพื่อเศรษฐกิจชุมชน. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์สามเจริญพาณิชย์.
36. สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ. 2546. ชุดกิจกรรมการเรียนรู้ “วัสดุและสิ่งใกล้ตัว” ระดับมัธยมศึกษา. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ.
37. สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม. 2539. เครื่องสำอาง : ข้อกำหนดทั่วไป. กรุงเทพฯ: สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม
38. สำนักบริการวิชาการ. 2540. วิทยาศาสตร์เพื่อประชาชน. กรุงเทพฯ : วิริยะการพิมพ์.
39. สิรินทร์ ช่วงโชติ. 2522. น้ำดื่ม น้ำใช้. กรุงเทพฯ : กรมวิชาการ.
40. สุมณฑา วัฒนสินธุ์. ความปลอดภัยของอาหาร (การใช้ระบบ HACCP). กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ส.ส.ท.
41. อมรา ทองปาน และวีรศักดิ์ อุดมโชค. 2541. วิทยาศาสตร์ทั่วไป. กรุงเทพฯ :
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.
42. อรวินท์ โทรกี. เรื่องต้องรู้เพื่อชีวิต อาหารกับโรค. กรุงเทพฯ : สมาคมคหเศรษฐศาสตร์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์.
43. อรอุษา สรวารี. 2544. สารเคลือบผิว (สี วาร์นิช และแลกเกอร์). กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์
มหาวิทยาลัย.
44. อรัญญา มโนสร้อย. 2532. เครื่องสำอาง เล่มที่ 3. กรุงเทพฯ : โอ เอส พริ้นติ้งเฮ้าส์.
45. อรัญญา มโนสร้อย. 2533. เครื่องสำอาง เล่มที่ 2. กรุงเทพฯ : โอ เอส พริ้นติ้งเฮ้าส์.
46. อรัญญา มโนสร้อย และจีระเดช มโนสร้อย. 2543. สารใหม่และวิทยาการใหม่ทางเครื่องสำอาง. กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์.
47. อรัญญา มโนสร้อย และจีระเดช มโนสร้อย. 2545. ไลโปโซมทางยาและเครื่องสำอาง. กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์.
48. อำนาจ เจริญศิลป์. 2535. วิทยาศาสตร์กับชีวิตประจำวัน. กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์.
49. อุดม ดุจศรีวัชร. 2539. ยาเสพติด. กรุงเทพฯ : อักษรพิพัฒน์.
50. เอ็ม ไอเอส ชอฟท์เทคจำกัด. 2544. ตำราการใช้ยาและสมุนไพร. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
51. โอวาท นิติภัณฑ์ประภาศ. ม.ป.ป. “โภชนาการในมิติใหม่”. มนุษย์กับธรรมชาติ. กรุงเทพฯ :
โครงการศึกษาทั่วไป จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
52. โอวาท นิติพันธ์ประภาศ. 2533. “ความรู้ใหม่ๆ เกี่ยวกับอาหาร”. อาหารเพื่อสุขภาพ. พิมพ์ครั้งที่2. กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช จำกัด.
53. เว็บไซต์

www.elib-online.com/doctors46/dental_dentrifice001.html
www.dental.anamai.moph.go.th/fluoride/comf/thai.html
www.healthnet.in.th
www.ku.ac.th
www.pharm.chula.ac.th

วันพฤหัสบดีที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2552

แบบฝึกหัดเรื่องสารเสพติด

แบบฝึกหัดเรื่องสารเสพติด

ตอนที่ 1 ให้เลือกข้อที่ถูกที่สุดเพียงข้อเดียว
1. ข้อใด ไม่ใช่ ยาเสพติดสังเคราะห์
ก. ฝิ่น ข. เฮโรอีน ค. ยาหลอนประสาท ง. ยานอนหลับ
2. แอมเฟตามีน เรียกตามภาษาตลาดว่า ยาบ้า หรือ ยาขยัน เป็นยาเสพติดประเภทใด
ก. กดประสาท ข. หลอนประสาทค. กระตุ้นประสาท ง. ออกฤทธิ์ผสมผสาน
3. ข้อใด ไม่ใช่ ผลของสารนิโคตินต่อร่างกาย
ก. หัวใจเต้นรัว เพิ่มไขมันในเลือด ความดันสูงข. ขับน้ำย่อยอาหารมาก เป็นแผลในกระเพาะอาหารค. กันไม่ให้เม็ดเลือดแดงจับกับออกซิเจนทำลายเม็ดเลือดแดงง. นิ้วมือ และฟันเหลืองน่าเกลียด
4. ข้อใดเป็นผลเนื่องจากมีแอลกอฮอล์ในร่างกาย
ก. รู้สึกร้อน หัวใจสูบฉีดดีขึ้น ทำให้หน้าแดง ผิวแดงข. เกิดอัลดีไฮด์ รวมตัวกับกรดเกลือในกระเพาะ ทำให้เป็นพิษต่อกระเพาะค. เกิดกรดอะซิติกไหลเวียนในกระแสโลหิตทำให้ประสาทสมองควบคุมการสั่งงานเสียง. ถูกทุกข้อ
5. เมื่อดื่มสุราเข้าไป แอลกอฮอล์จะถูกดูดซึมที่ใดมากที่สุด
ก. กระเพาะอาหาร ข. ลำไส้เล็กค. หัวใจ ง. หลอดอาหาร
6. เมื่อแอลกอฮอล์เข้าสู่ร่างกายจะถูกเปลี่ยนให้เป็น คาร์บอนไดออกไซด์และน้ำ ที่อวัยวะส่วนใดมากที่สุด
ก. หัวใจ ข. ปอดค. ตับ ง. กล้ามเนื้อ
7. เมื่อดื่มสุราขณะท้องว่างมักจะมึนเมาเร็วเนื่องจากเข้าสู่กระแสโลหิตแล้วไหลเวียนไปทั่วร่างกายได้ภายในเวลากี่นาที
ก. 3 นาที ข. 5 นาที ค. 7 นาที ง. 10 นาที
8. คนที่ดื่มสุรา ควรจะหลีกเลี่ยงการรับประทานกับแกล้มที่เป็นอาหารประเภทใด
ก. มีโปรตีนสูง ข. มีไขมันสูงค. มีแป้งสูง ง. มีวิตามินซีสูง
9. นักศึกษาจะปฏิบัติตามข้อใดจึงจะให้ตนเองปลอดภัยจากการเสพติดยา
ก. ศึกษาเกี่ยวกับยาเสพติดข. รักษาสุขภาพจิตของตนเองให้ดีอยู่เสมอค. ช่วยให้เพื่อนที่เสพติดยาได้รับการรักษาที่ถูกต้องง. รวบรวมสถิติเกี่ยวกับอันตรายที่เกิดจากการเสพติดยา
10. เครื่องดื่มชูกำลัง มีส่วนผสมของยาเสพติดชนิดใด
ก. แอมเฟตามีน ข. คาเฟอีนค. นิโคติน ง. แอสไพริน

การป้องกันการติดยาเสพติด

การป้องกันการติดยาเสพติด
การป้องกันการติดยาเสพติด

เพราะเหตุที่ยาเสพติดทั้งหลายสามารถก่อให้เกิดโทษต่อร่างกายและจิตใจของผู้เสพ บางชนิดอาจก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิตหากเสพไม่ถูกวิธี เช่น เสพยาเกินขนาด ฉีดสารละลายที่มีฟองอากาศเข้าเส้น อีกทั้งผู้เสพติดอาจนำความเดือดร้อนมาสู่ครอบครัว สังคม และประเทศชาติ ดังนั้น เราทุกคนจึงควรห่างไกลจากยาเสพติด ในการนี้มีวิธีที่พึงปฏิบัติเพื่อป้องกันตนเองและผู้อื่นไม่ให้ตกเป็นทาสของยาเสพติดชนิดต่างๆ ได้ดังนี้

1. ไม่ใช้ยารักษาตนเองจนพร่ำเพรื่อ รวมทั้งไม่ใช้ยาชนิดหนึ่งชนิดใดติดต่อกันเป็นระยะเวลา
นานๆ โดยไม่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์หรือเภสัชกร ทั้งนี้เพราะยาบางชนิดเสพติดได้ หากใช้ผิดหลัก
การแพทย์ เช่น ยาแก้ปวด แก้ไอ
2. ไม่ทดลองชิมหรือเสพ เพราะยาบางชนิด เช่น เฮโรอีน แม้ลองเสพเพียง 1-2 ครั้ง ก็อาจทำให้ติดได้
3. ไม่เชื่อคำยั่วยุที่ว่า ยาเสพติดสามารถช่วยให้คลายทุกข์หรือก่อให้เกิดความสนุกแบบต่างๆ ซึ่งผลดังกล่าวอาจเกิดขึ้นชั่วขณะที่ยาออกฤทธิ์หรือขณะลองเสพใหม่ๆ แต่ภายหลังการเสพติดยา
แล้วจะเพิ่มความทุกข์ทรมานมากขึ้นโดยเฉพาะเวลาเกิดอาการขาดยา
4. ศึกษาให้เข้าใจและพร้อมทั้งชี้แจงให้ผู้อื่นเข้าใจ และมีความรู้เรื่องยาเสพติดในแง่มุมต่างๆ ทั้งนี้เพราะ เคยปรากฏว่าผู้เสพติดหลายรายไม่มีความรู้ด้านนี้มาก่อน หรือมีความรู้เกี่ยวกับโทษอันตราย แต่ไม่รู้ว่ายาเสพติดต่างๆ จะแฝงมาในรูปใด มีวิธีสังเกตอย่างไร หรือมีชื่ออื่นที่เรียกกันอย่างไร จึงได้ใช้หรือถูกหลอกให้ใช้ยาเสพติดโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เช่น ไม่รู้ว่าเฮโรอีนที่ยัดไส้บุหรี่ เมื่อจุดสูบแล้วจะทำให้ขี้เถ้าสีดำ ไม่รู้ว่าผงขาวหรือไอระเหยเป็นชื่อของเฮโรอีนด้วย ฯลฯ
5. ทำตนเป็นตัวอย่างที่ดี โดยเฉพาะผู้ที่มีเยาวชนอยู่ในความปกครอง ทั้งนี้เพราะเยาวชนที่ติดยาจำนวนไม่น้อย มีสาเหตุจากการกระทำของผู้ปกครอง เช่น พ่อแม่ไม่มีเวลาให้ลูกเพื่อให้คำปรึกษา ผู้ใหญ่ที่บ้านติดสิ่งเสพติด (เหล้า บุหรี่) ด้วย
6. ทำงาน เล่นกีฬา หรือกิจกรรมสันทนาการต่างๆ ที่น่าสนใจ รวมทั้งสอดส่องดูแลคนในบ้านในปกครอง โดยเฉพาะเด็กให้ทำสิ่งดังกล่าวเพื่อจะได้เพลิดเพลินหรือสนุกสนานในเรื่องต่างๆ ที่ทำแทนการหันไปสนใจยาเสพติด
7. เมื่อมีปัญหาใดๆ ถ้าคิดว่าไม่สามารถแก้ไขเองได้ ควรปรึกษาผู้ใกล้ชิดที่เป็นคนดีหรือพึ่งบริการของสังคมสงเคราะห์ เช่น หน่วยสังคมสงเคราะห์ที่อยู่ตามโรงพยาบาลต่างๆ สภาสังคมสงเคราะห์ หรือใช้ศาสนาเป็นที่พึ่งทางใจเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาแทนที่จะพึ่งยาเสพติด
8. ไม่รับของที่คนแปลกหน้าหยิบยื่นให้ เพราะในนั้นอาจมียาเสพติดชนิดร้ายแรงปนมา ในการนี้ยังอาจช่วยป้องกันการปฏิบัติการอาชญากรรมจากคนแปลกหน้า ซึ่งหลอกให้กินหรือสูบของที่มีพิษอันตรายอื่นๆ เช่น ยานอนหลับ สารพิษ เป็นต้น9. ถ้ารู้ว่าใครผลิต นำเข้า ส่งออก หรือจำหน่ายยาเสพติด ควรแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทางการที่มีหน้าที่ในการปราบปรามยาเสพติด เช่น ตำรวจ เจ้าหน้าที่ศุลกากร เจ้าหน้าที่หน่วยปราบปรามของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (สำนักงาน ป.ป.ส.) หรือแม้กระทั่งแจ้งต่อนายอำเภอ ผู้ใหญ่บ้าน เพื่อดำเนินการกวาดล้างและปราบปรามไม่ให้สิ่งเหล่านี้กระจายไปสู่ชุมชน เพราะต้องถือว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องรับผิดชอบร่วมกันในการกำจัดบุคคลที่ทำผิดกฎหมายให้หมดไป

ยาเสพติด

ยาเสพติด
2.4 ยาเสพติด

2.4.1 ความหมายของยาเสพติด

ยาเสพติด หมายถึง ยาชนิดใดชนิดหนึ่ง อาจเป็นสารธรรมชาติหรือสารสังเคราะห์ ซึ่งเมื่อร่างกายได้รับซ้ำๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นการเสพโดยวิธีกิน ทา หรือฉีดเข้าสู่ร่างกายทางใดทางหนึ่ง จะเป็นครั้งคราวหรือเป็นเวลานาน แล้วทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกายและจิตใจโดยมีลักษณะสำคัญ 4
ประการคือ
1. เกิดความต้องการอย่างสุดจะอดกลั้นได้ (Compulsion) ที่จะต้องหายานั้นมาให้ได้ ไม่ว่าจะโดยวิธีใดก็ตาม
2. จะต้องเพิ่มปริมาณของยาที่ใช้อยู่เรื่อยๆ
3. ตกเป็นทาสของยานั้นทางจิตใจ (Psychic Dependence) และทางกาย (Physical
Dependence) และถ้าหยุดเสพจะมีอาการขาดยา (Withdrawal Symptoms)
4. ทำให้เกิดผลร้ายต่อผู้เสพและต่อสังคม

2.4.2 ประเภทของยาเสพติด

2.4.2.1 การแบ่งประเภทของยาเสพติดตามหลักวิชาการ
ยาเสพติดเหล่านี้ตามหลักวิชาการแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภทคือ
1. แบ่งตามแหล่งที่เกิด แบ่งออกได้เป็น
1.1 ยาเสพติดธรรมชาติ เป็นสารที่กลั่นหรือสกัดได้จากพืชบางชนิดโดยตรง เช่น ฝิ่น โคเคอีน กัญชา รวมทั้งการนำสารจากพืชเหล่านั้นมาปรุงเป็นอย่างอื่น โดยกรรมวิธีทางเคมี เช่น มอร์ฟีน เฮโรอีน ซึ่งทำมาจากฝิ่น เป็นต้น
1.2 ยาเสพติดสังเคราะห์ เป็นสารที่ผลิตขึ้นในห้องปฏิบัติการด้วยกรรมวิธีทางเคมี นำมาใช้แทนยาเสพติดธรรมชาติได้ โดยสารที่สังเคราะห์ขึ้นมานั้นออกฤทธิ์เหมือนยาเสพติดธรรมชาติ เช่น เมทีดรีน ไฟเซปโตน เมทาโดน เป็นต้น
2. แบ่งตามฤทธิ์ของยาที่มีต่อร่างกายมนุษย์ แบ่งได้เป็น
2.1 ออกฤทธิ์กดประสาท ได้แก่ ยาที่ออกฤทธิ์ทางกดประสาท เมื่อเสพแล้วทำให้คลาย
ความทรมาน ช่วยบรรเทาความเจ็บปวดทางร่างกาย บรรเทาความว้าวุ่นทางจิตใจ ทางอารมณ์ ช่วยคลายความหมกมุ่น ทำให้เกิดความรู้สึกเป็นสุข เช่น ฝิ่น มอร์ฟีน เฮโรอีน เซโคบาร์บาทาล เป็นต้น
2.2 ออกฤทธิ์กระตุ้นประสาท ได้แก่ ยาเสพติดที่ออกฤทธิ์ในทางกระตุ้นประสาทและสมอง ในขณะที่ยาออกฤทธิ์ทำให้ผู้เสพเพิ่มพูนความสามารถชั่วระยะเวลาหนึ่ง ช่วยเพิ่มความมั่นใจในตนเอง ทำให้เกิดความสุข จิตใจปลอดโปร่ง เช่น โคเคอีน เป็นต้น
2.3 ออกฤทธิ์หลอนประสาท ได้แก่ ยาที่ทำให้ประสาทสัมผัสสูญเสียสมรรถภาพ เกิดความรู้สึกในทางสัมผัสประสาทโดยไม่มีสิ่งเกิดขึ้นจริง เช่น ภาพหลอน ได้ยินเสียงทั้งๆ ที่ไม่มีเสียง คิดว่าเป็นผู้วิเศษเหาะเหินเดินอากาศได้ เช่น แอลเอสดี ดีเอ็มที เป็นต้น
2.4 ออกฤทธิ์ผสมผสานกัน ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทผสมกันไป อาจออกฤทธิ์กดประสาท กระตุ้นประสาท หรือหลอนประสาทพร้อมกันไป เช่น กัญชา เมื่อเสพในจำนวนน้อยจะกดประสาทอยู่ชั่วระยะหนึ่ง เมื่อเสพมากขึ้นจะกลายเป็นพิษหลอนประสาทต่อไปได้
3. แบ่งตามลักษณะของสารที่ใช้ในวงการแพทย์
สำหรับวงการแพทย์ยังมียาและสารเคมีหลายอย่างที่เป็นสารเสพติดให้โทษ กล่าวคือ
พวกที่ 1 ได้แก่ ฝิ่น หรือสารที่มีส่วนประกอบของฝิ่น เช่น มอร์ฟีน ทิงเจอร์ ฝิ่น เฮโรอีน รวมไปถึงสารสังเคราะห์หลายอย่างที่มีคุณสมบัติคล้ายๆ กัน
พวกที่ 2 ได้แก่ ยานอนหลับต่างๆ ที่มีผลโดยตรงต่อสมองส่วนกลาง ยาพวกนี้จำหน่ายทั่วไป เช่น ฟีโนบาร์บีทาล เหล้าแห้ง ซอลเนอรัลทูวิบาล รวมทั้งยานอนหลับที่ใช้บาร์ทูเรต ได้แก่ ไบร์ไมต์ คลอรอล ไฮเดรตพารัลดีไฮด์ และยาสังเคราะห์ใหม่ๆ เช่น กลูตาไมล์และเมตากูอาโลน
พวกที่ 3 ยากระตุ้นประสาท ได้แก่ แอมเฟตามีน และใบกระท่อม
พวกที่ 4 ยาที่ทำให้ประสาทหลอน ได้แก่ กัญชา แอลเอสดี เอสทีพี ดีเอ็มที ยาเหล่านี้ทำให้ประสาทการรับฟังของคนเราผิดไปจากเดิม รวมทั้งสารอย่างอื่นและเห็ดบางอย่าง
พวกที่ 5 แอลกอฮอล์จัดเป็นสารเสพติดชนิดหนึ่งด้วยเพราะเมื่อดื่มจนติดแล้วจะทำให้ผู้ดื่มมีความต้องการและเพิ่มปริมาณการดื่มเรื่อยๆ ไป อีกทั้งมีโทษต่อร่างกายเช่นเดียวกับยาเสพติดชนิดอื่นๆ

2.4.2.2 การแบ่งประเภทของยาเสพติดให้โทษตามกฎหมาย
เนื่องจากยาและสารหลายชนิด เมื่อนำมาใช้ผิดหลักการแพทย์หรือผิดวัตถุประสงค์ สามารถก่อให้เกิดการเสพติดขึ้น ถ้าเกิดการเสพติดจะส่งผลกระทบให้เกิดปัญหาต่อตัวผู้เสพ ครอบครัว สังคม ตลอดจนประเทศชาติได้ ในสภาวการณ์เช่นนี้จำเป็นที่ทางการต้องมีมาตรการในการควบคุมการผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย และครอบครองสิ่งเหล่านี้ โดยการใช้อำนาจทางกฎหมายในการลงโทษผู้กระทำผิด สำหรับกฎหมายสำคัญซึ่งระบุประเภทของยาเสพติดที่ควรรู้จักไว้คือ พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2528 และฉบับที่ 3 พ.ศ. 2530
พระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยฉบับที่ 2 พ.ศ. 2528 และฉบับที่ 3 พ.ศ. 2535 และพระราชกำหนดป้องกันการใช้สารระเหย พ.ศ. 2533
ยาเสพติดให้โทษที่ระบุตามกฎหมายนี้มีมากมายหลายชนิดแต่ได้จัดแบ่งออกเป็น 5 ประเภทคือ
ประเภท 1 เฮโรอีน อาเซทอร์ฟีน อีทอร์ฟีน ฯลฯ (เป็นยาเสพติดให้โทษชนิดร้ายแรง)
ประเภท 2 ฝิ่น มอร์ฟีน โคเคอีน (โคเคน) ฯลฯ (เป็นยาเสพติดให้โทษทั่วไป)
ประเภท 3 ยาแก้ไอที่มีฝิ่น หรือโคเคอีนเป็นส่วนผสม ยาแก้ท้องเสียที่มีไดฟ์น็อคซิเลทเป็น
ส่วนผสม ฯลฯ (เป็นยาเสพติดให้โทษชนิดเป็นตำรับยาที่มียาเสพติดให้โทษประเภท 2 ปรุงผสมอยู่ด้วย)
ประเภท 4 อาเซติคแอนไฮโดรด์ อาเซติลคลอไรด์ (เป็นสารเคมีที่ใช้ในการผลิตยาเสพติดให้โทษประเภท 1 หรือประเภท 2)
ประเภท 5 กัญชา กระท่อม (เป็นยาเสพติดให้โทษอื่นที่มิได้เข้าข่ายอยู่ในประเภท 1 ถึง
ประเภท 4)
แต่เนื่องจากสถานการณ์ของการเสพติดเพิ่มความยุ่งยากขึ้นเพราะพบว่า นอกเหนือจากมีการใช้ยาเสพติดให้โทษในทางที่ผิดแล้วยังปรากฏว่า มีการใช้วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทในทางที่ผิดด้วย จึงทำให้ต้องออกกฏหมายควบคุมสิ่งเหล่านี้เช่นเดียวกับยาเสพติดให้โทษ วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตใจและประสาทที่ระบุตามกฏหมายนี้มีมากมายหลายชนิด เช่นเดียวกับยาเสพติดให้โทษ แต่ได้จัดแบ่งออกเป็น 4 ประเภทคือ
ประเภท 1 ดีเอ็มที เมสคาลีน แอลเอสดี เตตราไฮโดรแคนนาบินอล ฯลฯ
ประเภท 2 แอมเฟตามีน เมทแอมเฟตามีน อีเฟตรีน เมทิลเฟนีเดทเซโคบาร์บาทาล เมทาควาโลน ฯลฯ
ประเภท 3 อะโมบาร์บิทาล ไซโคลบาร์บิทาล กลูเตทิไมด์ เมโปรบาเมต ฯลฯ
ประเภท 4 บาร์บิทาล ฟีโนบาร์บิทาล ไดอาซีแพม คลอไดอาซีพอกไซด์ ฯลฯ
สำหรับยาบ้านั้น จัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภทที่ 2 เนื่องจากมีส่วนผสมของแอมเฟตามีน หรือเมทแอมเฟตามีน หรืออีเฟดรีน ซึ่งเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 รวมอยู่ด้วย
และปัจจุบันได้มีการนำสารระเหย หรือวัตถุ หรือผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปที่มีสารระเหยผสมหรือเจือปนอยู่ ซึ่งผลิตขึ้นเพื่อใช้ในทางอุตสาหกรรมหรือทางอื่นไปใช้สูด ดม หรือวิธีอื่นใดอย่างแพร่หลายซึ่งก่อให้เกิดอันตรายอย่างร้ายแรงแก่ผู้สูดดม ซึ่งส่วนมากเป็นเด็กและเยาวชน และยังก่อให้เกิดปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศชาติโดยส่วนรวม นอกจากนี้ยังไม่มีกฎหมายใช้บังคับแก่สารระเหยโดยเฉพาะเพื่อดำเนินการป้องกันภัยของสารระเหยที่มีต่อความปลอดภัยสาธารณะ จึงมีการออกกฎหมายเพื่อป้องกันมิให้มีการนำสารระเหยมาใช้ในทางที่ไม่เหมาะสม สำหรับสารระเหยสามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มคือ
1. เป็นสารเคมี เช่น อาซีโทน เอทิลอาซิเตต โทลูอีน
2. เป็นผลิตภัณฑ์ เช่น แล็กเกอร์ ทินเนอร์ กาว ฯลฯ

2.4.3 ยาเสพติดให้โทษและวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทที่จำหน่ายได้

ยาเสพติดให้โทษและวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทที่จำหน่ายได้ ได้แก่ ยาเสพติดให้โทษในประเภท 3 และวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 3 และ 4 ซึ่งจำหน่ายได้ในร้านขายยาที่มีใบอนุญาตเพื่อการจำหน่ายยาเสพติดประเภทดังกล่าว

2.4.3.1 ยาเสพติดให้โทษประเภท 3ในการจำหน่ายยาประเภทนี้ นอกจากเจ้าของร้านขายยาต้องขออนุญาตทางการให้จำหน่ายแล้ว ยังต้องทำบัญชีเกี่ยวกับการซื้อขายของแต่ละเดือนเพื่อแจ้งแก่ทางการด้วย สำหรับผู้ซื้อจะต้องให้ชื่อและที่อยู่ทางร้านไว้ ในขณะจำหน่ายก็ต้องมีเภสัชกร (แผนปัจจุบันชั้นหนึ่ง) ผู้ควบคุมปฏิบัติการอยู่ สำหรับยาตำรับที่เป็นยาเสพติดให้โทษในประเภทที่ 3 สังเกตได้จากที่ข้างภาชนะบรรจุจะมีตัวอักษรสีแดงว่า “ยาเสพติดให้โทษประเภท 3” กำกับไว้
2.4.3.2 วัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 3 และ 4ในการจำหน่ายยาประเภทนี้ นอกจากเจ้าของร้านขายยาต้องขออนุญาตทางการให้จำหน่ายได้แล้ว ยังต้องทำบัญชีเกี่ยวกับการซื้อขายของแต่ละเดือนเพื่อแจ้งแก่ทางการด้วย สำหรับผู้ซื้อจะต้องนำใบสั่งแพทย์มาซื้อ ในขณะจำหน่ายก็ต้องมีเภสัชกร (แผนปัจจุบันชั้นหนึ่ง) และผู้ควบคุมปฏิบัติการอยู่ ยาเป็นวัตถุออกฤทธิ์นี้อาจเป็นตำรับยาเดี่ยวๆ หรือเป็นตำรับยาที่มีตัวยาชนิดอื่นปรุงผสมร่วม
ยาเสพติดบางชนิดที่ระบาดในสถานการณ์ปัจจุบัน

ในระยะนี้เมื่ออ่านหนังสือพิมพ์ครั้งใด มักจะอ่านพบข่าวเกี่ยวกับ การใช้ยาในทางที่ผิดอยู่เสมอ ซึ่งส่วนใหญ่ยาที่ตกเป็นข่าวก็คือ ยาบ้า ยาอี ยาเค และยาอื่นที่ใกล้เคียง เรื่องของยาเหล่านี้ กำลังเป็นปัญหาสังคมที่ชัดเจน และขยายวงกว้างขึ้นทุกวัน
1. ยาบ้า เป็นชื่อที่ใช้เรียกยาเสพติดที่มีส่วนผสมของสารเคมีประเภท
แอมเฟตามีน (Amphetamine) สารประเภทนี้แพร่ระบาดอยู่ 3 รูปแบบ
ด้วยกันคือ แอมเฟตามีนซัลเฟต (Amphetamine Sulfate)
เมทแอมเฟตามีน (Methamphetamine) และเมทแอมเฟตามีนไฮโดรคลอไรด์ (Methamphetmine Hydrochloride) ซึ่งจากผลการตรวจพิสูจน์ยาบ้าปัจจุบัน ที่พบอยู่ในประเทศไทยมักพบว่า เกือบทั้งหมดมีเมทแอมเฟตามีนไฮโดรคลอไรด์ผสมอยู่
ยาบ้า จัดอยู่ในกลุ่มยาเสพติดที่ออกฤทธิ์กระตุ้นประสาท มีลักษณะเป็นยาเม็ดกลมแบนขนาดเล็ก เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 6-8 มิลลิเมตร ความหนาประมาณ 3 มิลลิเมตร น้ำหนักเม็ดยาประมาณ 80-100 มิลลิกรัม มีสีต่างๆ กัน เช่น สีส้ม สีน้ำตาล สีม่วง สีชมพู สีเทา สีเหลืองและสีเขียว มีสัญลักษณ์ ที่ปรากฏบนเม็ดยา เช่น ฬ, m, M, RG, WY สัญลักษณ์รูปดาว, รูปพระจันทร์เสี้ยว, 99 หรืออาจเป็นลักษณะของเส้นแบ่งครึ่งเม็ด ซึ่งสัญลักษณ์เหล่านี้ อาจปรากฏบนเม็ดยาด้านใดด้านหนึ่ง หรือทั้งสองด้าน หรืออาจเป็นเม็ดเรียบทั้งสองด้านก็ได้
อาการผู้เสพ : เมื่อเสพเข้าสู่ร่างกายในระยะแรกจะออกฤทธิ์ทำให้ร่างกายตื่นตัว หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูง ใจสั่น ประสาทตึงเครียด แต่เมื่อหมดฤทธิ์ยาจะรู้สึกอ่อนเพลียมากกว่าปกติ ประสาทล้า ทำให้การตัดสินใจช้าและผิดพลาด เป็นเหตุให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงได้ ถ้าใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานจะทำให้สมองเสื่อม เกิดอาการประสาทหลอน เห็นภาพลวงตา หวาดระแวง คลุ้มคลั่ง เสียสติ เป็นบ้าอาจทำร้ายตนเองและผู้อื่นได้ หรือในกรณีที่ได้รับยาในปริมาณมาก (Overdose) จะไปกดประสาท และระบบการหายใจ ทำให้หมดสติ และถึงแก่ความตายได้
โทษที่ได้รับ : การเสพยาบ้าก่อให้เกิดผลร้ายหลายประการ ดังนี้
1. ผลต่อจิตใจ เมื่อเสพยาบ้าเป็นระยะเวลานานหรือใช้เป็นจำนวนมาก จะทำให้ผู้เสพมีความผิดปกติทางด้านจิตใจ กลายเป็นโรคจิตชนิดหวาดระแวง ส่งผลให้มีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไป เช่น เกิดอาการหวาดกลัว ประสาทหลอนซึ่งโรคนี้หากเกิดขึ้นแล้ว อาการจะคงอยู่ตลอดไป แม้ในช่วงเวลาที่ไม่
ได้เสพยาก็ตาม
2. ผลต่อระบบประสาท ในระยะแรกจะออกฤทธิ์กระตุ้นประสาท ทำให้ประสาทตึงเครียด แต่เมื่อหมดฤทธิ์ยาจะมีอาการประสาทล้า ทำให้การตัดสินใจเรื่องต่างๆช้า และผิดพลาด หากใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานจะทำให้สมองเสื่อม หรือกรณีที่ใช้ยาในปริมาณมาก (Overdose) จะไปกดประสาทและระบบการหายใจ ทำให้หมดสติและถึงแก่ความตายได้
3. ผลต่อพฤติกรรม ฤทธิ์ของยาจะกระตุ้นสมองส่วนที่ควบคุมความก้าวร้าวและความกระวนกระวายใจ ดังนั้น เมื่อเสพยาบ้าไปนานๆ จะก่อให้เกิดพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป คือ ผู้เสพจะมีความก้าวร้าวเพิ่มขึ้นและหากยังใช้ต่อไปจะมีโอกาสเป็นโรคจิตชนิดหวาดระแวง เกรงว่าจะมีคนมาทำร้ายตนเองจึงต้องทำร้ายผู้อื่นก่อน

2. เฮโรอีน (Heroin)
เฮโรอีน เป็นยาเสพติดที่ได้จากการสังเคราะห์ทางเคมีจากปฏิกิริยาระหว่างมอร์ฟีนกับสารเคมีบางชนิด เช่น อาเซติคแอนไฮไดรด์ (Acetic Anhydride) หรือ อาเซติลคลอไรด์ (Acetyl Chloride) หรือเอทิลิดีนไดอาเซเตต (Ethylidene Diacetate) โดยนักวิจัยชาวอังกฤษ ชื่อ C.R. Wright ได้ค้นพบวิธีการสังเคราะห์เฮโรอีนจากมอร์ฟีนโดยใช้น้ำยาอาเซติคแอนไฮไดรด์ (Acetic Anhydride) และบริษัทผลิตยาไบเออร์ (Bayer) ได้นำมาผลิตเป็นยาออกสู่ตลาดโลก ในชื่อทางการค้าว่า "Heroin" และนำมาใช้แทนมอร์ฟีนอย่างแพร่หลาย หลังจากที่มีการใช้เฮโรอีนในวงการแพทย์นานถึง 18 ปี จึงทราบถึงอันตรายและผลที่ทำให้เกิดการเสพติดที่ให้โทษอย่างร้ายแรงจนปี พ.ศ. 2467 (ค.ศ. 1924) ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ออกกฎหมายระบุให้เฮโรอีนเป็นยาเสพติดให้โทษ ห้ามมิให้ผู้ใดมีไว้ในครอบครอง
หลังจากนั้นต่อมาอีก 35 ปี คือ เมื่อปี พ.ศ. 2502 เฮโรอีนจึงได้แพร่ระบาดสู่ประเทศไทย และในปี พ.ศ. 2504 ประเทศไทยจึงออกกฎหมาย ระบุให้เฮโรอีนและมอร์ฟีนเป็นยาเสพติดให้โทษ เฮโรอีนออกฤทธิ์แรงกว่ามอร์ฟีนประมาณ 4-8 เท่า และออกฤทธิ์แรงกว่าฝิ่น ประมาณ 30-90 เท่า โดยทั่วไปเฮโรอีน จะมีลักษณะเป็นผงสีขาว สีนวล หรือสีครีม มีรสขม ไม่มีกลิ่น และแบ่งได้เป็น 2 ประเภท เช่นเดียวกับมอร์ฟีน ได้แก่ เฮโรอีนเบส (Heroin Base) ซึ่งมีคุณลักษณะเด่น คือ ไม่ละลายน้ำ ส่วนอีกประเภทหนึ่ง คือ เกลือของเฮโรอีน (Heroin Salt) เช่น เฮโรอีนไฮโดรคลอไรด์ (Heroin Hydrochloride)
เฮโรอีนที่แพร่ระบาดในประเทศไทย แบ่งเป็น 2 ชนิด คือ
1. เฮโรอีนผสม หรือเรียกว่า เฮโรอีนเบอร์ 3 หรือไอระเหย เป็นเฮโรอีนที่มีความบริสุทธิ์ต่ำ เนื่องจากมีการผสมสารอื่นเข้าไปด้วย เช่น ผสมสารหนู สตริกนิน ยานอนหลับ คาเฟอีน แป้ง น้ำตาลและอาจผสมสี เช่น สีม่วงอ่อน สีชมพูอ่อน สีน้ำตาล อาจพบในลักษณะเป็นผง เป็นเกล็ดหรืออัดเป็นก้อนเล็กๆ มีวิธีการเสพโดยการสูดเอาไอสารเข้าร่างกาย จึงเรียกว่า "ไอระเหย" หรือ "แคป"
2. เฮโรอีนเบอร์ 4 เป็นเฮโรอีนไฮโดรคลอไรด์ที่มีความบริสุทธิ์สูง มีลักษณะเป็นผงละเอียด หรือเป็นเม็ดคล้ายไข่ปลา หรือพบในลักษณะอัดเป็นก้อนสี่เหลี่ยมผืนผ้า มักมีสีขาวหรือสีครีม ไม่มีกลิ่น มีรสขม เป็นที่รู้จักกันทั่วไปว่า “ผงขาว” มักเสพโดยนำมาละลายน้ำแล้วฉีดเข้าร่างกาย หรือผสมบุหรี่สูบ

อาการผู้เสพ :
1. มีอาการปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระดูก ปวดตามข้อ ปวดสันหลัง ปวดบั้นเอว ปวดหัวรุนแรง
2. มีอาการจุกแน่นในอก คล้ายใจจะขาด อ่อนเพลียอย่างหนัก หมดเรี่ยวแรง มีอาการหนาวๆ ร้อนๆ อึดอัดทุรนทุราย นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย บางรายมีอาการชักตาตั้ง น้ำลายฟูมปาก ม่านตาดำหดเล็กลง
3. ใจคอหงุดหงิดฟุ้งซ่าน มึนงง หายใจไม่ออก
4. ประสาทเสื่อม ความจำเสื่อม

โทษทางร่างกาย :
1. โทษต่อผิวหนัง เป็นอาการที่ทำให้เส้นเลือดใต้ผิวหนังเกิดการขยายตัว เกิดเป็นตุ่มแดงเล็กๆ ขึ้นบริเวณผิวหนัง และกระตุ้นสารฮิสตามีน (Histamine) และกระตุ้นต่อมเหงื่อด้วย อาการนี้พบได้หลังจากที่เสพเฮโรอีนใหม่ๆ จะมีอาการคันใต้ผิวหนัง นอกจากนี้ผู้เสพจะมีเหงื่อออกมากกว่าปกติและขนลุก
2. โทษต่อลำไส้ ทำให้ลำไส้บิดตัวลดลง ผู้เสพจึงมีอาการท้องผูก
3. กดศูนย์การหายใจ ทำให้หายใจช้ากว่าปกติ ถ้าใช้ในปริมาณมากจะทำให้หัวใจหยุดเต้นได้
4. ทำลายฮอร์โมนเพศ ถ้าผู้เสพเป็นเพศหญิง จะทำให้ประจำเดือนมาผิดปกติ ถ้าผู้เสพเป็นเพศชาย จะทำให้ฮอร์โมนเพศลดลง ไม่มีความรู้สึกต้องการทางเพศ
5. ทำลายระบบภูมิคุ้มกันโรคของร่างกาย ผู้เสพจึงมีโอกาสติดเชื้อโรคได้ง่าย อาการที่พบเห็นภายนอก คือ ผิวหนังมีอาการติดเชื้อ เป็นแผลพุพอง ติดเชื้อวัณโรค ติดเชื้อโรคตับอักเสบ นอกจากนี้ ผู้เสพติดเฮโรอีนจะทำให้ติดโรคเอดส์ได้ง่ายกว่าปกติ เพราะผู้เสพมักใช้เข็มฉีดยาที่ไม่ได้ทำความสะอาด หรือใช้เข็มฉีดยาร่วมกันจนทำให้ติดเชื้อ HIV ผู้เสพติดเฮโรอีนที่ติดเชื้อ HIV ก็จะเป็นผู้แพร่ระบาด HIV เนื่องจากการจับกลุ่มใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน หรือในบางครั้งก็มีเพศสัมพันธ์ร่วมกันโดยไม่ได้ป้องกัน

3. โคเคน (Cocaine)
โคเคน หรือ โคคาอีน เป็นยาเสพติด ที่สกัดได้จากใบของต้นโคคา ซึ่งเป็นต้นไม้ที่นิยม
ลักลอบปลูกมากในประเทศแถบอเมริกาใต้ เช่น เปรู โบลิเวีย และโคลัมเบีย เป็นต้น ในใบโคคาจะมีโคเคนอยู่ประมาณ 2% โคเคนมีชื่อเรียกในกลุ่มผู้เสพว่า COKE, SNOW, SPEED BALL, CRACK โคเคนสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ โคเคนเบส (Cocaine Base) และเกลือโคเคน เช่น โคเคนไฮโดรคลอไรด์ (Cocaine Hydrochloride) และโคเคนซัลเฟต (Cocaine Sulfate) โคเคนที่พบในประเทศไทย มีทั้งเป็นผงละเอียดสีขาว และมีรูปผลึกเป็นก้อน (Free Base, Crack)

อาการผู้เสพ :
หัวใจเต้นแรง ความดันโลหิตสูง กระวนกระวาย ตัวร้อนมีไข้ นอนไม่หลับ มีอาการซึมเศร้า

โทษที่ได้รับ :
ผนังจมูกขาดเลือดทำให้เยื่อบุโพรงจมูกฝ่อ ขาดหรือทะลุ สมองถูกกระตุ้นอย่างรุนแรง ทำให้เกิดอาการชัก มีเลือดออกในสมอง เนื้อสมองตายเป็นบางส่วน หัวใจถูกกระตุ้นอยู่เสมอ กล้ามเนื้อหัวใจเสื่อมลงทีละน้อยจนหัวใจบีบตัวไม่ไหว ทำให้หัวใจล้มเหลว ผลจากการเสพเป็นระยะเวลานาน ทำให้เกิดอาการโรคจิต ซึมเศร้า

4. แอลเอสดี (LSD : Lysergic Acid Diethylamide)

Double-headedserpent
Black rings
Skull design B
Red spot
Buddha
Mr Zippy
Bat Design
Blackliahtning
Smileyblue eyes
Strawberry

แอลเอสดี เป็นสารสกัดจากกรดไลเซอจิกที่มีในเชื้อราชนิดหนึ่งชอบขึ้นในข้าวไรย์ มีลักษณะเป็นผงละลายน้ำได้ อาจพบแอลเอสดีเป็นเม็ดยาแคปซูล หรือผสมในทอฟฟี่ ที่พบว่าแพร่ระบาดมากมีลักษณะเป็นแผ่นกระดาษชุบหรือเคลือบสารแอลเอสดี และปรุแบ่งเป็นชิ้นเล็กๆ ลักษณะเดียวกับแสตมป์ แต่มีขนาดเล็กกว่าแสตมป์ โดยบนแผ่นกระดาษที่เคลือบสารแอลเอสดีนั้นจะมีสัญลักษณ์หรือรูปภาพต่างๆ แอลเอสดีมีความรุนแรงในการออกฤทธิ์ต่อสมองสูงคือใช้ในปริมาณแค่ 25 microgram (25/1 ล้านส่วนของกรัม) แอลเอสดีมีชื่อเรียกอีกหลายชื่อ เช่น เมจิคเปเปอร์ แอสซิสแสตมป์

อาการผู้เสพ :
เคลิบเคลิ้ม ฝันเฟื่อง ความดันโลหิตสูง อุณหภูมิในร่างกายสูง หายใจไม่สม่ำเสมอ

โทษที่ได้รับ :
ฤทธิ์ของยาจะทำให้ผู้เสพเห็นภาพลวงตา หูแว่ว เพ้อฝัน คิดว่าตนเองเป็นผู้วิเศษ หรือคิดว่าเหาะได้อาจมีอาการทางจิตประสาทรุนแรง มีอาการหวาดระแวง เกิดอาการกลัว ภาพหลอน (Bad Trip) จึงต้องหนีจากความหวาดกลัว เช่น การขับรถหนี หรือเหาะหนี หรือฆ่าตัวตายเพราะความหวาดกลัว

5. บุหรี่ (Cigaratte)
บุหรี่ มีสารต่างๆ หลายชนิด แต่สารสำคัญที่ทำให้เกิดการเสพติดคือ นิโคติน ซึ่งเป็นสาร
แอลคะลอยด์ที่ไม่มีสี นิโคติน 30 มิลลิกรัมสามารถทำให้คนตายได้ บุหรี่ธรรมดามวนหนึ่งจะมีนิโคตินอยู่ราว 15-20 มิลลิกรัม ก็คือจำนวนนิโคตินในบุหรี่ 2 มวน สามารถทำให้คนตายได้ในทันที แต่การที่สูบบุหรี่ติดต่อกันหลายมวนแล้วไม่ตาย ก็เพราะว่ามีนิโคตินในควันบุหรี่ เป็นส่วนน้อยที่เข้าสู่ร่างกายของผู้สูบ

ฤทธิ์ในทางเสพติด :
บุหรี่ออกฤทธิ์กระตุ้นประสาท ไม่มีอาการเสพติดทางร่างกาย มีอาการเสพติดทางจิตใจ ไม่มีอาการขาดยาทางร่างกาย

อาการผู้เสพ :
ตาแห้ง ตาแดง ริมฝีปากแห้งเขียว เล็บเหลือง ฟันมีคราบดำจับ มือสั่น ลมหายใจมีกลิ่นเหม็น หลอดลมอักเสบ เกิดอาการระคายเคืองต่อระบบทางเดินหายใจ ไอ เสียงแหบ

โทษที่ได้รับ :
นิโคตินจะออกฤทธิ์กระตุ้นหัวใจให้ทำงานหนัก และในขณะเดียวกัน จะทำให้หลอดเลือดหดตัวอันเป็นสาเหตุของโรคหัวใจขาดเลือด ความดันโลหิตสูง โรคมะเร็งปอด ถุงลมโป่งพอง ถ้าผู้สูบบุหรี่เป็นหญิงมีครรภ์จะทำให้แท้งได้ง่ายหรือทารกที่คลอดออกมาจะมีน้ำหนักตัวน้อยกว่าปกติ
บุหรี่ที่มีก้นกรองและไม่มีก้นกรองอย่างไหนมีอันตรายกว่ากัน :
จากการศึกษาพบว่าบุหรี่นั้นมีอันตรายไม่ว่าจะมีหรือไม่มีก้นกรองก็ตาม เพราะจากการวัดปริมาณสารทาร์ และสารนิโคติน พบว่า บุหรี่ที่มีก้นกรองและไม่มีก้นกรองผู้สูบจะได้รับปริมาณสารทาร์และสารนิโคตินเท่ากัน แต่อาจป็นไปได้ว่าบุหรี่ที่มีก้นกรองอาจจะกรองสารอื่นที่มีอนุภาคขนาดใหญ่ออกไปจากควันบุหรี่ได้บ้าง จะเห็นได้ว่าแม้แต่ในต่างประเทศซึ่งส่วนใหญ่จะชอบสูบบุหรี่ก้นกรอง ก็ยังพบว่า ผู้สูบบุหรี่ที่มีก้นกรองนั้นได้รับพิษภัยจากบุหรี่เป็นจำนวนมาก และรัฐบาลต่างประเทศก็รณรงค์ให้เลิกสูบบุหรี่ก้นกรองอยู่ตลอดเวลา

6. ยาอี ยาเลิฟ เอ็คซ์ตาซี (Ecstasy)
ยาอี ยาเลิฟ เอ็คซ์ตาซี (Ecstasy) เป็นยาเสพติดกลุ่มเดียวกัน จะแตกต่างกันบ้างในด้านโครงสร้างทางเคมี เท่าที่พบส่วนใหญ่จะมีองค์ประกอบทางเคมีที่สำคัญ คือ 3,4 Methylenedioxy
methamphetamine (MDMA), 3,4 Methylenedioxy amphetamine (MDA) และ 3,4 Methylenedioxy ethamphetamine (MDE หรือ MDEA) ลักษณะของยาอี มีทั้งที่เป็นแคปซูลและเป็นเม็ดยาสีต่างๆ แต่ที่พบในประเทศไทย ส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นเม็ดกลมแบน เส้นผ่าศูนย์กลาง 0.8-1.2 เซนติเมตร หนา 0.3-0.4 เซนติเมตร ผิวเรียบและปรากฏสัญลักษณ์บนเม็ดยาเป็นรูปต่างๆ เช่น กระต่าย, ค้างคาว, นก, ดวงอาทิตย์, P.T. ฯลฯ เสพโดยการรับประทานเป็นเม็ด จะออกฤทธิ์ภายในเวลา 45 นาที และฤทธิ์ยาจะอยู่ในร่างกายได้นานประมาณ 6-8 ชั่วโมง
ยาอี ยาเลิฟ เอ็คซ์ตาซี เป็นยาที่แพร่ระบาดในกลุ่มวัยรุ่นที่ชอบเที่ยวกลางคืน ออกฤทธิ์ใน 2 ลักษณะ คือ ออกฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทในระยะสั้นๆ หลังจากนั้นจะออกฤทธิ์หลอนประสาทอย่างรุนแรง ฤทธิ์ของยาจะทำให้ผู้เสพรู้สึกร้อน เหงื่อออกมาก หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูง การได้ยินเสียงและการมองเห็นแสงสีต่างๆ ผิดไปจากความเป็นจริง เคลิบเคลิ้ม ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ของตนเองได้ อันเป็นสาเหตุที่จะนำไปสู่พฤติกรรมเสื่อมเสียต่างๆ และจากการค้นคว้าวิจัยของแพทย์และนักวิทยาศาสตร์หลายท่าน พบว่า ยาชนิดนี้มีอันตรายร้ายแรง แม้จะเสพเพียง 1-2 ครั้ง ก็สามารถทำลายระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ส่งผลให้ผู้เสพมีโอกาสติดเชื้อโรคต่างๆ ได้ง่าย และยังทำลายเซลล์สมองส่วนที่ทำหน้าที่ส่งสารซีโรโทนิน (Serotonin) ซึ่งเป็นสารสำคัญในการควบคุมอารมณ์ให้มีความสุข โดยผลจากการทำลายดังกล่าว จะทำให้ผู้เสพเข้าสู่สภาวะของอารมณ์ที่เศร้าหมองหดหู่อย่างมาก และมีแนวโน้มการฆ่าตัวตายสูงกว่าคนปกติ



ฤทธิ์ในทางเสพติด :
ออกฤทธิ์กระตุ้นประสาทในระยะสั้นๆ จากนั้นจะออกฤทธิ์หลอนประสาท มีอาการติดยาทางจิตใจ ไม่มีอาการขาดยาทางร่างกาย

อาการผู้เสพ :
เหงื่อออกมาก หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูง ระบบประสาทการรับรู้เปลี่ยนแปลงทั้งหมด (Psychedelic) ทำให้การได้ยินเสียงและการมองเห็นแสงสีต่างๆ ผิดไปจากความเป็นจริง เคลิบเคลิ้ม ควบคุมอารมณ์ไม่ได้

โทษที่ได้รับ :
การเสพยาอีก่อให้เกิดผลร้ายหลายประการ ดังนี้
1. ผลต่ออารมณ์ เมื่อเริ่มเสพในระยะแรกยาอีจะออกฤทธิ์กระตุ้นประสาทให้ผู้เสพรู้สึกตื่นตัวตลอดเวลา ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ของตนเองได้ เป็นสาเหตุให้เกิดพฤติกรรมสำส่อนทางเพศ
2. ผลต่อการรับรู้ การรับรู้จะเปลี่ยนแปลงไปจากความเป็นจริง
3. ผลต่อระบบประสาท ยาอีจะทำลายระบบประสาททำให้เซลล์สมองส่วนที่ทำหน้าที่หลั่งสารซีโรโทนิน (Seortonin) ซึ่งเป็นสารสำคัญในการควบคุมอารมณ์นั้นทำงานผิดปกติ กล่าวคือ เมื่อยาอีเข้าสู่สมองแล้วจะทำให้เกิดการหลั่งสาร "ซีโรโทนิน" ออกมามากเกินกว่าปกติ ส่งผลให้จิตใจสดชื่นเบิกบาน แต่เมื่อระยะเวลาผ่านไป สารดังกล่าวจะลดน้อยลงทำให้เกิดอาการซึมเศร้า หดหู่อย่างมาก อาจกลายเป็นโรคจิตประเภทซึมเศร้า (Depression) และอาจเกิดสภาวะอยากฆ่าตัวตาย นอกจากนี้ การที่สารซีโรโทนินลดลงยังทำให้ธรรมชาติของการหลับนอนผิดปกติ จำนวนเวลาของการหลับลดลง นอนหลับไม่สนิท จึงเกิดอาการอ่อนเพลียขาดสมาธิในการเรียนและการทำงาน

7. ยาเค
ยาเค มาจากคำว่า เคตามีน (Ketamine) เคตาวา (Ketava) เคตารา (Ketara) หมายถึง ยาที่มีอันตรายสูง ที่แพทย์จะจ่ายให้กับผู้ป่วยเฉพาะเมื่อมีความจำเป็นจริงๆ เท่านั้น ยาเคถูกสังเคราะห์ขึ้นเพื่อใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ โดยใช้เป็นยาสลบมีชื่อเรียกในวงการแพทย์ว่า "KATAMINE HCL." มีลักษณะเป็นผงสีขาว และเป็นน้ำบรรจุอยู่ในขวดสีชา การนำไปใช้นั้นปกติแพทย์จะใช้ฉีดเข้าเส้นเลือดในอัตรา 1 ถึง 2 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม โดยยาจะออกฤทธิ์ทำให้หมดสติภายในเวลา 1 นาที หรืออาจใช้วิธีฉีดเข้ากล้ามเนื้อ แต่วิธีนี้จะใช้ปริมาณยามากกว่าการฉีดเข้าเส้นเลือดประมาณ 3 เท่า อาการหมดสติจากการใช้ยาเคจะเป็นอยู่นานประมาณ 10-15 นาที เท่านั้น ด้วยเหตุนี้ยาเคจึงถูกนำมาใช้ในกรณีของการผ่าตัดที่ใช้ระยะเวลาสั้นๆ หรือใช้ทำให้ผู้ป่วยสลบ ก่อนที่จะผ่านไปสู่การใช้ยาสลบชนิดอื่น
สาเหตุที่ทำให้ยาเค กลายเป็นปัญหา เพราะวัยรุ่นบางกลุ่มได้นำยาเคมาใช้เป็นสิ่งมึนเมา โดยนำมาทำให้เป็นผงด้วยกรรมวิธีผ่านความร้อน จากนั้นจึงนำมาสูดดมเพื่อให้เกิดอาการมึนเมาและมักพบว่ามีการนำยาเคมาใช้ร่วมกับยาเสพติดร้ายแรงชนิดอื่น เช่น ยาอี และโคเคน
ยาเค เป็นยาที่ออกฤทธิ์หลอนประสาทอย่างรุนแรง เมื่อเสพเข้าไปแล้วจะรู้สึกเคลิบเคลิ้ม
(Euphoria) รู้สึกว่าตนเองมีอำนาจพิเศษ (Mystical) มีอาการสูญเสียกระบวนการทางความคิด ความคิดสับสน การรับรู้และตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อมทั้งภาพ แสง สี เสียง จะเปลี่ยนแปลงไป ตาลาย ร่างกายเคลื่อนไหวไม่สัมพันธ์กัน หากใช้ปริมาณมากจะเกิดการติดขัดในการหายใจ (Respiratory Depression) อาการที่ไม่พึงประสงค์เหล่านั้น (Bad Trip) จะปรากฏให้เห็นคล้ายกับอาการทางจิต ซึ่งหากใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานจะปรากฏอาการเช่นนี้อยู่บ่อยๆ เรียกว่า Flashbacks ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว จะทำให้ผู้เสพประสพกับสภาวะโรคจิตและกลายเป็นคนวิกลจริตได้

โทษที่ได้รับ :
การนำยาเคมาใช้ในทางที่ผิดย่อมก่อให้เกิดอันตรายต่อตัวผู้ใช้ โดยทำให้เกิดผล ดังนี้
1. ผลต่ออารมณ์ มีความรู้สึกเคลิบเคลิ้ม มึนงง หรือที่เรียกว่าอาการ "Dissociation"
2. ผลต่อการรับรู้ จะเปลี่ยนแปลงการรับรู้ทั้งหมดในขณะเสพ ไม่ค่อยตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อมทั้งภาพ แสง สี เสียง

8. กัญชา (Cannabis, Marihuana, Ganja)
กัญชา เป็นพืชล้มลุกจำพวกหญ้าขึ้นได้ง่ายในเขตร้อน ลำต้นสูงประมาณ 2-4 ฟุต ลักษณะใบจะแยกออกเป็นแฉกประมาณ 5-8 แฉก คล้ายใบมันสำปะหลัง ที่ขอบใบทุกใบจะมีรอยหยักอยู่เป็นระยะๆ ออกดอกเป็นช่อเล็กๆ ตามง่ามของกิ่งและก้าน ส่วนที่คนนำมาเสพได้แก่ ส่วนของกิ่ง ก้าน ใบและยอดช่อดอกกัญชา โดยนำมาตากหรืออบแห้งแล้วบดหรือหั่นให้เป็นผงหยาบๆ จากนั้นจึงนำมายัดไส้บุหรี่สูบ (แตกต่างจากบุหรี่ทั่วไปที่ไส้บุหรี่จะมีสีเขียวต่างจากไส้ยาสูบที่มีสีน้ำตาล และขณะจุดสูบจะมีกลิ่นเหมือนหญ้าแห้งไหม้ไฟ) หรืออาจสูบด้วยกล้องหรือบ้องกัญชา บ้างก็ใช้เคี้ยว หรือผสมลงในอาหารรับประทาน ปัจจุบันรูปแบบของกัญชาที่พบนอกจากจะพบในลักษณะของกัญชาสด กัญชาแห้งอัดเป็นแท่งเป็นก้อนแล้วยังอาจพบในรูปของ "น้ำมันกัญชา" (Hashish Oil) ซึ่งมีลักษณะเป็นของเหลวสีน้ำตาลเข้มหรือสีดำ ได้จากการนำกัญชามาผ่านกระบวนการสกัดหลายๆ ครั้งจึงได้เป็นน้ำมันกัญชาที่มีปริมาณสารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทสูงถึง 20-60% หรืออาจพบในลักษณะของ "ยางกัญชา" (Hashish) เป็นยางแห้งที่ได้จากใบและยอดช่อดอกกัญชา ซึ่งโดยทั่วไปจะมีฤทธิ์แรงกว่ากัญชาสด และมีปริมาณสารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทประมาณ 4-8%
กัญชา เป็นยาเสพติดให้โทษที่ออกฤทธิ์หลายอย่างต่อระบบประสาทส่วนกลาง คือ ทั้งกระตุ้น กดและหลอนประสาท สารออกฤทธิ์ที่อยู่ในกัญชามีหลายชนิด แต่สารที่สำคัญที่สุดที่มีฤทธิ์ต่อสมองและทำให้ร่างกาย อารมณ์และจิตใจเปลี่ยนแปลงไป คือ เตตราไฮโดรแคนนาบินอล (Tetrahydro Cannabinol) หรือ THC ที่มีอยู่มากในส่วนของยอดช่อดอกกัญชา สาร THC นี้ ในเบื้องต้นจะออกฤทธิ์กระตุ้นประสาท ทำให้ผู้เสพตื่นเต้น ช่างพูด และหัวเราะตลอดเวลา ต่อมาจะกดประสาททำให้ผู้เสพมีอาการคล้ายเมาเหล้าอย่างอ่อนๆ เซื่องซึมและง่วงนอน หากเสพเข้าไปในปริมาณมากๆ จะหลอนประสาททำให้เห็นภาพลวงตา หูแว่ว ความคิดสับสน ควบคุมตนเองไม่ได้

ฤทธิ์ในทางเสพติด :
ออกฤทธิ์ผสมผสานทั้งกระตุ้น กดและหลอนประสาท มีอาการเสพติดทางจิตใจ ไม่มีอาการขาดยาทางร่างกาย

อาการผู้เสพ :
อารมณ์อ่อนไหวเปลี่ยนแปลงง่าย ความคิดเลื่อนลอยสับสน ควบคุมตัวเองไม่ได้ ไม่สนใจสิ่งแวดล้อม ความจำเสื่อม กล้ามเนื้อลีบ หัวใจเต้นเร็ว หูแว่ว

โทษที่ได้รับ :
หลายคนคิดว่า การเสพกัญชานั้นไม่มีโทษร้ายแรงมากนัก แต่จากการศึกษาวิจัย พบว่า กัญชาเป็นยาเสพติดอีกชนิดหนึ่ง ที่มีอันตรายร้ายแรงต่อสุขภาพมากเกินกว่าที่คาดคิด อาทิเช่น
1. ทำลายสมรรถภาพทางกาย ผู้เสพกัญชาในปริมาณมาก เป็นระยะเวลานานๆ จะทำให้ร่างกายเสื่อมโทรม จนไม่สามารถประกอบกิจการงานใดๆ ได้ โดยเฉพาะงานที่ต้องใช้แรงงาน ความคิด และการตัดสินใจ รวมทั้งจะมีลักษณะ Amotivation Syndrome คือ การหมดแรงจูงใจของชีวิต จะไม่คิดทำอะไรเลย อยากอยู่เฉยๆ ไปวันๆ ซึ่งมีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตและการทำงานเป็นอย่างมาก
2. ทำลายระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย การเสพติดกัญชามีผลร้ายคล้ายกับการติดเชื้อเอดส์ (HIV) กล่าวคือ กัญชาจะทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานเสื่อมลงหรือบกพร่อง ร่างกายจะอ่อนแอและติดเชื้อโรคต่างๆ ได้ง่าย
3. ทำลายสมอง การเสพกัญชาแม้เพียงในระยะสั้น ทำให้ผู้เสพบางรายสูญเสียความทรงจำ เพราะฤทธิ์ของกัญชาจะทำให้สมองและความจำเสื่อม เกิดความสับสน วิตกกังวล และหากผู้เสพเป็นผู้มีอาการของโรคจิตเภท หรือป่วยเป็นโรคซึมเศร้าจะมีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการรุนแรงมากกว่าคนปกติทั่วไป
4. ทำให้เกิดมะเร็งปอด เนื่องจากผู้เสพจะอัดควันกัญชาเข้าไปในปอดลึกนานหลายวินาที การสูบบุหรี่ยัดไส้กัญชาเพียง 4 มวน ซึ่งเท่ากับการสูบบุหรี่ 1 ซอง หรือ 20 มวน นั้นสามารถทำลายการทำงานของระบบทางเดินหายใจทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งได้มากกว่าคนสูบบุหรี่ธรรมดาถึง 5 เท่า และในกัญชายังมีสารเคมีที่เป็นอันตรายสามารถให้เกิดโรคมะเร็งได้
5. ทำร้ายทารกในครรภ์ กัญชาจะทำลายโครโมโซม ฉะนั้นหญิงที่เสพกัญชาในระยะตั้งครรภ์ ทารกที่เกิดมาจะพิการมีความผิดปกติทางร่างกาย เช่น ความผิดปกติของเซลล์ประสาทในสมอง ความผิดปกติของฮอร์โมนเพศและพันธุกรรม
6. ทำลายความรู้สึกทางเพศ กัญชาจะทำให้ระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนในชายลดลง ทำให้ปริมาณอสุจิน้อยลง ทั้งยังพบว่า ผู้เสพติดกัญชามักกลายเป็นคนขาดสมรรถภาพทางเพศ
7. ทำลายสุขภาพจิต ฤทธิ์ของกัญชาจะทำให้ผู้เสพมีอาการเลื่อนลอย ฝันเฟื่อง ความคิดสับสนและมีอาการประสาทหลอนจนควบคุมตนเองไม่ได้ ซึ่งถ้าเสพเป็นระยะเวลานานจะทำให้มีอาการจิตเสื่อม
นอกจากผลร้ายที่มีต่อร่างกายและจิตใจของผู้เสพแล้ว การขับรถขณะเมากัญชายังก่อให้เกิดอันตรายได้มาก เพราะฤทธิ์ของกัญชาจะทำให้เสียสมาธิ ทำให้การตัดสินใจผิดพลาด การตอบสนองช้าลง การรับรู้ทางสายตาบิดเบือน ความสามารถในการมองเห็นสิ่งเคลื่อนที่ด้อยลง จึงเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อผู้ขับรถยนต์หรือแม้แต่เดินบนท้องถนนก็ตาม
8. ผลต่อร่างกายและระบบประสาท เมื่อใช้ยาเคในปริมาณมากๆ ไม่เพียงแต่จะทำให้เกิดอาการติดขัดในการหายใจเท่านั้น ยังทำให้เกิดอาการทางจิตประสาทหลอน หูแว่วกลายเป็นคนวิกลจริตได้

9. แอลกอฮอล์ (Alcohol)
แอลกอฮอล์ เป็นของเหลวไม่มีสี แอลกอฮอล์ในเครื่องดื่มมึนเมา คือ เอธิลแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มมึนเมาชนิดต่างๆ เช่น เหล้า เบียร์ วิสกี้ บรั่นดี จะมีปริมาณของเอธิลแอลกอฮอล์แตกต่างกัน

ฤทธิ์ในทางเสพติด :
ออกฤทธิ์กดประสาท มีการเสพติดทั้งทางร่างกายและจิตใจ


อาการผู้เสพ :
ถ้าดื่มมากๆ จะกัดกระเพาะอาหารเกิดเป็นแผลในกระเพาะอาหาร ความรู้สึกนึกคิดผิดไป ควบคุมตนเองไม่ได้ ไม่สามารถยับยั้งตนเองจึงอาจแสดงอาการบางอย่างออกมา เช่น ดุร้าย ทะเลาะวิวาท พูดมาก นอกจากนี้ยังมีอาการหน้าแดง ตัวแดง ความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นแรง ปัสสาวะบ่อย ถ้าดื่มมากขึ้นอีกจะทำให้การรับรส กลิ่น เสียง และสัมผัสลดลง คนที่เสพติดแอลกอฮอล์หรือคนที่เป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง จะมีใบหน้าบวมฉุ หน้าแดง ตาแดง ผิวหนังคล้ำ มือสั่น ลมหายใจมีกลิ่นแอลกอฮอล์

โทษที่ได้รับ :
ถ้าดื่มเป็นระยะเวลานานๆ จะทำให้เกิดโรคพิษสุราเรื้อรัง ทำลายตับและสมอง สติปัญญาเสื่อม ควบคุมตัวเองไม่ได้ จิตใจผิดปกติ กล้ามเนื้ออ่อนเปลี้ย เป็นตะคริว ปลายมือปลายเท้าชา กระเพาะอาหารอักเสบ เบื่ออาหาร ร่างกายซูบผอม และอาจเกิดโรคตับแข็งถ้าเสพติดมาก และไม่ได้เสพจะมีอาการกระวนกระวาย อ่อนเพลีย นอนไม่หลับ เหงื่อออกมาก คลื่นไส้ อาเจียน หัวใจเต้นเร็ว อารมณ์ฉุนเฉียว อาจมีอาการชัก ประสาทหลอน เป็นโรคจิต และถ้าดื่มแอลกอฮอล์ร่วมกับยาที่กดประสาท เช่น ยานอนหลับ ยากล่อมประสาท จะเสริมฤทธิ์กันทำให้มีอันตรายมากขึ้นได้
สำหรับสถานการณ์ปัจจุบัน ยาเสพติดนับวันแต่จะมีชนิดใหม่ๆ และมีความร้ายแรงมากขึ้น ผู้ที่ติดยาเสพติดก็มีจำนวนมากขึ้นตามไปด้วย แต่ผู้ติดยาส่วนใหญ่กลับมีอายุที่ลดลงอย่างน่าวิตก คือ ต่ำที่สุด 7 ปี จึงนับได้ว่ายาเสพติดได้ก่อให้เกิดปัญหาทั้งทางเศรษฐกิจ และสังคมของประเทศอย่างร้ายแรง
ดังนั้น คงต้องได้รับความร่วมมือกันจากบุคคลหลายฝ่ายทั้งในระดับรากหญ้า จนถึงบุคคลในองค์กรสูงสุดระดับประเทศ ในฐานะนักศึกษาซึ่งได้เรียนรู้ถึงพิษภัยของยาเสพติด ซึ่งมีทั้งเป็นยาเสพติดโดยตรง หรืออาจเป็นสิ่งที่แฝงมาในลักษณะอื่นๆ รู้สาเหตุการติดยา รู้โทษของการติดยา ก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะช่วยให้นักศึกษาที่ได้เรียนรู้แล้วคงไม่หลงไปในทางที่ผิดเสียเอง และจะเป็นสิ่งที่ดียิ่งขึ้น ถ้าได้มีโอกาสได้ช่วยเหลือคนใกล้ชิดให้พ้นจากสิ่งเหล่านี้ได้
ประเทศใดมีเยาวชนซึ่งจะเป็นพลังของชาติในอนาคตติดยาเสพติดมาก ก็เป็นการบ่อนทำลายความมั่นคงของประเทศมาก ซึ่งต้องระมัดระวังผู้ที่ไม่หวังดีต่อชาติ จะใช้ยาเสพติดเป็นเครื่องมือ เพื่อทำลายความมั่นคงของประเทศ

แบบฝึกหัดเรื่องยา

แบบฝึกหัดเรื่องยา
ตอนที่ 1 ให้นักศึกษาพิจารณาตัวอย่างฉลากยาและตอบคำถาม

1. ชื่อทางการค้าของยา (Brand Name) คือ......................................................

2. สัดส่วนของตัวยาสำคัญคือ.............................................................................

3. เลขทะเบียนตำรับยา........................................................................................

4. ความหมายของ Thai Reg. No.2C (4/42) หมายถึง..................................................................................................................................................................

5. ประโยชน์ของการทราบเลขทะเบียนตำรับยาคือ.....................................................................................................................................................................................................................................................................................................


ตอนที่ 2 จงเติมความให้ถูกต้องและสมบูรณ์


1. การศึกษาเรื่องยา จะช่วยให้เกิดประโยชน์แก่ผู้ศึกษาคือ...............................................................

2. การใช้ยาป้ายตามาทาแผลติดเชื้อที่ผิวหนังเป็นการใช้ยา..............................................................

3. การใช้ยาตามคำแนะนำของเพื่อนหรือผู้ใกล้ชิดที่ไม่มีความรู้เกี่ยวกับยาและโรคอย่างแท้จริง เพราะอาการของโรคหลายชนิดมักมีลักษณะคล้ายกันแต่อาจมิใช่...............................................................

4. การรับประทานยาให้ถูกเวลาคือ ถ้าเป็นยารับประทานก่อนอาหารควรทานก่อนอาหารประมาณ.....

5. ยาที่ใช้เพื่อระงับหรือบรรเทาอาการ เช่น การใช้ยาแก้ปวดลดไข้ หากไม่มีไข้หรืออาการปวดหายไปอาจ..............................................................................................................................................

6. ยาแก้แพ้ ลดน้ำมูก (Antihistamines) ที่ใช้บ่อยและราคาถูก ได้แก่ คลอเฟนิรามีน (Chlopheniramine) ยาเหล่านี้มีผลข้างเคียงทำให้เกิดอาการง่วงนอน ปากแห้ง คอแห้ง ห้ามใช้ร่วมกับ...........................................................เพราะจะเกิดอันตรายได้

7. ในกรณีที่มีอาการไข้ ปวดศีรษะ ในผู้ที่เป็นโรคตับหรือพิษสุราเรื้อรังไม่ควรใช้ คือ ยาแก้ปวดลดไข้พวก..............................................................................................................................................

8. การใช้ยารักษาโรคหวัดที่มีอาการคอแดงจัด เจ็บคอ ปวดหัวหรือมีไข้ร่วมด้วย จำเป็นต้องใช้ยา.........................................................ซึ่งแพทย์มีความจำเป็นต้องดูประวัติการแพ้ยาของผู้ป่วยร่วมด้วย

9. ประชาชนมักนิยมซื้อยาตามาใช้เองโดยไม่มีความรู้ว่ายาสำหรับตานั้นมีหลายประเภท และใช้ในจุดประสงค์ที่แตกต่างกัน บางครั้งก็ใช้ยาที่มีส่วนผสมของยาปฏิชีวนะและ..........................................ทำให้เกิดผลเสียตามมา เช่น โรคต้อหิน หรือต้อกระจก

10. ยาที่ใช้รักษาโรคน้ำกัดเท้า ใช้รักษาเชื้อราได้หลายชนิด เช่น น้ำกัดเท้า, กลาก, เกลื้อน, ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ เช่น คาเนสเทน, โทนาฟ และ............................................................................................

ยาบางชนิดที่ควรรู้จัก

ยาบางชนิดที่ควรรู้จัก
2.3 ยาบางชนิดที่ควรรู้จัก

2.3.1 ยาปฏิชีวนะ

ยาปฏิชีวนะมาจากคำว่า Antibiotic ในภาษาอังกฤษ แปลตรงตัวว่า สารต่อต้านการดำรงชีวิตโดยข้อเท็จจริงหมายถึง สารที่ผลิตตามธรรมชาติโดยสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่เรียกว่า จุลินทรีย์ประเภทหนึ่งแล้วมีอำนาจยับยั้ง หรือทำลายชีวิตของจุลินทรีย์อีกประเภทหนึ่งอันเป็นลักษณะของการรักษาสมดุลย์ระบบนิเวศน์ของสิ่งมีชีวิตชั้นต่ำ เช่น ยาปฏิชีวนะชื่อว่า เพนนิซิลลิน ผลิตโดยเชื้อราชนิดหนึ่งแล้วมีผลทำลายชีวิตของเชื้อแบคทีเรียอื่นที่อยู่ใกล้เคียง มนุษย์นำประโยชน์ตรงนี้มาประยุกต์เป็นยารักษาโรคติดเชื้อ ซึ่งคำว่าโรคติดเชื้อนี้แปลเอาความได้ว่า เป็นความเจ็บป่วยที่เกิดจากการรุกรานของเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย มนุษย์จะคัดแยกสารปฏิชีวนะที่มีฤทธิ์ต่อต้านการดำรงชีวิตของเชื้อต้นเหตุโรคมาปรุงแต่งเป็นรูปแบบยาเตรียมต่างๆ เช่น ยาเม็ด ยาแคปซูล ยาฉีด แล้วให้กับผู้ป่วยเมื่อเกิดโรคติดเชื้อที่คาดว่าหรือพิสูจน์ว่า เกิดจากเชื้อต้นเหตุดังกล่าว ยาปฏิชีวนะที่นิยมใช้กันมักจะมีชื่อทั่วไปที่ลงท้ายด้วยคำว่ามัยซิน เช่น อีริโทรมัยซิน คลาริโทรมัยซิน เจนตามัยซิน ลงท้ายด้วยคำว่าซิลลิน เช่น เพนนิซิลลินแอมพิซิลลิน อะม็อกซิซิลลิน ลงท้ายด้วยคำว่าซัยคลิน เช่น เตตร้าซัยคลิน ด้อกซี่ซัยคลิน เป็นต้น แต่มียาปฏิชีวนะหลายตัวที่อยู่นอกเหนือกฎเกณฑ์นี้ เช่น คลอแรมเฟนิคอล เซฟาโซลิน ไรแฟมปิซิน เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีศัพท์อีกหลายคำที่เรามักจะได้ยินได้ฟังหรือพูดกัน เช่น ยาต้านจุลชีพ ยาต้านแบคทีเรีย ยาต้านเชื้อรา ยาต้านไวรัส ยาฆ่าเชื้อ ยาแก้อักเสบ ศัพท์เหล่านี้เป็นคำที่มาจากการมองยารักษาโรคติดเชื้อในแง่มุมที่ต่างกัน ยาต้านจุลชีพเป็นคำรวมที่หมายถึงยาต่อต้านการดำรงชีวิตของเชื้อโรคซึ่งได้มาจากแหล่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นจากธรรมชาติหรือจากการสังเคราะห์ทางเคมีก็ตาม ยาต้านแบคทีเรีย ยาต้านเชื้อรา ยาต้านไวรัส หมายความถึงยาต่อต้านการดำรงชีวิตของเชื้อต้นเหตุโรคส่วนใหญ่ซึ่งแยกเป็นประเภทต่างๆ ตามชื่อที่บ่งบอก ยาฆ่าเชื้อหมายถึงยาต่อต้านการดำรงชีวิตของ เชื้อโรคที่ใช้นอกร่างกายและเป็นคำหนึ่งที่คนทั่วไปมักใช้เรียกแทนยารักษาโรคติดเชื้อ ยาแก้อักเสบเป็นอีกคำหนึ่งที่คนทั่วไปใช้เรียกแทนยาปฏิชีวนะซึ่งคำนี้สื่อความหมายที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากชื่อของโรคติดเชื้อส่วนใหญ่มักจะเรียกตามชื่อเนื้อเยื่อหรืออวัยวะที่มีการติดเชื้อแล้วตามด้วยคำว่าอักเสบ เช่น หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ โพรงจมูกอักเสบ เป็นต้น ทำให้คนทั่วไปจึงเรียกยารักษาโรคติดเชื้อว่า ยาแก้อักเสบ ทั้งที่โดยแท้จริงแล้วยาปฏิชีวนะไม่มีผลแก้ไขตรงจุดการอักเสบนี้ ยาเพียงแต่ทำลายเชื้อโรคที่เป็นสาเหตุอย่างหนึ่งของอาการอักเสบ โดยข้อเท็จจริงแล้วการอักเสบเป็นอาการบาดเจ็บที่เกิดจากความบอบช้ำของเนื้อเยื่ออันมีได้หลายสาเหตุ เช่น กล้ามเนื้ออักเสบจากการฉีกขาดของกล้ามเนื้อ
ไขข้ออักเสบจากการสะสมของกรดยูริค เป็นต้น ดังนั้นคำว่ายาแก้อักเสบ ควรใช้กับยาที่รักษาอาการอักเสบดังกล่าวจริงๆ ไม่ควรใช้กับยารักษาโรคติดเชื้อเพราะจะทำให้เข้าใจจุดประสงค์ของการใช้ยาผิดไปจากความเป็นจริง อย่างไรก็ตาม แม้การเรียกชื่อจะต่างกันแต่ยาเหล่านี้มีวัตถุประสงค์ในการใช้เหมือนกันคือ ทำลายหรือยับยั้งการเจริญของเชื้อโรคที่รุกรานให้ลดน้อยอยู่ในวิสัยที่กลไกป้องกันตนของมนุษย์ เช่น ภูมิต้านทาน สามารถกำจัดมันได้ และในบรรดาจุลินทรีย์ที่สามารถทำลายโดยการใช้ยาปฏิชีวนะนั้น ได้แก่ แบคทีเรียส่วนใหญ่ เชื้อราหลายชนิด และไวรัสบางชนิด

เหตุใดจึงเกิดโรคติดเชื้อและยาปฏิชีวนะรักษาโรคดังกล่าวได้อย่างไร?

ต้องขอเน้นในชั้นต้นว่ายาปฏิชีวนะสามารถรักษาโรคที่เกิดจากการติดเชื้อเท่านั้น แต่ในสภาพปัจจุบันปรากฏว่าประชาชนใช้ยาปฏิชีวนะกันอย่างพร่ำเพรื่อ หรือโดยไม่จำเป็น หรือทั้งที่ความเจ็บป่วยนั้นไม่เกี่ยวกับการติดเชื้อ จนทำให้มูลค่ายาปฏิชีวนะที่ใช้แต่ละปีสูงมากจนอยู่ในอันดับต้นๆ ของรายการยาที่ใช้ทั้งหมด จุลินทรีย์นั้นมีอยู่ทุกหนแห่งในสิ่งแวดล้อมทั้งในอากาศ อาหาร น้ำ และดิน ตลอดจนในร่างกายของมนุษย์เองโดยเฉพาะตามบริเวณผิวหนัง ช่องปาก ทางเดินหายใจส่วนบน ลำไส้ใหญ่และอวัยวะเพศ สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กเหล่านี้ (เช่น แบคทีเรีย ไวรัส เชื้อรา เป็นต้น) มักจะอยู่รวมกับมนุษย์ในภาวะสมดุลย์และไม่ก่อให้เกิดโรค แต่ในโอกาสที่สมดุลนี้เสียไปเนื่องจากมนุษย์เองมี ภูมิต้านทานลดลงหรือจุลินทรีย์ทวีจำนวนและความร้ายแรงมากขึ้น เมื่อนั้นจะเป็นหนทางนำไปสู่การติดเชื้อ ซึ่งจุลินทรีย์จะรุกรานเข้าในเนื้อเยื่อต่างๆ ทวีจำนวนมากขึ้นและก่อให้เกิดผลเสียหรืออันตรายต่อมนุษย์
อย่างไรก็ดีร่างกายมนุษย์จะมีกลไกต่างๆ ที่ใช้ป้องกันตนเองจากการรุกรานของจุลินทรีย์ กลไกที่สำคัญนั้นได้แก่ ผิวหนังซึ่งจะเป็นเกราะป้องกันการแทรกซึมเข้าของเชื้อโรค สารขับหลั่งและจุลินทรีย์บางประเภทบนผิวหนังซึ่งจะคอยยับยั้งการเจริญของเชื้อโรค สารขับหลั่งในทางเดินอาหาร ทางเดินหายใจและทางเดินระบบสืบพันธุ์จะคอยดักจับ ทำลาย หรือยับยั้งการเจริญของเชื้อโรค การไอ การกลืนและการบีบตัวของลำไส้หรือเซลล์ที่คอยพัดโบกทางเดินของระบบต่างๆ จะพยายามกำจัดสิ่งแปลกปลอมหรือเชื้อโรคออกจากร่างกาย เซลล์ชนิดหนึ่งในอวัยวะและเนื้อเยื่อต่างๆ จะทำตนเสมือนหนึ่งพนักงานเทศบาลคอยดักจับและย่อยสลายเชื้อโรคหรือเศษหักพังของเซลล์ กระบวนการอักเสบก็เป็นการตอบสนองของร่างกายต่อสิ่งแปลกปลอม สารเคมี หรือแม้แต่การบอบช้ำของเนื้อเยื่อ การอักเสบจะจำกัดหรือทำลายตัวต้นเหตุออกไปเพื่อให้เนื้อเยื่อเหล่านั้นสามารถฟื้นฟูกลับสู่สภาพปกติได้
ดังนั้น จะเห็นได้ว่าในสภาวะปกติของร่างกายแล้วมนุษย์มีวิธีการต่อสู้โดยธรรมชาติต่อเชื้อโรคอยู่แล้วหลายประการ
ในบางกรณี อาจจะมีปัจจัยบางอย่างที่บั่นทอนกลไกป้องกันตนดังกล่าวของร่างกายซึ่งทำให้เรามีโอกาสพ่ายแพ้ต่อจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรคได้ ปัจจัยเหล่านี้ได้แก่
- ภาวะเม็ดเลือดขาวลดต่ำ และความบกพร่องอื่นๆ เกี่ยวกับระบบเลือด
- ภาวะทุพโภชนาการหรือขาดอาหาร
- สุขภาพพลานามัยที่ทรุดโทรม
- โรคเบาหวาน หรือโรคเรื้อรังอื่นๆ
- วัยสูงอายุ
- การกดระบบภูมิต้านทานจากยาบางประเภท เช่น ยากดภูมิต้านทาน ยารักษามะเร็ง
และสารประกอบประเภทสเตอรอยด์ เป็นต้น
- การทำลายจุลินทรีย์ปกติในช่องทางเดินของระบบอวัยวะต่างๆ โดยการใช้ยาต้านจุลชีพอื่น
- พฤติกรรมการใช้ยา
ปัจจัยข้างต้นทั้งหลายที่กล่าวมาจะทำให้มนุษย์มีโอกาสเกิดโรคติดเชื้อได้ง่ายขึ้น และเมื่อเกิดเป็นแล้วการรักษาให้หายขาดหรือการฟื้นตัวจะใช้ทั้งความพยายามและเวลามากกว่าปกติ เมื่อเกิดโรคติดเชื้อ เชื้อต้นเหตุโรคจะรุกรานเข้าสู่ร่างกายผู้ป่วยแล้วเจริญและแบ่งตัวขยายพันธุ์โดยเบียดบังปัจจัยดำรงชีวิตจากร่างกายผู้ป่วย ทั้งยังผลิตสารพิษออกมาทำลายเนื้อเยื่อผู้ป่วยอีกด้วย ผลประการหนึ่งจากการติดเชื้อคือทำให้เกิดการอักเสบของเนื้อเยื่อในบริเวณที่เชื้ออาศัยอยู่ เกิดอาการบวม แดง ร้อน และเนื้อเยื่อเสื่อมทำลายที่บริเวณดังกล่าว นอกจากนั้นมักมีอาการไข้ร่วมด้วย ยาปฏิชีวนะรักษาโรคติดเชื้อโดยยับยั้งการเจริญหรือการขยายพันธุ์ของเชื้อต้นเหตุโรค ยาปฏิชีวนะแต่ละตัวจะเลือกออกฤทธิ์โจมตีเซลล์เชื้อโรคตรงจุดที่แตกต่างจากเซลล์ของมนุษย์ หรืออาจจะกล่าวว่ายาปฏิชีวนะมีพิษเฉพาะต่อเชื้อโรคโดยไม่มีพิษหรือมีพิษน้อยต่อเซลล์ร่างกายผู้ป่วย ส่วนใหญ่ยาปฏิชีวนะจะลดจำนวนเชื้อโรคลงจนเหลือน้อยและอยู่ในวิสัยที่ระบบภูมิต้านทานของร่างกายจะทำลายเชื้อโรคจำนวนนั้นได้ ดังนั้นภูมิต้านทานของร่างกายจึงมีบทบาทสำคัญในการรักษาโรคติดเชื้อ จะเห็นได้ว่าผู้ที่ภูมิต้านทานต่ำหรือบกพร่อง เช่น ผู้ป่วยโรคเอดส์ (AIDS) ผู้ที่ใช้ยากดภูมิต้านทาน หรือผู้ที่ขาดสารอาหารเรื้อรังเมื่อเกิดการติดเชื้อจึงรักษาให้หายขาดได้ยาก
ผลเสียและอันตรายจากการใช้ยาปฏิชีวนะ

เนื่องจากยาปฏิชีวนะเป็นสารแปลกปลอมที่เรานำเข้าสู่ร่างกาย ดังนั้น จึงก่อให้เกิดผลเสียและอันตรายต่อร่างกายได้หลายประการ มีทั้งที่เป็นผลเสียที่เกิดจากคุณสมบัติเฉพาะของยาปฏิชีวนะ แต่ละตัวและที่เป็นผลเสียโดยรวมของยาปฏิชีวนะทั้งหมด ผลเสียเฉพาะตัวนั้นมีรายละเอียดปลีกย่อยมากมาย แต่ผลเสียโดยรวมนั้นมีอยู่ 3 ประการ คือ
1. การแพ้ยา เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นได้จากการใช้ยาปฏิชีวนะแทบทุกตัว แต่มีโอกาสมากบ้างน้อยบ้างแล้วแต่กรณี การแพ้ยาเป็นผลจากการตอบโต้ของภูมิต้านทานร่างกายต่อยาปฏิชีวนะอย่างเกินเหตุ มีอาการได้ตั้งแต่ขั้นเบาเช่น มีผื่นตามผิวหนัง เป็นไข้ ลมพิษ เป็นต้น จนถึงขั้นสาหัสซึ่งเป็นการแพ้อย่างฉับพลันรุนแรงที่เกิดขึ้นกับระบบต่างๆ ของร่างกาย จนทำให้เกิดสภาวะช็อกและเสียชีวิตได้ โดยทั่วไปถ้าหากเกิดอาการแพ้ที่อาการรุนแรงกว่าการมีผื่นตามผิวหนังแล้วมักจะหยุดการใช้ยาปฏิชีวนะนั้นหรือเปลี่ยนไปใช้ยาอื่นที่มีผลรักษาเหมือนกันแทน ปัจจุบันการแพ้ยาเป็นปัญหาสำคัญประการหนึ่งของการรักษาโรคติดเชื้อ เนื่องจากเรามีโอกาสถูกกระตุ้นให้สร้างภูมิต้านทานต่อยาปฏิชีวนะได้โดยไม่รู้ตัว เช่น จากการบริโภคผลิตภัณฑ์นมหรือเนื้อสัตว์ที่มียาปฏิชีวนะปนเปื้อนอยู่
2. การดื้อยา ในกรณีนี้หมายถึงการดื้อของเชื้อโรคต่อยา เป็นภาวะที่เชื้อโรคสามารถ
ทนทานต่อฤทธิ์ของยาซึ่งเคยใช้ได้ผลกับมันมาก่อน อาจเกิดขึ้นอย่างช้าๆ หรือรวดเร็วก็ได้ในระหว่างการใช้ยาปฏิชีวนะโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่ใช้ยาติดต่อกันนานๆ ในทางปฏิบัติเราควรจะตั้งข้อสังเกตว่าเชื้อโรคเกิดดื้อยาถ้าพบว่าเมื่อใช้ยาปฏิชีวนะแล้วอาการของโรคติดเชื้อไม่ดีขึ้น หรือกลับมีสภาพเลวลง ส่วนใหญ่การดื้อยาเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมของเชื้อโรคทำให้มันกลายพันธุ์เป็นชนิดที่สามารถทนทานต่อยาได้ และโดยทั่วไปเชื้อโรคซึ่งดื้อต่อยาปฏิชีวนะตัวใดตัวหนึ่งมักจะพลอยดื้อต่อยาปฏิชีวนะอื่นที่อยู่ในประเภทเดียวกันหรือมีสูตรโครงสร้างคล้ายคลึงกันซึ่งทำให้จำเป็นต้องเปลี่ยนไปใช้ยาปฏิชีวนะประเภทอื่นหรือที่มีสูตรโครงสร้างต่างออกไป
3. การติดเชื้อแทรกซ้อน เป็นสภาวะการติดเชื้อที่เกิดขึ้นเมื่อสมดุลย์ของจุลินทรีย์ ซึ่งมีอยู่ตามปกติในร่างกายถูกกระทบกระเทือนหรือทำลายไป ในสภาพปกติจุลินทรีย์เหล่านี้บางชนิดมีประโยชน์โดยทำหน้าที่เหมือนองครักษ์พิทักษ์ร่างกายคอยปรามจุลินทรีย์ชนิดอื่นที่ก่อโรคให้สงบ การใช้ยาปฏิชีวนะนั้น ในบางกรณีนอกจากจะทำลายเชื้อต้นเหตุโรคแล้วยังพลอยทำให้จุลินทรีย์ชนิดนี้ถูกทำลายไปด้วย ซึ่งทำให้จุลินทรีย์ชนิดที่ทนทานต่อยาซึ่งหลงเหลืออยู่มีโอกาสแบ่งตัวขยายพันธุ์มากขึ้นและก่อให้เกิดการติดเชื้อชนิดใหม่ การติดเชื้อแทรกซ้อนอาจสังเกตได้จากอาการของโรคที่เปลี่ยนไปจากลักษณะเดิมที่เคยเป็นอยู่แต่แรก เช่น การติดเชื้อเดิมทำให้เจ็บคอ แต่ครั้นเมื่อใช้ยาปฏิชีวนะไประยะหนึ่งอาการเจ็บคออาจทุเลาลงแต่กลับมีอาการท้องเสียรุนแรงหรืออักเสบในช่องคลอด เป็นต้น สภาวะการติดเชื้อแทรกซ้อนนี้อาจเกิดได้ง่ายเมื่อใช้ยาปฏิชีวนะที่มีขอบเขตทำลายเชื้อกว้างขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่ใช้เป็นเวลานาน และมักเป็นปัญหาต่อการรักษาเนื่องจากเชื้อต้นเหตุโรคติดเชื้อใหม่นั้นมักเป็นสายพันธุ์ที่ดื้อต่อยาปฏิชีวนะที่ใช้กันทั่วไป วิธีที่ควรปฏิบัติเมื่อเกิดการติดเชื้อแทรกซ้อนคือ หยุดใช้ยาปฏิชีวนะที่กำลังใช้อยู่พร้อมกับพยายามจำแนกเชื้อที่เป็นต้นเหตุการติดเชื้อแทรกซ้อนนั้นให้ถูกต้อง แล้วรีบรักษาด้วยยาปฏิชีวนะอื่นที่สามารถทำลายเชื้อดังกล่าวได้ดี

หลักการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างมีประสิทธิภาพ

การใช้ยาปฏิชีวนะรักษาโรคอย่างมีประสิทธิภาพเป็นสิ่งที่ต้องอาศัยความรู้และการปฏิบัติอย่างถูกต้อง ซึ่งสรุปเป็นหลักการทั่วไปได้ดังต่อไปนี้
1. ประการแรกต้องแน่ใจว่าความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นมีสาเหตุจากการติดเชื้อ สิ่งนี้อาศัยการ
วินิจฉัยด้วยประสบการณ์ของแพทย์ผู้ทำการรักษาซึ่งจะสังเกตจากตำแหน่งของการเกิดโรค ลักษณะอาการของโรค และยืนยันด้วยผลพิสูจน์ทางห้องปฏิบัติการจุลชีววิทยาว่ามีจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรคอยู่แถวบริเวณที่เกิดความเจ็บป่วย เช่น ตรวจเพาะเชื้อจากเสมหะ เลือด หรือเนื้อเยื่อที่บาดเจ็บ
2. ควรวินิจฉัยว่าจุลินทรีย์ที่เป็นสาเหตุของโรคติดเชื้อนั้นคืออะไร ส่วนใหญ่แพทย์มักสรุปเชื้อ
ต้นเหตุโรคจากข้อมูลทางระบาดวิทยาของโรค และถ้าจะให้สมบูรณ์แบบควรตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการว่า เชื้อต้นเหตุโรคดังกล่าวคือเชื้ออะไรและถูกทำลายด้วยยาปฏิชีวนะชนิดใดบ้าง เนื่องจากเชื้อโรคแต่ละชนิดมักจะสยบต่อยาปฏิชีวนะต่างชนิดกัน เชื้อโรคบางชนิดหรือบางสายพันธุ์จะทนทานต่อยาปฏิชีวนะบางตัวซึ่งถ้าหากไม่ทราบเชื้อต้นเหตุโรคแล้วใช้ยาโดยการคาดคะเน อาจเลือกยาผิด ทำให้การรักษาอาจล้มเหลวและเกิดผลเสียต่อผู้ป่วยได้
3. เมื่อทราบเชื้อต้นเหตุโรค แล้วต้องเลือกใช้ยาปฏิชีวนะให้ถูกต้องเหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละ
รายไป ไม่จำเป็นว่ายาที่เลือกใช้จะต้องเป็นยาที่มีอำนาจทำลายเชื้อต้นเหตุโรคได้สูงสุด เนื่องจากยังมีปัจจัยด้านอื่นที่เป็นตัวช่วยกำหนดอีกหลายประการ อาทิเช่น กำลังภูมิต้านทานโรคของผู้ป่วยว่ามีมากน้อยเพียงใด ผู้ป่วยมีความผิดปกติหรือพยาธิสภาพอื่น เช่น โรคเกี่ยวกับตับไตร่วมอยู่หรือไม่ ผู้ป่วยแพ้ยาปฏิชีวนะตัวใดบ้าง แม้แต่สถานภาพของผู้ป่วยว่าเป็นคนไข้นอกหรือคนไข้ใน หรือราคายา ก็อาจมีผลกระทบต่อการเลือกใช้ยาปฏิชีวนะได้เช่นกัน ยาที่เลือกใช้ควรจะเป็นยาตัวที่พิจารณาจากองค์ประกอบและปัจจัยส่งเสริมทุกประการแล้วเล็งเห็นว่าจะยังประโยชน์สูงสุดต่อการรักษาโรคติดเชื้อของผู้ป่วยเฉพาะรายนั้น
4. ใช้ยาที่เลือกสรรแล้วด้วยแผนการให้ยาที่ถูกต้อง กล่าวคือต้องใช้ยาด้วยวิธี ขนาดยาและ
กำหนดเวลาที่เหมาะสม เรื่องนี้เป็นการประยุกต์ทั้งศาสตร์และศิลป์ทางเวชบำบัดที่แพทย์ต้องนำมาใช้ร่วมกัน เนื่องจากโรคติดเชื้อแต่ละชนิดมักจะมีแผนการให้ยาที่แตกต่างกันไปตามความสาหัสของโรค ดังนั้น จึงไม่อาจกำหนดตายตัวได้ว่ายาปฏิชีวนะตัวหนึ่งต้องใช้วิธี ขนาดยา และกำหนดเวลาอย่างไร แต่อาจจะยึดเป็นหลักเบื้องต้นว่าไม่ควรหยุดการให้ยาในทันทีที่อาการของโรคหายไป ควรใช้ยาต่อไปอีกสักระยะหนึ่งเพื่อให้แน่ใจว่าเชื้อต้นเหตุโรคในร่างกายได้ถูกกำราบโดยสิ้นเชิงแล้ว เช่น การติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจส่วนบนชนิดไม่รุนแรงควรใช้ยาปฏิชีวนะประมาณ 5-7 วัน
5. หลีกเลี่ยงปฏิกริยาต่อกันของยาปฏิชีวนะกับยาอื่นที่ได้รับในเวลาเดียวกัน หลักการข้อนี้
เป็นสิ่งที่มักจะถูกเมินอยู่เป็นนิจเนื่องจากเป็นสิ่งที่โดยทั่วไปแล้วไม่แสดงผลเสียให้เห็นอย่างชัดเจน และในหลายกรณีก็ไม่อาจคาดคะเนได้ล่วงหน้า อย่างไรก็ดีการรักษาโรคในปัจจุบันมักใช้ยาร่วมกันหลายตัว ซึ่งยาที่ใช้ดังกล่าวอาจมีปฏิกิริยาต่อกันและมีผลเสียร้ายแรงต่อตัวผู้ป่วยได้ เช่น การใช้ยาปฏิชีวนะที่มีผลพิษต่อไตร่วมกับยาอื่น ซึ่งมีพิษต่อไตจะเสริมฤทธิ์กันและอาจทำให้ผู้ป่วยบางรายเกิดอาการพิษต่อไตรุนแรงจนถึงขั้นไตวาย ดังนั้น ถ้าเป็นไปได้ควรจะต้องทราบปฏิกิริยาต่อกันที่สำคัญของยาปฏิชีวนะและหาทางหลีกเลี่ยงเสมอ

ข้อแนะนำเกี่ยวกับการใช้ยาปฏิชีวนะ

1. เมื่อรับประทานยาปฏิชีวนะต้องรับประทานให้ครบขนาด และกำหนดเวลาอย่างเคร่งครัด
เนื่องจากการทำลายเชื้อโรคนั้นต้องให้เชื้อโรคในร่างกายสัมผัสกับยาในระดับที่สูงพออย่างต่อเนื่อง เมื่อเรารับประทานยาขาดหรือไม่ตรงเวลาจะทำให้ระดับยาในเลือดไม่สูงพอจะทำลายเชื้อโรค ถ้าเรารับประทานยาไม่ต่อเนื่องจนครบกำหนดเชื้อโรคส่วนที่ยังเล็ดลอดอยู่จะขยายพันธุ์เพิ่มขึ้นอีก โรคติดเชื้อก็จะไม่หาย มิหนำซ้ำในบางกรณีเชื้อโรคที่เล็ดลอดไปได้จะคุ้นเคยกับยาและกลายพันธุ์ไปเป็นเชื้อโรคที่ดื้อยา ทำให้เกิดปัญหาในการรักษาเมื่อเกิดโรคติดเชื้อเดิมอีกครั้ง
2. เมื่อเกิดอาการที่สงสัยว่าเป็นการแพ้ยาให้รีบปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ ในกรณีที่มีอาการแพ้
รุนแรงควรหยุดใช้ยาทันทีแล้วรีบนำยาที่ใช้ขณะนั้นทั้งหมดไปปรึกษาแพทย์ผู้รักษาหรือเภสัชกร เมื่อทราบว่าแพ้ยาใดแล้วจะต้องจดจำไว้เพื่อหลีกเลี่ยงยาดังกล่าวในการรักษาโรคครั้งต่อๆ ไป
3. ไม่ควรซื้อยาปฏิชีวนะเก็บไว้ใช้มากๆ เนื่องจากการติดเชื้อนั้นจะต้องใช้ยาให้เหมาะกับ
เชื้อต้นเหตุซึ่งในแต่ละครั้งอาจแตกต่างกันไป จึงควรพบแพทย์หรือปรึกษาเภสัชกรทุกครั้งที่สงสัยว่าเป็นโรคติดเชื้อเพื่อจะได้รับยาปฏิชีวนะที่ถูกต้อง เช่นเดียวกันไม่ควรแบ่งปันยาปฏิชีวนะของตนให้ผู้อื่นที่เป็นโรคติดเชื้อเนื่องจากอาจเกิดจากเชื้อต้นเหตุต่างชนิดกับที่ตัวเองเป็นอยู่
4. ไม่ควรใช้ยาปฏิชีวนะที่สงสัยว่าเสื่อมหรือหมดอายุแล้ว อาจสังเกตได้จากวันหมดอายุ ซึ่ง
พิมพ์อยู่บนแผง กล่อง หรือขวดยา หรือลักษณะโดยทั่วไปของยา เช่น เม็ดยาชื้น สีซีดจาง หรือแตกร้าว เป็นต้น ถ้าเป็นยาปฏิชีวนะชนิดผงแห้งที่ต้องละลายน้ำก่อนใช้ควรเก็บยาที่ละลายแล้วไว้ในตู้เย็นและใช้ให้หมดภายในเวลา 7 วัน เนื่องจากยาน้ำดังกล่าวมักไม่คงตัวอยู่นาน
5. ยาปฏิชีวนะบางอย่างมีข้อควรระวังพิเศษในการใช้ เช่น ทำให้คลื่นไส้อาเจียน มีผลพิษต่อไต มีปฏิกริยาต่อกันกับยาอื่นแล้วอาจทำให้เกิดอันตรายรุนแรง เป็นต้น กรณีของยาเหล่านี้เภสัชกรจะให้คำชี้แจงแก่ผู้ใช้ยาเสมอถึงข้อควรปฏิบัติเพื่อหลีกเลี่ยง ตัวอย่างของกรณีดังกล่าว เช่น การใช้ยาปฏิชีวนะอีริโทรมัยซินหรือยาต้านเชื้อราคีโตโคนาโซลมีผลลดความสามารถในการทำลายยาของตับ ถ้าหากใช้ร่วมกับยาแก้แพ้ชนิดไม่ทำให้ง่วงบางตัว เช่น เทอร์เฟนนาดีนหรือแอสเตมิโซลจะมีผลให้ยาแก้แพ้ดังกล่าวถูกทำลายน้อยลงจนเป็นเหตุให้เกิดผลพิษต่อหัวใจ โดยทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ซึ่งมีอันตรายร้ายแรง เป็นต้น
จากที่กล่าวมาทั้งหมดจะเห็นว่าการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างถูกหลักการทำได้ยากกว่ายารักษาโรคทั่วไป เนื่องจากมีหลายประเด็นที่ต้องอาศัยความรู้และความเชี่ยวชาญเฉพาะ ดังนั้น เมื่อเกิดความเจ็บป่วยที่สงสัยว่าเกิดจากการติดเชื้อ อย่าได้ลองรักษาตัวเองด้วยการซื้อยาปฏิชีวนะมารับประทานโดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเสียก่อน เพราะถ้าโชคดีความเจ็บป่วยนั้น อาจจะบรรเทาลงได้ แต่ถ้าโชคร้ายความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อตัวผู้ป่วยเองจะมากกว่าที่คาดคิดไว้ เช่น โรคลุกลามจนถึงขั้นรุนแรง เกิดการติดเชื้อแทรกซ้อน เป็นต้น ผลเสียจากการใช้ยาปฏิชีวนะไม่ถูกหลักการยังมีผลกระทบต่อสังคมด้วย เช่น กระตุ้นให้เกิดเชื้อสายพันธุ์ที่ดื้อยาได้อย่างรวดเร็ว ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการรักษาโรคติดเชื้อนั้นกับผู้ป่วยรายอื่นๆ

2.3.2 ยากลุ่มสเตียรอยด์ (Steriods)

ปัจจุบันข่าวสารส่วนใหญ่ที่ออกมาทำให้ยากลุ่มสเตียรอยด์ถูกมองเหมือนเป็นยาพิษ ยังคงเป็นเพราะว่ามีการนำมาใช้กันมากอย่างพร่ำเพรื่อเหมือนเป็นยาครอบจักรวาลทั้งในยาแผนปัจจุบันและยาแผนโบราณ เช่น ใช้เป็นยาเพิ่มความอ้วน ยาลดอาการอักเสบ ปวดข้อกระดูก
สเตียรอยด์ เป็นชื่อเรียกของกลุ่มฮอร์โมนที่ถูกสร้างจากต่อมหมวกไต ซึ่งที่ต่อมนี้จะสร้างฮอร์โมนแอนโดรเจน ( ฮอร์โมนชาย ) ด้วย
สเตียรอยด์ ถูกสร้างขึ้นจากสารตั้งต้นที่เรียกว่า คอเลสเตอรอล Cholesterol (จะเห็นว่า คอเลสเตอรอล ไม่ได้มีข้อเสียมากอย่างที่คิด )
สเตียรอยด์ที่ถูกสร้างขึ้น มีหลักๆ 2 ชนิด คือ Cortisol และ Aldosterone
Cortisol ถูกสร้างวันละประมาณ 20 -30 มิลลิกรัม ถูกหลั่งออกมาเป็นจังหวะไม่สม่ำเสมอ โดยสูงสุดตอนตื่นนอน และต่ำสุดตอนนอน เรียกว่า Diurnal Pattern นอกจากนี้ ภาวะที่ร่างกายมีความเครียด กดดันทั้งทางกายและจิตใจ เช่น มีบาดแผล ได้รับการผ่าตัด ออกกำลังกาย ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ เป็นไข้ วิตกกังวล ซึมเศร้า เป็นต้น ร่างกายจะหลั่ง Cortisol มากขึ้นเพื่อควบคุมความกดดันเหล่านี้ ดังนั้นสเตียรอยด์จึงมีประโยชน์ต่อร่างกายมาก เชื่อว่าถ้าไม่มีสเตียรอยด์เลย สามารถถึงตายได้ทีเดียว จะขออธิบายสรุปสั้นๆ ถึงผลของ สเตียรอยด์ต่อร่างกายดังนี้
- มีผลต่อเมตาบอลิซึมของคาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมัน
- ผลต่อความสมดุลของเกลือแร่ อิเล็กโทรไลต์ และน้ำ
- ฤทธิ์บรรเทาการอักเสบ
- ฤทธิ์กดภูมิคุ้มกัน
- ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด
- ผลต่อเลือด
- ผลต่อการเจริญเติบโต การแบ่งเซลล์ กล้ามเนื้อ กระดูก
จากต้นแบบ Cortisol มนุษย์เราได้พัฒนาความแรงของ Cortisol เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และมีฤทธิ์เฉพาะเจาะจงกับโรคบางอย่างที่ต้องการมากขึ้น
ตัวอย่างยากลุ่มสเตียรอยด์
Hydrocortisone Prednisolone Triamcinolone
Fluocinolone Betamethasone Clobetasol
Desoximetasone Prednicarbate Mometasone
Beclomethasone Budesonide Dexamethasone
ถ้าสังเกตจากชื่อยาจะเห็นว่า มักลงท้ายด้วย -one หรือ -ol เสมอ ยกเว้นบางตัว ดังนั้นจึงพอใช้เป็นข้อสังเกตว่ายาตัวไหนเป็นสเตียรอยด์หรือไม่

การใช้ยาสเตียรอยด์รักษาโรค

การใช้ยาสเตียรอยด์ มักจะถูกใช้รักษาอาการเจ็บป่วย ซึ่งเมื่อรักษาด้วยยามาตรฐานอื่นๆ เบื้องต้นแล้วไม่ดีขึ้น หรือควบคุมไม่ได้จึงจำเป็นต้องใช้สเตียรอยด์ ไอ หอบ ภูมิแพ้ โรคข้อรูมาตอยด์ อาการอักเสบรุนแรง โรคมะเร็ง เช่น มะเร็งเต้านม ป้องกันการอาเจียนในผู้ที่ได้รับยาต้านมะเร็งอื่นๆ อีกหลายอย่าง
โทษจากการใช้ยาสเตียรอยด์ อาจเกิดจากสาเหตุหลายประการ เช่น ใช้ยาผิดขนาด ใช้โดยไม่จำเป็นต้องใช้ ใช้ต่อเนื่องกันยาวนาน รับประทานเวลาท้องว่าง หรือทายาเป็นบริเวณกว้างมากๆ เป็นเวลานานๆ ตัวยาถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้
การใช้นานๆ อาจก่อให้เกิดผลต่อร่างกายได้หลายแบบดังต่อไปนี้
- ยามีฤทธิ์กดการทำงานของต่อมหมวกไต ห้ามหยุดยาอย่างทันที หลังจากใช้เป็นระยะเวลานาน
- เกิดลักษณะของผู้ที่ได้รับยาสเตียรอยด์นานๆ ที่เรียกว่า Cushing's Syndrome คือ มีอาการบวม ท้องลาย สิว ผิวเข้มขึ้น ความดันโลหิตสูง อ่อนแรง เพลีย ขนขึ้นตามตัว ฯลฯ
- ติดเชื้อง่ายขึ้น เพราะยากดระบบภูมิคุ้มกันที่คอยต่อต้านเชื้อโรค
- กดการเจริญเติบโตในเด็ก
- เกิดความดันโลหิตสูง ระดับโปแตสเซียมในเลือดต่ำ
- กล้ามเนื้ออ่อนแรง ผิวหนังบาง ลีบ
- เกิดภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำ ภาวะกระดูกพรุน
- ความดันในลูกตาเพิ่มทำให้เป็นต้อหิน
- เลนส์กระจกตาขุ่น เกิดต้อกระจก
- ภาวะไขมันในเลือดสูง
- ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง
- อารมณ์และพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงง่าย
- คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ทางเดินอาหารระคายเคือง เกิดแผลในกระเพาะอาหาร
- เกิดเชื้อราในช่องปากง่ายขึ้น
- ถ้าใช้ยามานานแล้วหยุดยาทันทีเกิดอาการถอนยา ทำให้เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนล้า ปวดศีรษะ มีไข้ ปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ น้ำหนักตัวลดลง ความดันโลหิตต่ำ
- รบกวนผลการทดสอบทางห้องปฏิบัติการ เช่น กดผลการทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง
- อื่นๆ ได้แก่ แผลหายช้า เกิดห้อเลือด ฟกช้ำง่าย มีไขมันสะสมมากที่ตับ ตับอ่อนอักเสบ มีขนขึ้นมาก ประจำเดือนผิดปกติ หรืออาจไม่มีประจำเดือน ลดความรู้สึกทางเพศในผู้ชาย
ดังนั้น ตามความเห็นแล้ว ถ้าจำเป็นต้องใช้ท่านคงต้องถามแพทย์หรือเภสัชกรที่จ่ายยาให้ว่า
1. จำเป็นต้องใช้นานแค่ไหน
2. เหตุผลที่ต้องใช้คืออะไร
3. มีความจำเป็นต้องใช้เป็นอันดับแรกเพราะไม่มียาอื่นรักษาหรือไม่

2.3.3 ยาบรรเทาอาการอักเสบ

มาจากภาษาอังกฤษว่า Non-Steroidal Anti-Inflammatory Drugs หรือเขียนย่อว่า NSAIDs
ยาลดการอักเสบ หมายถึงยาที่ลดอาการ ปวด บวม แดง ร้อน ( ซึ่งเป็นอาการที่บ่งบอกถึงการอักเสบ ) ไม่ใช่ยาฆ่าเชื้อ หรือ ยาแก้อักเสบ ตัวอย่างของโรคประเภทนี้ คือ โรคข้อเสื่อม โรคข้อรูมาติซั่ม เกาต์ เอ็นอักเสบ ฯลฯ
ในร้านขายยา มักจะพบว่า มีผู้มาขอซื้อยาแก้อักเสบ แต่เมื่อซักไปซักมา หลายๆ รายจะบอกว่า เป็นโรคข้ออักเสบ เอ็นอักเสบ เนื่องจากแพทย์บอกมา เมื่อได้ยินคำว่าอักเสบ จึงคิดไปว่าจะต้องทานยาแก้อักเสบ ซึ่งถ้าไม่ซักก็มักจะได้ยาผิดไป
กลไกการออกฤทธิ์ โดยการระงับยับยั้งการสร้างสาร Prostaglandin ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการอักเสบ ( ไม่ใช่การติดเชื้อ ) เมื่อไม่มีสาร Prostaglandin อาการปวด บวม แดง ร้อน จึงหายไป
ยาซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มยาต้านอาการอักเสบ ได้แก่
Aspirin
Diclofenac
Diflunisal
Etodolac
Fenoprofen
Flurbiprofen
Ibuprofen
Indomethacin
Ketoprofen
Ketorolac
Meclofenamate
Mefenamic acid
Naproxen
Phenylbutazone
Piroxicam
Sulindac
Tolmetin
Nabumetone
Moroxicam
Cerecoxib
Rofecoxib

ผลข้างเคียง

1. พบบ่อยมากคือ การระคายเคืองในกระเพาะอาหาร ลำไส้ ทำให้เกิดแผล
2. มึนหัว
3. ผื่นแดง หรือลมพิษ
4. ถ่ายเหลว หรือ ท้องผูกก็ได้

สิ่งที่ผู้ใช้ยานี้ควรทราบ

1. ควรทานยาพร้อมอาหาร หรือหลังอาหารทันที เพื่อลดการระคายเคืองกระเพาะอาหาร
2. หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
3. แจ้งแพทย์ เภสัชกรทันที ถ้ามีผื่นคัน มีเสียงดังในหู สายตาพร่ามัว ปวดท้องมาก

2.3.4 ยาเคมีบำบัด

คือ ยาหรือสารเคมีที่ใช้ในการฆ่าหรือทำลาย และควบคุมเซลล์ของเนื้องอก ขณะเดียวกันยาเคมีบำบัดอาจทำลายเซลล์ปกติของร่างกาย ทำให้เกิดผลข้างเคียงต่อระบบต่างๆ เช่น ระบบทางเดินอาหาร ทำให้คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ระบบผิวหนัง ทำให้ผมร่วง เป็นต้น

อาการข้างเคียงของยาเคมีบำบัด

จะเกิดขึ้นในขณะที่ได้รับยาและจะหายไปเมื่อหยุดยา อาการจะรุนแรงมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับ
- ชนิดของยา
- ความสมบูรณ์แข็งแรงของร่างกาย

การเตรียมตัวก่อนได้รับยาเคมีบำบัด

- เตรียมของทำความสะอาดร่างกาย เช่น สบู่ แป้ง แปรงสีฟัน ยาสีฟัน
- เตรียมร่างกายให้แข็งแรงสมบูรณ์ ซึ่งจะสามารถทนต่ออาการข้างเคียงที่เกิดขึ้นได้
- หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้กับบุคคลที่มีการติดเชื้อ เช่น เป็นไข้หวัด
- แพทย์จะทำการตรวจร่างกายโดยทั่วไป และตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น ตรวจเลือด ตรวจหัวใจ เอกซเรย์ปอด ฯลฯ

ข้อควรปฏิบัติตัวระหว่างได้รับเคมีบำบัด

- สังเกตอาการเปลี่ยนแปลงต่างๆ เช่น มีไข้ คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย ซึ่งอาการดังกล่าวอาจเกิดขึ้นได้จากผลข้างเคียงของยาเคมีบำบัด ให้แจ้งแพทย์ พยาบาลทราบ เพื่อจะได้รับความช่วยเหลือที่ถูกต้อง
- ดื่มน้ำมากๆ เพื่อขับสารเคมี ซึ่งอาจตกค้างในไตออกทางปัสสาวะ และให้เก็บปัสสาวะใส่ขวดที่จัดไว้ให้ เพื่อดูความสมดุลย์ระหว่างน้ำดื่มและจำนวนปัสสาวะ
- สังเกตผิวหนังบริเวณที่ให้ยาเคมีบำบัด ถ้าพบอาการบวม แดง พอง หรือมีจ้ำเลือด ควรปรึกษาแพทย์ทันที
- ถ้าได้ยาเคมีบำบัดชนิดรับประทาน หลังรับประทานแล้วอาเจียน รีบแจ้งพยาบาลทราบ เพื่อพิจารณาให้ยาซ้ำ การรักษาจะได้ครบถ้วน

การดูแลตนเองเมื่อมีอาการคลื่นไส้อาเจียน

- รับประทานอาหารอ่อน ย่อยง่ายๆ เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม ซุป
- รับประทานช้าๆ เคี้ยวให้ละเอียด
- รับประทานครั้งละน้อยๆ บ่อยๆ ไม่จำเป็นต้องรับประทานอาหารเป็นเวลา จิบเครื่องดื่มบ่อยๆ เช่น น้ำขิง น้ำส้ม น้ำมะนาว
- หลีกเลี่ยงอาหารรสหวาน หรือมันมากๆ จะทำให้เกิดอาการคลื่นไส้มากขึ้น
- ผ่อนคลายความเครียดด้วยการฟังเพลง อ่านหนังสือ เดินออกกำลังกาย
- ส่วนใหญ่แพทย์จะให้ยาระงับอาการคลื่นไส้ อาเจียนไว้

การดูแลก่อนเกิดแผลในปาก

- ทำความสะอาดช่องปากและฟัน เช้า ก่อนนอนและหลังอาหาร
- บ้วนปากหลังอาหารด้วยน้ำหรือน้ำเกลือ ไม่ควรใช้น้ำยาที่มีแอลกอฮอล์
- ใช้แปรงสีฟันขนนิ่มและยาสีฟันเด็ก
- ถ้ามีอาการปวดแสบร้อนในปากหรือมีฝ้าขาว รีบปรึกษาแพทย์ พยาบาล

การดูแลเมื่อเกิดแผลในปาก

- บ้วนปากบ่อยๆ ด้วยน้ำต้มสุก หรือน้ำเกลือทุก 2 - 3 ชั่วโมง
- ทำความสะอาดปากฟันหลังอาหารทุกครั้ง ใช้แปรงขนนิ่มๆ แปรงเบาๆ หรือใช้ผ้าสะอาดชุบน้ำเกลือเช็ดฟันแทนการแปรงฟัน
- รับประทานอาหารอ่อน นิ่ม รสไม่จัด
- จิบน้ำหรือเครื่องดื่มบ่อยๆ
- ปรึกษาแพทย์เมื่อเกิดแผลในช่องปาก



การดูแลตนเองเมื่อเกิดอาการท้องเสีย

- งดอาหารประเภท ถั่วต่างๆ อาหารที่ใส่กะทิและเครื่องเทศ
- รับประทานอาหารอ่อน ย่อยง่าย ไม่มีกาก
- ดื่มชาจีนอุ่นๆ แทนน้ำเปล่า
- ถ้าอาการไม่ทุเลา ให้ปรึกษาแพทย์ พยาบาล
- ดูแลความสะอาดบริเวณทวารหนัก

การดูแลตนเองเพื่อป้องกันและทุเลาอาการท้องผูก

- รับประทานผัก ผลไม้ เพิ่มขึ้นจากปกติ
- ออกกำลังกาย โดยเดินเล่นทุกวัน วันละ 30 นาที
- ปรึกษาแพทย์เพื่อขอยาระบาย ไม่ควรซื้อยารับประทานเอง

การดูแลตนเองเพื่อป้องกันการติดเชื้อ

- ดูแลรักษาความสะอาดร่างกายทั่วๆ ไป เช่น ผม เล็บ ปาก ฟัน เท้า อวัยวะสืบพันธุ์ ฯลฯ
- หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ชุมชนหรือที่มีการระบาดของเชื้อโรค เช่น ไข้หวัด ฯลฯ
- หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับบุคคลที่เป็นโรคติดต่อ เช่น หวัด วัณโรค

การดูแลเพื่อป้องกันหรือบรรเทาอาการอ่อนเพลีย

- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เช่น แป้ง น้ำตาล เนื้อสัตว์ นม ไข่ ผัก ผลไม้
- พักผ่อนให้เพียงพอ เพิ่มการนอนหลับกลางวัน วันละ 2 - 3 ชั่วโมง


การดูแลตนเองเพื่อป้องกันอาการแทรกซ้อนของระบบทางเดินปัสสาวะ

- ดื่มน้ำมากๆ อย่างน้อย 8 - 10 แก้วต่อวัน
- สังเกตสี ลักษณะของปัสสาวะ ถ้าผิดปกติมีสีคล้ายน้ำล้างเนื้อ มีเลือดปน แสบ ขัด ปัสสาวะน้อย กะปริดกะปรอย ให้รีบปรึกษาแพทย์

ข้อแนะนำการปฏิบัติตัวเพื่อให้จิตใจอารมณ์แจ่มใส

- หางานอดิเรกทำ ฟังวิทยุ ดูทีวี ปลูกต้นไม้อ่านหนังสือ ศึกษาธรรม ท่องเที่ยว ฯลฯ
- ไม่ควรอยู่ตามลำพัง ควรอยู่กับเพื่อนหรือคนในบ้าน
- ถ้ารู้สึกไม่สบายใจ ให้พูดคุยกับผู้ที่ไว้ใจได้

คำแนะนำเมื่อกลับบ้าน

- มารับการรักษาอย่างต่อเนื่อง
- หากพบอาการข้างเคียงที่รุนแรง หรืออาการผิดปกติ เช่น มีไข้ ปวดศีรษะมาก ปวดบริเวณต่างๆ ชาปลายมือปลายเท้า สูญเสียการทรงตัว มีจ้ำเลือดตามตัวให้รีบพบแพทย์โดยไม่ต้องรอให้ถึงวันนัด
- บำรุงร่างกายให้สมบูรณ์แข็งแรง อยู่ในสภาพพร้อมต่อการรักษาในครั้งต่อๆ ไป

อันตรายจากการใช้ยาที่ควรระวัง

ถึงแม้ในสถานการณ์ปัจจุบันยาจะเป็นปัจจัยที่สี่ที่สำคัญในยามเจ็บป่วย และช่วยต่ออายุเฉลี่ยของมนุษย์ยุคนี้ให้ยืนยาวขึ้น แต่ยาก็มีอันตรายมากด้วย การใช้สำหรับเราท่านทั้งหลายคงต้องพึงระวังไว้ด้วย
1. การแพ้ยา เกิดขึ้นเฉพาะคนเมื่อใช้ยาบางชนิด อาการแพ้อาจเกิดไม่รุนแรง อาทิ เป็นผื่นคัน
ตามผิวหนัง เป็นลมพิษ มีไข้ ฯลฯ แต่ถ้าอาการรุนแรงอาจเกิดหลอดลมตีบ หายใจไม่ออก จนถึงขั้นเสียชีวิตได้ ทุกคนจึงควรต้องทราบว่าตนเองแพ้ยาอะไร และแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบทุกครั้ง
2. การได้รับผลข้างเคียงของยา จะมีมากน้อยแตกต่างกันตามชนิดของยา ก่อนใช้ยาทุกครั้งต้องอ่านฉลาก เอกสารกำกับยา ข้อควรระวัง คำเตือน ให้ละเอียด และปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด 3. การดื้อยา เกิดจากการใช้ยาผิดๆ เช่น ใช้ยาปฏิชีวนะไม่ครบตามระยะเวลาที่กำหนด ทำให้
เชื้อโรคที่เหลืออยู่พัฒนาตนเองจนเป็นเชื้อดื้อยา ในครั้งต่อไปหากใช้ยาชนิดเดิมรักษาจะไม่เห็นผล เป็นต้น 4. การได้รับพิษจากยา เกิดจากการใช้ยาเกินขนาด หรือใช้ยาซ้ำซ้อน เช่น ใช้ยาที่มีชื่อทางการค้าต่างกัน แต่ตัวยาภายในเป็นสารเคมีชนิดเดียวกัน ทำให้ได้รับยาเกินขนาดจนเป็นพิษได้

แหล่งที่มาของยาและรูปแบบของยาที่ใช้

แหล่งที่มาของยาและรูปแบบของยาที่ใช้
2.1.2 แหล่งที่มาของยาและรูปแบบของยาที่ใช้
2.1.2.1 ยามาจากแหล่งที่สำคัญ 2 แหล่งใหญ่ๆ คือ1. ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ ได้แก่ พวกสมุนไพร ซึ่งได้มาจาก1.1 พืช ได้จากส่วนต่างๆ ของพืช เช่น ตัวยารีเซอฟีนสกัดจากรากของต้นระย่อม ใช้ลดความดันเลือดสูง หรือมอร์ฟีน สกัดจากยางของฝิ่น ใช้เป็นยาระงับปวดหรือ ควินินสกัดจากเปลือกต้นซิงโคนาใช้รักษามาลาเรีย เป็นต้น1.2 สัตว์ ได้จากอวัยวะต่างๆ ของสัตว์ เช่น อินซูลินจากตับอ่อนของหมูและวัว1.3 แร่ธาตุ เช่น คาโอลิน และกำมะถัน เป็นต้น2. ยาสังเคราะห์ ยาที่ใช้รักษาโรคมาตั้งแต่สมัยโบราณ ส่วนใหญ่ได้มาจากสมุนไพรมีปริมาณเพียงพอกับความต้องการของประชาชนที่นับวันจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ยาแผนปัจจุบันที่ใช้กันอยู่ในเวลานี้ส่วนใหญ่ได้มาจากการสังเคราะห์ทางเคมี อาจเป็นยาสังเคราะห์เลียนแบบสารที่ได้จากธรรมชาติ เช่น ยาคลอแรมเฟนิคอล หรือเป็นอนุพันธ์ของสารที่ได้จากธรรมชาติ เช่น ยาปฏิชีวนะ หรือยาสังเคราะห์ที่มิได้ปรากฏในธรรมชาติ เช่น ยาอะลูมิเนียมไฮดรอกไซด์ สารสังเคราะห์หรือกึ่งสังเคราะห์เหล่านี้ อาจมีคุณสมบัติทางเภสัชวิทยาใกล้เคียง หรือแตกต่างจากสารที่ได้จากธรรมชาติก็ได้
2.1.2.2 รูปแบบของยาเภสัชภัณฑ์ หรือยาเตรียม หมายถึง ยารักษาโรคซึ่งถูกปรุงแต่งขึ้นในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้เหมาะสมในการใช้ สะดวกปลอดภัย และได้ยาที่มีประสิทธิภาพในการรักษาโรค รูปแบบต่างๆ ของเภสัชภัณฑ์ที่ใช้เป็นยาภายในและภายนอก แบ่งเป็นประเภทใหญ่ๆ 4 ประการ ตามลักษณะดังต่อไปนี้1. เภสัชภัณฑ์รูปแบบของเหลว มี 2 ชนิด1.1 ยาน้ำสารละลาย ตัวอย่าง ยาน้ำใส ยาน้ำเชื่อม และยาอมบ้วนปาก เป็นต้น1.2 น้ำยากระจายตัว ตัวอย่าง ยาน้ำผสม ยาน้ำแขวนตะกอน และยาอิมัลชัน เป็นต้น2. เภสัชภัณฑ์รูปแบบของแข็ง ตัวอย่าง ยาเม็ด ยาแคปซูล ยาผงฟู่ ยาอม และยาเหน็บ เป็นต้น3. เภสัชภัณฑ์รูปแบบกึ่งแข็ง ตัวอย่าง ยาขี้ผึ้ง ยาครีม และยาเจล เป็นต้น4. เภสัชภัณฑ์รูปแบบอื่นๆ ตัวอย่าง ยาสูดดม ยาแอโรโซล และยาพ่นฝอย เป็นต้นรูปแบบของยาแต่ละชนิดอาจมีได้มากกว่า 1 รูป ในแต่ละทางที่บริหารยา เช่น ทางปาก รูปแบบยา มียาเม็ด ยาแคปซูล ยาน้ำเชื่อม ยาน้ำแขวนลอย ยาอิมัลชัน และยาผง
วัตถุประสงค์ในการทำยาในรูปแบบต่างๆ
1. เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับประทานยาในขนาดที่ถูกต้อง ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในการรักษาโรค2. ป้องกันการสลายตัวของยา ตัวยาบางอย่างจะสลายตัวเมื่อถูกอากาศและความชื้นจึงทำในรูปยาเม็ดเคลือบน้ำตาลหรือฟิล์ม3. กลบรสตัวยาที่ไม่น่ารับประทาน เช่น ยาแคปซูล4. เหมาะสำหรับเด็กหรือผู้สูงอายุที่กลืนยาเม็ด ยาแคปซูลไม่ได้ เช่น ยาน้ำผสม ยาน้ำแขวนตะกอน เป็นต้น5. เพื่อให้ยาออกฤทธิ์ติดต่อกันนาน ไม่ต้องรับประทานยาบ่อยครั้ง เช่น ยาเม็ดชนิดออกฤทธิ์เนิ่นนาน6. ต้องการใช้เป็นยาภายนอก ใช้สำหรับผิวหนัง ยาขี้ผึ้ง ครีม หรือใช้เฉพาะที่ เช่น ยาตายาหู และยาจมูก เป็นต้น7. ใช้สอดเข้าช่องต่างๆ ของร่างกาย เช่น ยาเหน็บทวารหนัก และยาเหน็บช่องคลอดเป็นต้น8. ต้องการให้ยาเข้าสู่หลอดเลือด หรือเนื้อเยื่อของร่างกายโดยตรง ทำให้ออกฤทธิ์เร็ว เช่น ยาฉีด9. ต้องการให้ตัวยาออกฤทธิ์โดยผ่านระบบสูดดม เช่น ยาสูดดม หรือยาแอโรโซล เป็นต้น10. ต้องการให้ตัวยาออกฤทธิ์โดยระบบนำส่งผ่านผิวหนัง เพื่อให้ตัวยาดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดช้าๆ
2.2 วิธีการใช้ยา
การใช้ยารักษาโรคถ้าจะให้ได้ผลในทางรักษา ผู้ใช้ยาจำเป็นต้องมีความรู้ ความเข้าใจ ต้องศึกษาหาข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับยาที่จะใช้ อาจสอบถามจากแพทย์ เภสัชกร หรืออ่านจากหนังสือ หรืออ่านเอกสารทางยาและอื่นๆ ข้อมูลสำคัญที่นักศึกษาหรือผู้ใช้ยาควรทราบและใส่ใจเป็นพิเศษ
2.2.1 การดูฉลากยาและเอกสารกำกับยา
ก่อนการใช้ยา ต้องอ่านฉลากยาทุกครั้ง เพื่อป้องกันการหยิบยาผิด และเพื่อความปลอดภัยในการใช้ยา ควรต้องอ่านฉลากกำกับยาเพื่อทำความเข้าใจให้ชัดเจนเกี่ยวกับ สรรพคุณ ขนาดยา ความแรง วิธีใช้ ข้อห้าม ข้อแนะนำและคำเตือน วันผลิตและวันหมดอายุของยา อุณหภูมิที่เก็บยา การอ่านฉลากและเอกสารกำกับยาอย่างละเอียดก็เพื่อให้ได้รับประโยชน์จากการใช้ยามากที่สุด ต่อไปนี้เป็นข้อมูลที่มีบนฉลากยา ซึ่งผู้ใช้ยาควรใส่ใจ1. ชื่อยายาแต่ละตัวมีชื่อ 3 ชื่อด้วยกันคือชื่อสามัญทางยา (Generic Name) จัดเป็นชื่อที่สำคัญที่สุดในทางเภสัช เพราะเป็นชื่อที่ถูกตั้งเพื่อเป็นมาตรฐานในการสื่อกัน แทนที่จะใช้ชื่อทางเคมี ซึ่งเป็นชื่อที่ยาวมาก ซับซ้อน นอกจากนี้ยังเป็นชื่อที่ใช้กันทั่วโลก จะมียกเว้นยาบางตัวเท่านั้น ได้แก่Paracetamol ที่ USA เรียกว่า AcetaminophenSalbutamol ที่ USA เรียกว่า Albuterolชื่อทางเคมี (Chemical Name) เป็นชื่อที่ตั้งขึ้นตามระบบวิธีตั้งชื่อทางวิทยาศาสตร์ จากชื่อนี้สามารถแสดงให้เห็นว่า ยานั้นมีโครงสร้างอย่างไร ชื่อนี้จะเป็นชื่อที่ยาวมาก จำยาก ใช้เป็นชื่ออ้างอิงทางวิทยาศาสตร์เท่านั้น เช่นErgotamine tartrate มีชื่อทางเคมีว่า Ergotaman-3’, 6’, 18-trione 12’-hydroxy-2’-menthyl-5’-(alpha)-[R-(R*,R*)]-2, 3-dihydroxybutanedioate(2:1)(tartrate)ชื่อทางการค้า (Trade Name) ชื่อที่บริษัทผู้ขายตั้งขึ้นเอง เพื่อให้เรียกง่าย และใช้ในการโฆษณา ทำให้ติดปาก ผู้ใช้ยาเรียกชื่อการค้าแทนในฐานะผู้ใช้ยาควรที่จะทำความรู้จักกับชื่อสามัญของยามากกว่าที่จะใช้ชื่อทางการค้า เพราะจะเป็นวิธีที่ปกป้องตัวเองได้ดีกว่า และเป็นการประหยัดมากกว่า อย่างไรก็ตาม มาตรฐานในการผลิตยาของบางบริษัทก็จัดอยู่ในขั้นแย่มาก ดังนั้นการซื้อยาควรจะระบุชื่อทางการค้า และเลือกร้านขายยาที่ท่านวางใจด้วย2. เลขทะเบียนตำรับยามักมีคำว่า Reg.No ส่วนเลขที่แสดงต่อท้ายอักษร ภาษาอังกฤษ คือ เลขลำดับที่ได้รับอนุญาตให้ขึ้นทะเบียนตำรับยาและทับเลขท้ายของปี พ.ศ.ที่ได้รับการขึ้นทะเบียน3. ปริมาณหรือขนาดบรรจุของยา เช่น ยาเม็ด4. เลขที่หรืออักษรแสดงครั้งที่ผลิตหรือวิเคราะห์ซึ่งมักใช้คำย่อเป็นภาษาอังกฤษ เช่นLotono., Cont.No., Batch No. หรือ L,C,L/C,B/C5. ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิตยา ยาที่ผลิตในประเทศต้องมีชื่อผู้ผลิต จังหวัดที่ตั้งสถานที่ผลิตยาด้วย6. วันเดือนปี ที่ผลิตยามักมีคำย่อภาษาอังกฤษ Mfd. หรือ Mfg date. แล้วตามด้วยวันเดือนปีที่ผลิต หากยานั้นผลิตมาเกิน 5 ปี ก็ไม่ควรนำมารับประทาน ส่วนยาบางชนิด เช่น ยาปฏิชีวนะ จะมีการระบุวันที่หมดอายุ โดยมีคำย่อว่า Exp.Date ซึ่งย่อมาจาก Expiration Date แล้วตามด้วยวันเดือนปีที่ผลิตยานั้นหมดอายุ โดยใช้คำว่า use before7. คำว่า “ยาอันตราย” “ยาควบคุมพิเศษ” หรือ “ยาใช้ภายนอก” แล้วแต่กรณีซึ่งจะเขียนด้วยอักษรสีแดงอ่านได้ชัดเจน8. วิธีใช้และคำเตือน การจัดให้มีคำเตือนไว้บนฉลาก และเอกสารกำกับยานั้นใช้สำหรับยาที่รัฐมนตรีประกาศหรือกรณีที่กฎหมายบังคับสำหรับตำรับยาที่มีตัวยาสำคัญตั้งแต่ 2 ตัวขึ้นไป เลขทะเบียนตำรับยาจะขึ้นต้นด้วย 2Aยาที่ใช้สำหรับสัตว์ อักษรย่อภาษาอังกฤษจะเป็น D……, คือยาที่ผลิตในประเทศคือ E….คือ ยาที่นำหรือสั่งเข้ามาจากต่างประเทศ แล้วมาบรรจุและ F…..คือ ยาที่นำสั่งเข้ามาจากต่างประเทศ ยาที่เป็นแผนโบราณอักษรภาษาอังกฤษก็จะเป็น G……คือ ยาที่ผลิตในประเทศ H…..คือ ยาที่แบ่งบรรจุ และ K…..คือ ยาที่นำสั่งเข้ามาจากต่างประเทศแล้วตามด้วยเลขลำดับที่ได้รับอนุญาตและปี พ.ศ.ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนดังตารางแสดง
ยาแผนปัจจุบัน1A : ยามนุษย์ผลิตภายในประเทศ (แผนปัจจุบัน) (ยาเดี่ยว)1B : ยามนุษย์แบ่งบรรจุ (แผนปัจจุบัน) (ยาเดี่ยว)1C : ยามนุษย์นำหรือสั่งเข้าฯ (แผนปัจจุบัน) (ยาเดี่ยว)1D : ยาสัตว์ผลิตภายในประเทศ (แผนปัจจุบัน) (ยาเดี่ยว)1E : ยาสัตว์แบ่งบรรจุ (แผนปัจจุบัน) (ยาเดี่ยว)1F : ยาสัตว์นำหรือสั่งเข้า (แผนปัจจุบัน) (ยาเดี่ยว)2A : ยามนุษย์ผลิตภายในประเทศ (แผนปัจจุบัน) (ยาผสม)2B : ยามนุษย์แบ่งบรรจุ (แผนปัจจุบัน) (ยาผสม)2C : ยามนุษย์นำหรือสั่งเข้าฯ (แผนปัจจุบัน) (ยาผสม)2D : ยาสัตว์ผลิตภายในประเทศ (แผนปัจจุบัน) (ยาผสม)2E : ยาสัตว์บรรจุ (แผนปัจจุบัน) (ยาผสม)2F : ยาสัตว์นำหรือสั่งเข้าฯ (แผนปัจจุบัน) (ยาผสม)
ยาแผนโบราณG : ยามนุษย์ผลิตภายในประเทศ (แผนโบราณ)H : ยามนุษย์แบ่งบรรจุ (แผนโบราณ)K : ยามนุษย์นำหรือสั่งเข้าฯ (แผนโบราณ)L : ยาสัตว์ผลิตภายในประเทศ(แผนโบราณ)M : ยาสัตว์แบ่งบรรจุ (แผนโบราณ)N: ยาสัตว์นำหรือสั่งเข้าฯ (แผนโบราณ)

ยากับชีวิตประจำวัน

ยากับชีวิตประจำวัน
2.1 ยากับชีวิตประจำวัน

มนุษย์รู้จักใช้ยามาแต่สมัยดึกดำบรรพ์ โดยใช้วัสดุจากธรรมชาติ อาจเป็นเนื้อ กระดูกสัตว์ รากไม้ และกิ่งใบของพฤกษชาติ ตลอดจนแร่ธาตุต่างๆ มาสับให้เป็นชิ้นเล็กๆ ให้มีขนาดที่จะป้อนเข้าปากได้ หรือเอามาละลายในน้ำต้ม หรือทำเป็นน้ำมันและน้ำยาที่ใช้ทาได้ จนมาประมาณ ค.ศ.1700 มีการใช้ยานับจำนวนพันๆ ตำรับ แต่ปรากฏว่ามียาเพียง 30 – 40 ตำรับเท่านั้นที่มีประสิทธิภาพในการรักษาอย่างแท้จริง เช่น ยาขับพยาธิในลำไส้ จากรากของต้น Malefern ราก Pomegranate น้ำมัน Santonin ใช้สารปรอทเป็นยาระบายและขับปัสสาวะ ต่อมาใช้รักษาโรคซิฟิลิส ใช้ราก Cinchona bark จากประเทศเปรูรักษาไข้มาเลเรีย Ipecacuanh จากบราซิล ใช้สำหรับขับเสมหะและอาเจียน เป็นต้น
ความเจริญของการค้นพบยา มาเริ่มต้นในศตวรรษที่ 19 โดยเภสัชกรชาวเยอรมัน อายุ 23 ปี ชื่อ ฟรีดริช แซร์ทูเออเนอร์ (Friedrich Sertuemer) สามารถแยกมอร์ฟีนจากฝิ่นดิบ เมื่อ ค.ศ.1805 และนี่คือสัญญาณของการแยกวิเคราะห์ตัวยาใหม่ๆ ให้ติดตามมาอีกมากมาย และในปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์และนักเภสัชศาสตร์ก็ยังค้นคว้าต่ออย่างไม่หยุดยั้ง เพราะยาจัดเป็นหนึ่งในปัจจัยที่สำคัญในชีวิตของมนุษย์เราโดยเฉพาะยามที่เราเกิดเจ็บป่วยไม่สบาย ยาจะเป็นสิ่งจำเป็นในการรักษาโรค แต่หารู้ไม่ว่ายาที่เราใช้อยู่นี้หากใช้มาก หรือนานเกินไปอาจเปลี่ยนจากคุณเป็นโทษได้ เพราะยามีผลแทรกซ้อนหรือฤทธิ์ข้างเคียงเสมอแทบทุกตัว ดังนั้น ประชาชนควรใฝ่หาความรู้ว่ายาใดมีประโยชน์อย่างไรและใช้อย่างไรจึงจะเกิดประโยชน์ปราศจากโทษ ถึงแม้ผู้ผลิตยาเองจะพยายามที่จะให้ยามีพิษหรือผลข้างเคียงน้อยที่สุดแล้วก็ตาม แต่เนื่องจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์หรือการขาดประสบการณ์ สะเพร่าหรือประมาทของผู้ใช้ยาก็จะกลายเป็นดาบสองคม ทำร้ายผู้ใช้ยาได้

2.1.1 ความหมายและประเภทของยา

2.1.1.1 ความหมายของคำว่ายา
ยา คือ วัตถุที่ใช้เพื่อให้มนุษย์หรือสัตว์หายจากอาการเจ็บไข้ได้ป่วย และทำให้ร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์
พ.ร.บ. ยา (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2522 มาตราที่ 1-49 ได้แบ่งประเภทของยาไว้ดังนี้
มาตรา 4 ในพระราชบัญญัตินี้
“ยา" หมายความว่า
(1) วัตถุที่รับรองไว้ในตำรายาที่รัฐมนตรีประกาศ
(2) วัตถุที่มุ่งหมายสำหรับใช้ในการวินิจฉัย บำบัด บรรเทา รักษา หรือป้องกันโรค หรือ ความเจ็บป่วยของมนุษย์หรือสัตว์
(3) วัตถุที่เป็นเภสัชเคมีภัณฑ์ หรือเภสัชเคมีภัณฑ์กึ่งสำเร็จรูป หรือ
(4) วัตถุที่มุ่งหมายสำหรับให้เกิดผลแก่สุขภาพ โครงสร้าง หรือการกระทำหน้าที่ใดๆ ของร่างกายของมนุษย์หรือสัตว์ วัตถุตาม (1) (2) หรือ (4) ไม่หมายความรวมถึง
(ก) วัตถุที่มุ่งหมายสำหรับใช้ในการเกษตรหรือการอุตสาหกรรมตามที่รัฐมนตรีประกาศ
(ข) วัตถุที่มุ่งหมายสำหรับใช้เป็นอาหารสำหรับมนุษย์ เครื่องกีฬา เครื่องมือ เครื่องใช้ในการส่งเสริมสุขภาพ เครื่องสำอาง หรือเครื่องมือและส่วนประกอบของเครื่องมือที่ใช้ในการประกอบโรคศิลปะหรือวิชาชีพเวชกรรม
(ค) วัตถุที่มุ่งหมายสำหรับใช้ในห้องวิทยาศาสตร์สำหรับการวิจัย การวิเคราะห์หรือ การชันสูตรโรคซึ่งมิได้กระทำโดยตรงต่อร่างกายของมนุษย์
โรคภัยไข้เจ็บ คือ ความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับสภาพร่างกาย หรือสภาพจิตใจก็ได้ เป็นผลเนื่องมาจากเชื้อโรค มลพิษต่างๆ และภาวะสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการทำงานของอวัยวะต่างๆ ภายในร่างกาย แสดงอาการต่างๆ ที่เป็นอันตรายและทำให้เกิดความทุกข์ทรมานต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์
กล่าวโดยทั่วไป ยารักษาโรค คือ วัตถุที่ถูกปรุงแต่งขึ้นเพื่อความมุ่งหมาย 6 ประการ
1. บำบัดโรค ยาที่ใช้มักเป็นตัวยาที่เจาะจงในการทำลายสาเหตุของโรคชนิดใดชนิดหนึ่งให้
หมดสิ้นไป เช่น ยารักษามาลาเรีย
2. รักษาโรค ยาที่ใช้รักษาโรคให้หายไปในระยะสั้น แต่อาจจะกลับเป็นขึ้นมาอีกก็ได้ เช่น ยาแก้ไข้หวัด
3. บรรเทาอาการ เมื่อเกิดอาการเจ็บป่วยขึ้น ผู้ป่วยจะมีอาการต่างๆ ได้รับความทุกขเวทนา จำเป็นต้องใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการเหล่านั้นชั่วขณะ เช่น ยาแก้ปวดลดไข้
4. ป้องกันโรค โรคบางอย่างอาจป้องกันได้โดยสร้างภูมิคุ้มกันโรค เช่น วัคซีนต่างๆ
5. วินิจฉัยโรค โรคบางชนิดจำเป็นต้องใช้กรรมวิธีต่างๆ ที่อาศัยยา เช่น ยาที่ใช้ในการถ่ายภาพรังสีวินิจฉัย และยาทดสอบภูมิแพ้ต่างๆ
6. เสริมสร้างสุขภาพ ได้แก่ วิตามิน และแร่ธาตุ

2.1.1.2 ประเภทของยา
ยารักษาโรคที่ใช้ในปัจจุบัน แบ่งเป็น 9 ประเภท ตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติยาฉบับที่ 5 พุทธศักราช 2530 ดังนี้
1. ยาแผนปัจจุบัน หมายความว่า ยาที่มุ่งหมายสำหรับใช้ในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม
การประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบัน หรือการบำบัดโรคสัตว์
2. ยาแผนโบราณ หมายความว่า ยาที่มุ่งหมายสำหรับใช้ในการประกอบโรคศิลปะแผน
โบราณ หรือการบำบัดโรคสัตว์ ซึ่งอยู่ในตำรายาแผนโบราณที่รัฐมนตรีประกาศหรือยาที่รัฐมนตรีประกาศเป็นยาแผนโบราณ หรือยาที่ได้รับอนุญาตให้ขึ้นทะเบียนตำรับยาเป็นยาแผนโบราณ
3. ยาอันตราย หมายความว่า ยาแผนปัจจุบันหรือยาแผนโบราณที่รัฐมนตรีประกาศเป็นยา
อันตราย
4. ยาควบคุมพิเศษ หมายความว่า ยาแผนปัจจุบันหรือยาแผนโบราณที่รัฐมนตรีประกาศเป็น ยาควบคุมพิเศษ
5. ยาใช้ภายนอก หมายความว่า ยาแผนปัจจุบันหรือยาแผนโบราณที่มุ่งหมายสำหรับใช้ภายนอก
6. ยาใช้เฉพาะที่ หมายความว่า ยาแผนปัจจุบันหรือยาแผนโบราณที่มุ่งหมายใช้เฉพาะที่กับ
ผิวหนัง หู ตา จมูก ปาก ทวารหนัก ช่องคลอด หรือท่อปัสสาวะ
7. ยาสามัญประจำบ้าน หมายความว่า ยาแผนปัจจุบันหรือยาแผนโบราณที่รัฐมนตรีประกาศ
เป็นยาสามัญประจำบ้าน
8. ยาบรรจุเสร็จ หมายความว่า ยาแผนปัจจุบันที่ได้ผลิตขึ้นเสร็จในรูปต่างๆ ทางเภสัชกรรม ซึ่งบรรจุในภาชนะหรือหีบห่อที่ปิดหรือผนึกไว้ และมีฉลากครบถ้วนตามพระราชบัญญัตินี้
9. ยาสมุนไพร หมายความว่า ยาที่ได้จากพฤกษชาติ สัตว์ หรือแร่ ซึ่งมิได้ผสมปรุง หรือแปรสภาพ
เพื่อความสะดวกในการจำแนกประเภทยาตามเภสัชตำรับของอังกฤษและสหรัฐอเมริกาส่วนใหญ่แบ่งโดยอาศัยตำแหน่ง การออกฤทธิ์ทางกายวิภาคศาสตร์ และประโยชน์ทางการรักษา ดังนี้
1. ยาที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง ตัวอย่างเช่น ยานอนหลับ
2. ยาที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทอัติโนมัติ ตัวอย่างเช่น อะโทรฟีน
3. ยาที่ออกฤทธิ์ต่อระบบหายใจ ตัวอย่างเช่น ยาขยายหลอดลม
4. ยาที่ออกฤทธิ์ต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด ตัวอย่างเช่น ยาลดความดันเลือด
5. ยาที่ออกฤทธิ์ต่อระบบทางเดินอาหาร ตัวอย่างเช่น ยาลดกรด
6. ยาที่ออกฤทธิ์ต่อระบบการสืบพันธุ์ และยาจำพวกฮอร์โมน ตัวอย่างเช่น ยาคุมกำเนิด
7. ยาที่ออกฤทธิ์ต่อไต ตัวอย่างเช่น ยาขับปัสสาวะ
8. ยาแก้แพ้ ตัวอย่างเช่น ยาแอนติฮิสทามีน
9. ยาลดอาการอักเสบ ตัวอย่างเช่น ยาจำพวกสเตียรอยด์
10. ยาต้านจุลชีพ ตัวอย่างเช่น ยาจำพวกซัลฟานาไมด์
11. ยาอื่นๆ ตัวอย่างเช่น ยารักษามะเร็ง

2.1.2 แหล่งที่มาของยาและรูปแบบของยาที่ใช้

2.1.2.1 ยามาจากแหล่งที่สำคัญ 2 แหล่งใหญ่ๆ คือ
1. ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ ได้แก่ พวกสมุนไพร ซึ่งได้มาจาก
1.1 พืช ได้จากส่วนต่างๆ ของพืช เช่น ตัวยารีเซอฟีนสกัดจากรากของต้นระย่อม ใช้ลดความดันเลือดสูง หรือมอร์ฟีน สกัดจากยางของฝิ่น ใช้เป็นยาระงับปวดหรือ ควินินสกัดจากเปลือกต้นซิงโคนาใช้รักษามาลาเรีย เป็นต้น
1.2 สัตว์ ได้จากอวัยวะต่างๆ ของสัตว์ เช่น อินซูลินจากตับอ่อนของหมูและวัว
1.3 แร่ธาตุ เช่น คาโอลิน และกำมะถัน เป็นต้น
2. ยาสังเคราะห์ ยาที่ใช้รักษาโรคมาตั้งแต่สมัยโบราณ ส่วนใหญ่ได้มาจากสมุนไพรมีปริมาณเพียงพอกับความต้องการของประชาชนที่นับวันจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ยาแผนปัจจุบันที่ใช้กันอยู่ในเวลานี้ส่วนใหญ่ได้มาจากการสังเคราะห์ทางเคมี อาจเป็นยาสังเคราะห์เลียนแบบสารที่ได้จากธรรมชาติ เช่น ยาคลอแรมเฟนิคอล หรือเป็นอนุพันธ์ของสารที่ได้จากธรรมชาติ เช่น ยาปฏิชีวนะ หรือยาสังเคราะห์ที่มิได้ปรากฏในธรรมชาติ เช่น ยาอะลูมิเนียมไฮดรอกไซด์ สารสังเคราะห์หรือกึ่งสังเคราะห์เหล่านี้ อาจมีคุณสมบัติทางเภสัชวิทยาใกล้เคียง หรือแตกต่างจากสารที่ได้จากธรรมชาติก็ได้

2.1.2.2 รูปแบบของยา
เภสัชภัณฑ์ หรือยาเตรียม หมายถึง ยารักษาโรคซึ่งถูกปรุงแต่งขึ้นในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้เหมาะสมในการใช้ สะดวกปลอดภัย และได้ยาที่มีประสิทธิภาพในการรักษาโรค รูปแบบต่างๆ ของเภสัชภัณฑ์ที่ใช้เป็นยาภายในและภายนอก แบ่งเป็นประเภทใหญ่ๆ 4 ประการ ตามลักษณะดังต่อไปนี้
1. เภสัชภัณฑ์รูปแบบของเหลว มี 2 ชนิด
1.1 ยาน้ำสารละลาย ตัวอย่าง ยาน้ำใส ยาน้ำเชื่อม และยาอมบ้วนปาก เป็นต้น
1.2 น้ำยากระจายตัว ตัวอย่าง ยาน้ำผสม ยาน้ำแขวนตะกอน และยาอิมัลชัน เป็นต้น
2. เภสัชภัณฑ์รูปแบบของแข็ง ตัวอย่าง ยาเม็ด ยาแคปซูล ยาผงฟู่ ยาอม และยาเหน็บ เป็นต้น
3. เภสัชภัณฑ์รูปแบบกึ่งแข็ง ตัวอย่าง ยาขี้ผึ้ง ยาครีม และยาเจล เป็นต้น
4. เภสัชภัณฑ์รูปแบบอื่นๆ ตัวอย่าง ยาสูดดม ยาแอโรโซล และยาพ่นฝอย เป็นต้น
รูปแบบของยาแต่ละชนิดอาจมีได้มากกว่า 1 รูป ในแต่ละทางที่บริหารยา เช่น ทางปาก รูปแบบยา มียาเม็ด ยาแคปซูล ยาน้ำเชื่อม ยาน้ำแขวนลอย ยาอิมัลชัน และยาผง

วัตถุประสงค์ในการทำยาในรูปแบบต่างๆ

1. เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับประทานยาในขนาดที่ถูกต้อง ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในการรักษาโรค
2. ป้องกันการสลายตัวของยา ตัวยาบางอย่างจะสลายตัวเมื่อถูกอากาศและความชื้นจึงทำในรูปยาเม็ดเคลือบน้ำตาลหรือฟิล์ม
3. กลบรสตัวยาที่ไม่น่ารับประทาน เช่น ยาแคปซูล
4. เหมาะสำหรับเด็กหรือผู้สูงอายุที่กลืนยาเม็ด ยาแคปซูลไม่ได้ เช่น ยาน้ำผสม ยาน้ำแขวนตะกอน เป็นต้น
5. เพื่อให้ยาออกฤทธิ์ติดต่อกันนาน ไม่ต้องรับประทานยาบ่อยครั้ง เช่น ยาเม็ดชนิดออกฤทธิ์เนิ่นนาน
6. ต้องการใช้เป็นยาภายนอก ใช้สำหรับผิวหนัง ยาขี้ผึ้ง ครีม หรือใช้เฉพาะที่ เช่น ยาตา
ยาหู และยาจมูก เป็นต้น
7. ใช้สอดเข้าช่องต่างๆ ของร่างกาย เช่น ยาเหน็บทวารหนัก และยาเหน็บช่องคลอด
เป็นต้น
8. ต้องการให้ยาเข้าสู่หลอดเลือด หรือเนื้อเยื่อของร่างกายโดยตรง ทำให้ออกฤทธิ์เร็ว เช่น ยาฉีด
9. ต้องการให้ตัวยาออกฤทธิ์โดยผ่านระบบสูดดม เช่น ยาสูดดม หรือยาแอโรโซล เป็นต้น
10. ต้องการให้ตัวยาออกฤทธิ์โดยระบบนำส่งผ่านผิวหนัง เพื่อให้ตัวยาดูดซึมเข้าสู่กระแส
เลือดช้าๆ

2.2 วิธีการใช้ยา

การใช้ยารักษาโรคถ้าจะให้ได้ผลในทางรักษา ผู้ใช้ยาจำเป็นต้องมีความรู้ ความเข้าใจ ต้องศึกษาหาข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับยาที่จะใช้ อาจสอบถามจากแพทย์ เภสัชกร หรืออ่านจากหนังสือ หรืออ่านเอกสารทางยาและอื่นๆ ข้อมูลสำคัญที่นักศึกษาหรือผู้ใช้ยาควรทราบและใส่ใจเป็นพิเศษ

2.2.1 การดูฉลากยาและเอกสารกำกับยา

ก่อนการใช้ยา ต้องอ่านฉลากยาทุกครั้ง เพื่อป้องกันการหยิบยาผิด และเพื่อความปลอดภัยในการใช้ยา ควรต้องอ่านฉลากกำกับยาเพื่อทำความเข้าใจให้ชัดเจนเกี่ยวกับ สรรพคุณ ขนาดยา ความแรง วิธีใช้ ข้อห้าม ข้อแนะนำและคำเตือน วันผลิตและวันหมดอายุของยา อุณหภูมิที่เก็บยา การอ่านฉลากและเอกสารกำกับยาอย่างละเอียดก็เพื่อให้ได้รับประโยชน์จากการใช้ยามากที่สุด ต่อไปนี้เป็นข้อมูลที่มีบนฉลากยา ซึ่งผู้ใช้ยาควรใส่ใจ
1. ชื่อยา
ยาแต่ละตัวมีชื่อ 3 ชื่อด้วยกันคือ
ชื่อสามัญทางยา (Generic Name) จัดเป็นชื่อที่สำคัญที่สุดในทางเภสัช เพราะเป็นชื่อที่ถูกตั้งเพื่อเป็นมาตรฐานในการสื่อกัน แทนที่จะใช้ชื่อทางเคมี ซึ่งเป็นชื่อที่ยาวมาก ซับซ้อน นอกจากนี้ยังเป็นชื่อที่ใช้กันทั่วโลก จะมียกเว้นยาบางตัวเท่านั้น ได้แก่
Paracetamol ที่ USA เรียกว่า Acetaminophen
Salbutamol ที่ USA เรียกว่า Albuterol
ชื่อทางเคมี (Chemical Name) เป็นชื่อที่ตั้งขึ้นตามระบบวิธีตั้งชื่อทางวิทยาศาสตร์ จากชื่อนี้สามารถแสดงให้เห็นว่า ยานั้นมีโครงสร้างอย่างไร ชื่อนี้จะเป็นชื่อที่ยาวมาก จำยาก ใช้เป็นชื่ออ้างอิงทางวิทยาศาสตร์เท่านั้น เช่น
Ergotamine tartrate มีชื่อทางเคมีว่า Ergotaman-3’, 6’, 18-trione 12’-hydroxy-2’-menthyl-5’-(alpha)-[R-(R*,R*)]-2, 3-dihydroxybutanedioate(2:1)(tartrate)
ชื่อทางการค้า (Trade Name) ชื่อที่บริษัทผู้ขายตั้งขึ้นเอง เพื่อให้เรียกง่าย และใช้ในการ
โฆษณา ทำให้ติดปาก ผู้ใช้ยาเรียกชื่อการค้าแทน
ในฐานะผู้ใช้ยาควรที่จะทำความรู้จักกับชื่อสามัญของยามากกว่าที่จะใช้ชื่อทางการค้า เพราะ
จะเป็นวิธีที่ปกป้องตัวเองได้ดีกว่า และเป็นการประหยัดมากกว่า อย่างไรก็ตาม มาตรฐานในการผลิต
ยาของบางบริษัทก็จัดอยู่ในขั้นแย่มาก ดังนั้นการซื้อยาควรจะระบุชื่อทางการค้า และเลือกร้านขายยาที่ท่านวางใจด้วย
2. เลขทะเบียนตำรับยามักมีคำว่า Reg.No ส่วนเลขที่แสดงต่อท้ายอักษร ภาษาอังกฤษ คือ เลขลำดับที่ได้รับอนุญาตให้ขึ้นทะเบียนตำรับยาและทับเลขท้ายของปี พ.ศ.ที่ได้รับการขึ้นทะเบียน
3. ปริมาณหรือขนาดบรรจุของยา เช่น ยาเม็ด
4. เลขที่หรืออักษรแสดงครั้งที่ผลิตหรือวิเคราะห์ซึ่งมักใช้คำย่อเป็นภาษาอังกฤษ เช่น
Lotono., Cont.No., Batch No. หรือ L,C,L/C,B/C
5. ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิตยา ยาที่ผลิตในประเทศต้องมีชื่อผู้ผลิต จังหวัดที่ตั้งสถานที่ผลิตยาด้วย
6. วันเดือนปี ที่ผลิตยามักมีคำย่อภาษาอังกฤษ Mfd. หรือ Mfg date. แล้วตามด้วยวันเดือนปีที่ผลิต หากยานั้นผลิตมาเกิน 5 ปี ก็ไม่ควรนำมารับประทาน ส่วนยาบางชนิด เช่น ยาปฏิชีวนะ จะมีการระบุวันที่หมดอายุ โดยมีคำย่อว่า Exp.Date ซึ่งย่อมาจาก Expiration Date แล้วตามด้วยวันเดือนปีที่ผลิตยานั้นหมดอายุ โดยใช้คำว่า use before
7. คำว่า “ยาอันตราย” “ยาควบคุมพิเศษ” หรือ “ยาใช้ภายนอก” แล้วแต่กรณีซึ่งจะเขียนด้วยอักษรสีแดงอ่านได้ชัดเจน
8. วิธีใช้และคำเตือน การจัดให้มีคำเตือนไว้บนฉลาก และเอกสารกำกับยานั้นใช้สำหรับยาที่รัฐมนตรีประกาศหรือกรณีที่กฎหมายบังคับ
สำหรับตำรับยาที่มีตัวยาสำคัญตั้งแต่ 2 ตัวขึ้นไป เลขทะเบียนตำรับยาจะขึ้นต้นด้วย 2Aยาที่ใช้สำหรับสัตว์ อักษรย่อภาษาอังกฤษจะเป็น D……, คือยาที่ผลิตในประเทศคือ E….คือ ยาที่นำหรือสั่งเข้ามาจากต่างประเทศ แล้วมาบรรจุและ F…..คือ ยาที่นำสั่งเข้ามาจากต่างประเทศ ยาที่เป็นแผนโบราณอักษรภาษาอังกฤษก็จะเป็น G……คือ ยาที่ผลิตในประเทศ H…..คือ ยาที่แบ่งบรรจุ และ K…..คือ ยาที่นำสั่งเข้ามาจากต่างประเทศแล้วตามด้วยเลขลำดับที่ได้รับอนุญาตและปี พ.ศ.ที่ได้รับการขึ้นทะเบียน

ยาแผนปัจจุบัน
1A : ยามนุษย์ผลิตภายในประเทศ (แผนปัจจุบัน) (ยาเดี่ยว)
1B : ยามนุษย์แบ่งบรรจุ (แผนปัจจุบัน) (ยาเดี่ยว)
1C : ยามนุษย์นำหรือสั่งเข้าฯ (แผนปัจจุบัน) (ยาเดี่ยว)
1D : ยาสัตว์ผลิตภายในประเทศ (แผนปัจจุบัน) (ยาเดี่ยว)
1E : ยาสัตว์แบ่งบรรจุ (แผนปัจจุบัน) (ยาเดี่ยว)
1F : ยาสัตว์นำหรือสั่งเข้า (แผนปัจจุบัน) (ยาเดี่ยว)
2A : ยามนุษย์ผลิตภายในประเทศ (แผนปัจจุบัน) (ยาผสม)
2B : ยามนุษย์แบ่งบรรจุ (แผนปัจจุบัน) (ยาผสม)
2C : ยามนุษย์นำหรือสั่งเข้าฯ (แผนปัจจุบัน) (ยาผสม)
2D : ยาสัตว์ผลิตภายในประเทศ (แผนปัจจุบัน) (ยาผสม)
2E : ยาสัตว์บรรจุ (แผนปัจจุบัน) (ยาผสม)
2F : ยาสัตว์นำหรือสั่งเข้าฯ (แผนปัจจุบัน) (ยาผสม)

ยาแผนโบราณ
G : ยามนุษย์ผลิตภายในประเทศ (แผนโบราณ)
H : ยามนุษย์แบ่งบรรจุ (แผนโบราณ)
K : ยามนุษย์นำหรือสั่งเข้าฯ (แผนโบราณ)
L : ยาสัตว์ผลิตภายในประเทศ(แผนโบราณ)
M : ยาสัตว์แบ่งบรรจุ (แผนโบราณ)
N: ยาสัตว์นำหรือสั่งเข้าฯ (แผนโบราณ)
สำหรับผู้ใช้ยา ควรปฏิบัติตามคำเตือน ข้อแนะนำ และข้อห้ามที่เขียนไว้บนฉลากอย่างเคร่งครัด
ข้อห้าม ห้ามรับประทานยาพร้อมกับนมหรือยาลดกรด
ตัวอย่าง ยาเตตราซัยคลีน
ข้อห้าม ห้ามรับประทานยาขณะที่ท้องว่าง
ตัวอย่าง ยาแอสไพริน ยาแก้ปวดข้อกระดูก
ข้อห้าม ห้ามรับประทานยาเมื่อมีอาการปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน
ตัวอย่าง ยาระบาย-ยาถ่าย
คำเตือน ยานี้ทำให้ง่วง ไม่ควรขับขี่ยานยนต์หรือ ทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกล
ตัวอย่าง ยาคลอร์เฟนิรามีน
ข้อแนะนำ เคี้ยวยาให้ละเอียดก่อนกลืน
ตัวอย่าง ยาลดกรด
คำเตือน ยาใช้ภายนอก ห้ามรับประทาน
ตัวอย่าง ยาทาแก้ผดผื่นคัน
ข้อแนะนำ ควรดื่มน้ำตามมากๆ เพื่อป้องกันการเกิดนิ่ว
ตัวอย่าง ยาจำพวกซัลฟา



2.2.1 ขนาดของยาที่ต้องใช้

เพื่อไม่ให้ใช้ยาผิดขนาดคงต้องทำความเข้าใจมาตราที่ใช้ในการชั่งน้ำหนัก และการตวงปริมาตร

การชั่งน้ำหนัก
1 เกรน = 65 มิลลิกรัม
1 กรัม = 15.43 เกรน
1 ออนซ์ = 31.1 กรัม
1 มิลลิกรัม = 1000 ไมโครกรัม
1 กิโลกรัม = 2.2 ปอนด์

การตวงปริมาตร
1 มิลลิกรัม = 20 หยด
1 ช้อนชา = 5 มิลลิลิตร
1 ช้อนโต๊ะ = 15 มิลลิลิตร
1 ถ้วยชา = 120 มิลลิลิตร
1 ถ้วยแก้วน้ำ = 240 มิลลิลิตร
1 ไปนท์ = 473 มิลลิลิตร
1 ลิตร = 1,000 มิลลิลิตร
1 แกลลอน = 3.79 ลิตร


ปกติขนาดยาที่ใช้ในการบำบัดและรักษาโรค ได้ทำการศึกษาทดลองมาเป็นเวลานานต้องเป็นขนาดที่น้อยที่สุดที่ทำให้เกิดการสนองตอบต่อยา และมีประสิทธิภาพในการรักษาโรคให้ได้ผลดี และให้ผลข้างเคียงต่ำ ร่างกายได้รับสิ่งแปลกปลอมน้อยลง ขนาดของยาที่ใช้เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง การใช้ยาเกินขนาดอาจเกิดเป็นพิษ ในบางคราวอาจถึงตายได้ และรับประทานยาซ้ำ ผู้ป่วยบางรายมีการเข้าใจผิดคิดว่ายิ่งกินยาบ่อยๆ โรคจะหายเร็ว ตัวอย่าง ยาแก้ปวดลดไข้ควรรับประทานยาห่างกันอย่างน้อย 4 ชั่วโมง ถ้ารับประทานยาทุกๆ 2 ชั่วโมงทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้ ในกรณีที่ลืมรับประทานยา ในครั้งต่อไปไม่ควรรับประทานยาเป็น 2 เท่า สำหรับยาน้ำควรใช้ช้อนตวงยา ถ้วยรินยาหรือหยอดหยดยาที่ได้มาตรฐาน การใช้ช้อนชา ช้อนโต๊ะ ที่ใช้ตามบ้านอาจไม่ได้ปริมาณที่ถูกต้อง ถ้าได้จำนวนยาไม่ถึงขนาดจะทำให้เชื้อโรคบางอย่างเกิดการดื้อยา และมีอาการป่วยเรื้อรัง 1 ช้อนชามาตรฐานเท่ากับ 5 มิลลิลิตร ช้อนชาที่ใช้ตามบ้าน เท่ากับ 3 – 4 มิลลิลิตร 1 ช้อนโต๊ะมาตรฐานเท่ากับ 15 มิลลิลิตร ช้อนโต๊ะตามบ้าน 10 – 12 มิลลิลิตร ยาน้ำแขวนตะกอนควรเขย่าก่อนรินยา ทุกครั้ง มิฉะนั้นจะได้ขนาดรับประทานของยาแต่ละครั้งไม่เท่ากัน



2.2.2 เวลาในการรับประทานยา

การใช้ยาที่ถูกต้องคือ ต้องรับประทานยาตามเวลาที่แพทย์สั่ง เช่น รับประทานก่อนอาหาร หลังอาหารทันที หรือก่อนนอน การรับประทานยาตามคำสั่งเหล่านี้มีความหมายและหลักการสำคัญที่ควรทราบดังต่อไปนี้คือ

รับประทานก่อนอาหาร
หมายความว่า ให้รับประทานยาก่อนรับประทานอาหาร ประมาณ ครึ่ง - 1 ชั่วโมง
หลักการสำคัญ คือ ต้องรับประทานยาในขณะที่ท้องว่างคือไม่มีกรดในกระเพาะอาหาร ที่จะมาทำลายตัวยา ดังนั้นยาที่รับประทานก็จะดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้มากที่สุด มีผลในการออกฤทธิ์สูง
ตัวอย่างยาที่ต้องรับประทานก่อนอาหาร เช่น ยาปฏิชีวนะชนิดต่างๆ เช่น ยากลุ่มเพนนิซิลิน ยกเว้นยาบางชนิด เช่น เตตร้าไซคลิน ฮีริโทรมัยซิน
หากลืมรับประทานก่อนอาหารให้รับประทานหลังอาหารแล้ว 2 ชั่วโมง

รับประทานหลังอาหาร
หมายความว่า ให้รับประทานยาหลังจากรับประทานอาหารเสร็จแล้วประมาณ 15 - 30 นาที

รับประทานหลังอาหารทันที หรือ พร้อมอาหาร
หมายความว่า ให้รับประทานยาทันทีหลังจากรับประทานอาหารเสร็จแล้ว หรือจะรับประทานยาในระหว่างที่กำลังรับประทานอาหารก็ได้
หลักการสำคัญคือ ตัวยาประเภทนี้จะระคายต่อกระเพาะอาหารมาก ถ้าหากว่ารับประทานยาในช่วงที่ท้องว่าง จะทำให้กระเพาะอาหารเป็นแผลได้
ตัวอย่างยาที่ต้องรับประทานหลังอาหารทันที เช่น ยากลุ่มต้านอาการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ยาแอสไพริน อินโดเมธาซิน ยาสเตียรอยด์ เช่น เพรดนิโซโลน เป็นต้น

รับประทานก่อนนอน
หมายความว่า ให้รับประทานยาก่อนเข้านอนตอนกลางคืน ประมาณ 15 - 30 นาที
เช่น ยาไดอะซีแพม
รับประทานเมื่อมีอาการ
หมายความว่า ให้รับประทานยาเมื่อมีอาการของโรค เช่น อาการปวด ถ้าหากไม่มีอาการปวด ก็ไม่ต้องรับประทานยา โดยปกติแล้วจะกำหนดให้รับประทานยาทุก 4 - 6 ชั่วโมง
หลักการสำคัญ อย่ากินยาก่อนถึงกำหนด เพราะอาจเกิดพิษจากการรับประทานยาเกินขนาดได้
ตัวอย่างยากลุ่มนี้ ได้แก่ ยาพาราเซตามอล

2.2.3 ผลของยาต่อร่างกายมนุษย์

แม้วัตถุประสงค์หลักของการใช้ยาคือ ผลรักษา ก็ตาม แต่จะมีผลอื่นๆ เกิดขึ้นร่วมด้วยมากน้อยแล้วแต่คุณสมบัติของยาและสภาพของผู้ใช้ยา
คำศัพท์เทคนิคซึ่งประชาชนหรือคนไข้มักจะได้ยินได้ฟังจากปากของบุคลากรทางการแพทย์ เช่น แพทย์ เภสัชกร พยาบาล ดังนั้นหากทำความเข้าใจว่าแต่ละคำมีความหมายอย่างไรจะทำให้การสื่อสารระหว่างบุคลากรทางการแพทย์กับประชาชนนั้นราบรื่นอันจะช่วยให้การรักษาโรคด้วยยาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นนักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่นี้ ก็ควรทำความเข้าใจกับคำเหล่านี้ให้ถ่องแท้ด้วย
ผลข้างเคียง เป็นผลของยาที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กับผลรักษา และผู้ป่วยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ บางครั้งอาจจะมีประโยชน์ต่อผู้ป่วย บางครั้งก่อให้เกิดความรำคาญหรือผลเสียต่อผู้ป่วย เช่น ผลข้างเคียงของยาแก้แพ้ส่วนใหญ่คืออาการง่วงนอน ปากแห้ง คอแห้ง อาการง่วงนอนนั้นอาจทำให้เกิดปัญหาในการเรียน การขับรถในตอนกลางวัน แต่อาจทำให้ผู้ป่วยนอนหลับได้ง่ายในตอนกลางคืน ในบางกรณีผลข้างเคียงของยาในการรักษาโรคอย่างหนึ่งอาจนำไปใช้เป็นผลรักษาโรคอีกอย่างหนึ่งก็ได้ เช่น ผลข้างเคียงของยาลดความดันเลือดบางตัวทำให้ขนดกถูกนำไปใช้เป็นยาปลูกผมสำหรับคนศีรษะล้าน เป็นต้น
ผลไม่พึงประสงค์ เป็นผลที่เกิดขึ้นจากการใช้ยาและมีผลเสียต่อผู้ป่วย ซึ่งอาจจะเกิดหรือไม่ขึ้นอยู่กับปัจจัยประกอบอื่นด้วย เช่น การใช้ยารักษาเบาหวานเกินขนาดทำให้น้ำตาลในเลือดต่ำเกินไปจนผู้ป่วยหมดสติ การใช้ยาระงับปวด-ต้านอักเสบทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร การใช้ยาปฏิชีวนะบางตัวนานเกินไปทำให้เกิดการติดเชื้อแทรกซ้อน การใช้ยานอนหลับหรือยาคลายกังวลเป็นประจำทำให้เกิดอาการหลงลืม และ อันตรายจากการใช้ยาร่วมกันหลายตัว เป็นต้น
ผลพิษ เป็นผลไม่พึงประสงค์ที่สำคัญอย่างหนึ่งซึ่งอาจจะเกิดจากการใช้ยาเกินขนาด หรือ
ผลของยาโดยตรงก็ได้ เช่น ยาแก้ปวดพาราเซตามอลหากรับประทานมากเกินไปหรือติดต่อกันนานเกินไปอาจทำให้เกิดพิษทำลายตับได้ ยาหลายชนิดทำให้เกิดผลพิษได้ในขนาดที่ใช้ปกติ เช่น ยารักษาโรคลมชักบางตัวมีผลพิษต่อทารกในครรภ์ ยารักษาโรคจิตบางตัวทำให้เกิดพิษต่อระบบการสร้างเม็ดเลือด ยาปฏิชีวนะบางกลุ่มทำให้เกิดพิษต่อไต เป็นต้น ในกรณีการใช้ยาเหล่านี้แพทย์หรือเภสัชกรจะต้องชี้แจงและเตือนให้ผู้ใช้ยาเฝ้าระวังอาการอันส่อถึงผลพิษดังกล่าวเสมอ ผลพิษส่วนใหญ่อาจเกิดขึ้นชั่วคราวและมักทุเลาหรือหมดไปเมื่อหยุดใช้ยาต้นเหตุ แต่ผลพิษบางอย่างอาจเกิดขึ้นเป็นการถาวร เช่น ผลพิษทำลายเซลล์ประสาทสมองของยาบ้า เป็นต้น
การแพ้ยา เป็นผลไม่พึงประสงค์ของยาที่เกิดน้อยครั้งและคาดคะเนได้ยาก การแพ้ยานั้นเกิดจากระบบภูมิต้านทานของร่างกายมีปฏิกริยาโต้ตอบต่อยามากเกินไป โดยพยายามใช้กลวิธีต่างๆ กำจัดยาซึ่งเป็นสิ่งแปลกปลอมออกจากร่างกาย แล้วผลสืบเนื่องจากการกำจัดยาโดยภูมิต้านทานนั้นเองทำให้ร่างกายเกิดอาการเจ็บป่วยต่างๆ ผู้ป่วยแต่ละคนจะมีโอกาสแพ้ยาได้มากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับคุณสมบัติทางเคมีของยาที่ใช้นั้นและสถานภาพภูมิต้านทานของผู้ใช้ยา ดังนั้นจึงคาดคะเนได้ยากว่าใครจะแพ้ยาอะไร แต่โดยทั่วไปยาปฏิชีวนะ ยาแก้ปวด-ต้านอักเสบ ยาต้านมะเร็ง มีโอกาสทำให้แพ้ได้มากกว่ายาในกลุ่มอื่นๆ การแพ้ยาอาจมีอาการได้ต่างๆ กัน เช่น เป็นผื่น ปื้นบวม คัน ผิวหนังอักเสบ ลมพิษ หอบหืด ปวดเกร็งท้อง ท้องเดิน ความดันเลือดต่ำ มึนงง หมดสติ เป็นต้น
การติดยา เป็นผลไม่พึงประสงค์ที่ก่อให้เกิดผลเสียทั้งต่อตัวผู้ใช้ยาและสังคม เกิดจากยาทำให้ร่างกายเปลี่ยนแปลงลักษณะการทำงานไปจากเดิม กลายเป็นต้องอาศัยอิทธิพลจากยาในการทำหน้าที่ปกติ ดังนั้นเมื่อใดที่ไม่ได้รับยา จิตใจและร่างกายก็จะโหยหายาดังกล่าวทำให้เกิดอาการอยากยา แสดงอาการขาดยาหรือลงแดง อาการอยากยาทำให้ผู้ติดยาต้องพยายามแสวงหายามาใช้ต่อโดยวิธีต่างๆ ทั้งชอบและมิชอบ ดังนั้นอาจกล่าวว่าการติดยาเป็นสภาวะที่ผู้ใช้ยาอยู่ภายใต้การควบคุมของยาก็ได้

2.2.4 วิธีการสังเกตยาที่เสื่อมคุณภาพ

ปกติบนฉลากยามีรายละเอียดต่างๆ แสดงไว้ เช่น ชื่อการค้าของยา ชื่อตัวยาสำคัญ ปริมาณยา ชื่อบริษัทผู้ผลิตยา ครั้งที่ผลิต วันที่ผลิต (MFG Date) หมายเลขทะเบียนยา ยาบางชนิดที่ผู้ผลิตมีความรับผิดชอบเขาจะใส่วันหมดอายุของยา (Exp.Date) ไว้ด้วย โดยทั่วไปถือว่ายาที่ผลิตมาเกิน 5 ปีแล้ว เป็นยาที่ไม่น่าไว้วางใจ แม้ว่ายานั้นจะยังคงคุณภาพเหมือนเดิมก็ตาม ถึงแม้บางครั้งฉลากยาบอกว่ายายังไม่หมดอายุแต่อย่าเพิ่งเชื่อใจ จงตรวจสอบลักษณะยาทุกครั้งก่อนรับประทานหากพบว่ามีาสิ่งผิดปกติก็ให้สันนิษฐานเบื้องต้นว่า ยานั้นเสื่อมคุณภาพ ไม่ควรรับประทาน นอกจากจะไม่ได้ผลในทางรักษาแล้ว ยังอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพอีกด้วย ขอย้ำว่าอย่ากินยาเสื่อมคุณภาพเป็นอันขาด
ในกรณีที่ยานั้นไม่มีข้อมูลบอกว่าผลิตเมื่อไร หรือหมดอายุเมื่อไร ขอแนะวิธีสังเกตดังนี้
1. ยาเม็ดที่เสื่อมภาพจะแตกร่วน กะเทาะ สีซีด ถ้าเป็นเม็ดเคลือบจะเยิ้มเหนียว
2. ยาแคปซูล ที่หมดอายุจะบวม โป่ง พอง หรือจับกันเป็นก้อน ยาในแคปซูลเปลี่ยนสี
3. ยาน้ำแขวนตะกอน เช่น ยาลดกรด ยาแก้ท้องเสีย ถ้าตะกอนจับตัวเป็นก้อนแข็ง เขย่าแรงๆ เท่าใดยาก็ไม่กระจายตัวแสดงว่ายานั้นเสีย
4. ยาน้ำเชื่อม ถ้าหากขุ่น มีตะกอน เปลี่ยนสี มีกลิ่นบูด หรือเปรี้ยว แสดงว่ายานั้นหมดสภาพแล้ว
5. ยาน้ำอีมัลชั่น เช่น น้ำมันตับปลา เมื่อเขย่าแล้วต้องรวมเข้าเป็นเนื้อเดียวกัน หากแยกชั้นแม้เขย่าแล้วก็ไม่รวมเป็นเนื้อเดียวกัน แสดงว่ายาเสียห้ามใช้เด็ดขาด