วันพฤหัสบดีที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2552

ยากับชีวิตประจำวัน

ยากับชีวิตประจำวัน
2.1 ยากับชีวิตประจำวัน

มนุษย์รู้จักใช้ยามาแต่สมัยดึกดำบรรพ์ โดยใช้วัสดุจากธรรมชาติ อาจเป็นเนื้อ กระดูกสัตว์ รากไม้ และกิ่งใบของพฤกษชาติ ตลอดจนแร่ธาตุต่างๆ มาสับให้เป็นชิ้นเล็กๆ ให้มีขนาดที่จะป้อนเข้าปากได้ หรือเอามาละลายในน้ำต้ม หรือทำเป็นน้ำมันและน้ำยาที่ใช้ทาได้ จนมาประมาณ ค.ศ.1700 มีการใช้ยานับจำนวนพันๆ ตำรับ แต่ปรากฏว่ามียาเพียง 30 – 40 ตำรับเท่านั้นที่มีประสิทธิภาพในการรักษาอย่างแท้จริง เช่น ยาขับพยาธิในลำไส้ จากรากของต้น Malefern ราก Pomegranate น้ำมัน Santonin ใช้สารปรอทเป็นยาระบายและขับปัสสาวะ ต่อมาใช้รักษาโรคซิฟิลิส ใช้ราก Cinchona bark จากประเทศเปรูรักษาไข้มาเลเรีย Ipecacuanh จากบราซิล ใช้สำหรับขับเสมหะและอาเจียน เป็นต้น
ความเจริญของการค้นพบยา มาเริ่มต้นในศตวรรษที่ 19 โดยเภสัชกรชาวเยอรมัน อายุ 23 ปี ชื่อ ฟรีดริช แซร์ทูเออเนอร์ (Friedrich Sertuemer) สามารถแยกมอร์ฟีนจากฝิ่นดิบ เมื่อ ค.ศ.1805 และนี่คือสัญญาณของการแยกวิเคราะห์ตัวยาใหม่ๆ ให้ติดตามมาอีกมากมาย และในปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์และนักเภสัชศาสตร์ก็ยังค้นคว้าต่ออย่างไม่หยุดยั้ง เพราะยาจัดเป็นหนึ่งในปัจจัยที่สำคัญในชีวิตของมนุษย์เราโดยเฉพาะยามที่เราเกิดเจ็บป่วยไม่สบาย ยาจะเป็นสิ่งจำเป็นในการรักษาโรค แต่หารู้ไม่ว่ายาที่เราใช้อยู่นี้หากใช้มาก หรือนานเกินไปอาจเปลี่ยนจากคุณเป็นโทษได้ เพราะยามีผลแทรกซ้อนหรือฤทธิ์ข้างเคียงเสมอแทบทุกตัว ดังนั้น ประชาชนควรใฝ่หาความรู้ว่ายาใดมีประโยชน์อย่างไรและใช้อย่างไรจึงจะเกิดประโยชน์ปราศจากโทษ ถึงแม้ผู้ผลิตยาเองจะพยายามที่จะให้ยามีพิษหรือผลข้างเคียงน้อยที่สุดแล้วก็ตาม แต่เนื่องจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์หรือการขาดประสบการณ์ สะเพร่าหรือประมาทของผู้ใช้ยาก็จะกลายเป็นดาบสองคม ทำร้ายผู้ใช้ยาได้

2.1.1 ความหมายและประเภทของยา

2.1.1.1 ความหมายของคำว่ายา
ยา คือ วัตถุที่ใช้เพื่อให้มนุษย์หรือสัตว์หายจากอาการเจ็บไข้ได้ป่วย และทำให้ร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์
พ.ร.บ. ยา (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2522 มาตราที่ 1-49 ได้แบ่งประเภทของยาไว้ดังนี้
มาตรา 4 ในพระราชบัญญัตินี้
“ยา" หมายความว่า
(1) วัตถุที่รับรองไว้ในตำรายาที่รัฐมนตรีประกาศ
(2) วัตถุที่มุ่งหมายสำหรับใช้ในการวินิจฉัย บำบัด บรรเทา รักษา หรือป้องกันโรค หรือ ความเจ็บป่วยของมนุษย์หรือสัตว์
(3) วัตถุที่เป็นเภสัชเคมีภัณฑ์ หรือเภสัชเคมีภัณฑ์กึ่งสำเร็จรูป หรือ
(4) วัตถุที่มุ่งหมายสำหรับให้เกิดผลแก่สุขภาพ โครงสร้าง หรือการกระทำหน้าที่ใดๆ ของร่างกายของมนุษย์หรือสัตว์ วัตถุตาม (1) (2) หรือ (4) ไม่หมายความรวมถึง
(ก) วัตถุที่มุ่งหมายสำหรับใช้ในการเกษตรหรือการอุตสาหกรรมตามที่รัฐมนตรีประกาศ
(ข) วัตถุที่มุ่งหมายสำหรับใช้เป็นอาหารสำหรับมนุษย์ เครื่องกีฬา เครื่องมือ เครื่องใช้ในการส่งเสริมสุขภาพ เครื่องสำอาง หรือเครื่องมือและส่วนประกอบของเครื่องมือที่ใช้ในการประกอบโรคศิลปะหรือวิชาชีพเวชกรรม
(ค) วัตถุที่มุ่งหมายสำหรับใช้ในห้องวิทยาศาสตร์สำหรับการวิจัย การวิเคราะห์หรือ การชันสูตรโรคซึ่งมิได้กระทำโดยตรงต่อร่างกายของมนุษย์
โรคภัยไข้เจ็บ คือ ความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับสภาพร่างกาย หรือสภาพจิตใจก็ได้ เป็นผลเนื่องมาจากเชื้อโรค มลพิษต่างๆ และภาวะสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการทำงานของอวัยวะต่างๆ ภายในร่างกาย แสดงอาการต่างๆ ที่เป็นอันตรายและทำให้เกิดความทุกข์ทรมานต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์
กล่าวโดยทั่วไป ยารักษาโรค คือ วัตถุที่ถูกปรุงแต่งขึ้นเพื่อความมุ่งหมาย 6 ประการ
1. บำบัดโรค ยาที่ใช้มักเป็นตัวยาที่เจาะจงในการทำลายสาเหตุของโรคชนิดใดชนิดหนึ่งให้
หมดสิ้นไป เช่น ยารักษามาลาเรีย
2. รักษาโรค ยาที่ใช้รักษาโรคให้หายไปในระยะสั้น แต่อาจจะกลับเป็นขึ้นมาอีกก็ได้ เช่น ยาแก้ไข้หวัด
3. บรรเทาอาการ เมื่อเกิดอาการเจ็บป่วยขึ้น ผู้ป่วยจะมีอาการต่างๆ ได้รับความทุกขเวทนา จำเป็นต้องใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการเหล่านั้นชั่วขณะ เช่น ยาแก้ปวดลดไข้
4. ป้องกันโรค โรคบางอย่างอาจป้องกันได้โดยสร้างภูมิคุ้มกันโรค เช่น วัคซีนต่างๆ
5. วินิจฉัยโรค โรคบางชนิดจำเป็นต้องใช้กรรมวิธีต่างๆ ที่อาศัยยา เช่น ยาที่ใช้ในการถ่ายภาพรังสีวินิจฉัย และยาทดสอบภูมิแพ้ต่างๆ
6. เสริมสร้างสุขภาพ ได้แก่ วิตามิน และแร่ธาตุ

2.1.1.2 ประเภทของยา
ยารักษาโรคที่ใช้ในปัจจุบัน แบ่งเป็น 9 ประเภท ตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติยาฉบับที่ 5 พุทธศักราช 2530 ดังนี้
1. ยาแผนปัจจุบัน หมายความว่า ยาที่มุ่งหมายสำหรับใช้ในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม
การประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบัน หรือการบำบัดโรคสัตว์
2. ยาแผนโบราณ หมายความว่า ยาที่มุ่งหมายสำหรับใช้ในการประกอบโรคศิลปะแผน
โบราณ หรือการบำบัดโรคสัตว์ ซึ่งอยู่ในตำรายาแผนโบราณที่รัฐมนตรีประกาศหรือยาที่รัฐมนตรีประกาศเป็นยาแผนโบราณ หรือยาที่ได้รับอนุญาตให้ขึ้นทะเบียนตำรับยาเป็นยาแผนโบราณ
3. ยาอันตราย หมายความว่า ยาแผนปัจจุบันหรือยาแผนโบราณที่รัฐมนตรีประกาศเป็นยา
อันตราย
4. ยาควบคุมพิเศษ หมายความว่า ยาแผนปัจจุบันหรือยาแผนโบราณที่รัฐมนตรีประกาศเป็น ยาควบคุมพิเศษ
5. ยาใช้ภายนอก หมายความว่า ยาแผนปัจจุบันหรือยาแผนโบราณที่มุ่งหมายสำหรับใช้ภายนอก
6. ยาใช้เฉพาะที่ หมายความว่า ยาแผนปัจจุบันหรือยาแผนโบราณที่มุ่งหมายใช้เฉพาะที่กับ
ผิวหนัง หู ตา จมูก ปาก ทวารหนัก ช่องคลอด หรือท่อปัสสาวะ
7. ยาสามัญประจำบ้าน หมายความว่า ยาแผนปัจจุบันหรือยาแผนโบราณที่รัฐมนตรีประกาศ
เป็นยาสามัญประจำบ้าน
8. ยาบรรจุเสร็จ หมายความว่า ยาแผนปัจจุบันที่ได้ผลิตขึ้นเสร็จในรูปต่างๆ ทางเภสัชกรรม ซึ่งบรรจุในภาชนะหรือหีบห่อที่ปิดหรือผนึกไว้ และมีฉลากครบถ้วนตามพระราชบัญญัตินี้
9. ยาสมุนไพร หมายความว่า ยาที่ได้จากพฤกษชาติ สัตว์ หรือแร่ ซึ่งมิได้ผสมปรุง หรือแปรสภาพ
เพื่อความสะดวกในการจำแนกประเภทยาตามเภสัชตำรับของอังกฤษและสหรัฐอเมริกาส่วนใหญ่แบ่งโดยอาศัยตำแหน่ง การออกฤทธิ์ทางกายวิภาคศาสตร์ และประโยชน์ทางการรักษา ดังนี้
1. ยาที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง ตัวอย่างเช่น ยานอนหลับ
2. ยาที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทอัติโนมัติ ตัวอย่างเช่น อะโทรฟีน
3. ยาที่ออกฤทธิ์ต่อระบบหายใจ ตัวอย่างเช่น ยาขยายหลอดลม
4. ยาที่ออกฤทธิ์ต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด ตัวอย่างเช่น ยาลดความดันเลือด
5. ยาที่ออกฤทธิ์ต่อระบบทางเดินอาหาร ตัวอย่างเช่น ยาลดกรด
6. ยาที่ออกฤทธิ์ต่อระบบการสืบพันธุ์ และยาจำพวกฮอร์โมน ตัวอย่างเช่น ยาคุมกำเนิด
7. ยาที่ออกฤทธิ์ต่อไต ตัวอย่างเช่น ยาขับปัสสาวะ
8. ยาแก้แพ้ ตัวอย่างเช่น ยาแอนติฮิสทามีน
9. ยาลดอาการอักเสบ ตัวอย่างเช่น ยาจำพวกสเตียรอยด์
10. ยาต้านจุลชีพ ตัวอย่างเช่น ยาจำพวกซัลฟานาไมด์
11. ยาอื่นๆ ตัวอย่างเช่น ยารักษามะเร็ง

2.1.2 แหล่งที่มาของยาและรูปแบบของยาที่ใช้

2.1.2.1 ยามาจากแหล่งที่สำคัญ 2 แหล่งใหญ่ๆ คือ
1. ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ ได้แก่ พวกสมุนไพร ซึ่งได้มาจาก
1.1 พืช ได้จากส่วนต่างๆ ของพืช เช่น ตัวยารีเซอฟีนสกัดจากรากของต้นระย่อม ใช้ลดความดันเลือดสูง หรือมอร์ฟีน สกัดจากยางของฝิ่น ใช้เป็นยาระงับปวดหรือ ควินินสกัดจากเปลือกต้นซิงโคนาใช้รักษามาลาเรีย เป็นต้น
1.2 สัตว์ ได้จากอวัยวะต่างๆ ของสัตว์ เช่น อินซูลินจากตับอ่อนของหมูและวัว
1.3 แร่ธาตุ เช่น คาโอลิน และกำมะถัน เป็นต้น
2. ยาสังเคราะห์ ยาที่ใช้รักษาโรคมาตั้งแต่สมัยโบราณ ส่วนใหญ่ได้มาจากสมุนไพรมีปริมาณเพียงพอกับความต้องการของประชาชนที่นับวันจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ยาแผนปัจจุบันที่ใช้กันอยู่ในเวลานี้ส่วนใหญ่ได้มาจากการสังเคราะห์ทางเคมี อาจเป็นยาสังเคราะห์เลียนแบบสารที่ได้จากธรรมชาติ เช่น ยาคลอแรมเฟนิคอล หรือเป็นอนุพันธ์ของสารที่ได้จากธรรมชาติ เช่น ยาปฏิชีวนะ หรือยาสังเคราะห์ที่มิได้ปรากฏในธรรมชาติ เช่น ยาอะลูมิเนียมไฮดรอกไซด์ สารสังเคราะห์หรือกึ่งสังเคราะห์เหล่านี้ อาจมีคุณสมบัติทางเภสัชวิทยาใกล้เคียง หรือแตกต่างจากสารที่ได้จากธรรมชาติก็ได้

2.1.2.2 รูปแบบของยา
เภสัชภัณฑ์ หรือยาเตรียม หมายถึง ยารักษาโรคซึ่งถูกปรุงแต่งขึ้นในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้เหมาะสมในการใช้ สะดวกปลอดภัย และได้ยาที่มีประสิทธิภาพในการรักษาโรค รูปแบบต่างๆ ของเภสัชภัณฑ์ที่ใช้เป็นยาภายในและภายนอก แบ่งเป็นประเภทใหญ่ๆ 4 ประการ ตามลักษณะดังต่อไปนี้
1. เภสัชภัณฑ์รูปแบบของเหลว มี 2 ชนิด
1.1 ยาน้ำสารละลาย ตัวอย่าง ยาน้ำใส ยาน้ำเชื่อม และยาอมบ้วนปาก เป็นต้น
1.2 น้ำยากระจายตัว ตัวอย่าง ยาน้ำผสม ยาน้ำแขวนตะกอน และยาอิมัลชัน เป็นต้น
2. เภสัชภัณฑ์รูปแบบของแข็ง ตัวอย่าง ยาเม็ด ยาแคปซูล ยาผงฟู่ ยาอม และยาเหน็บ เป็นต้น
3. เภสัชภัณฑ์รูปแบบกึ่งแข็ง ตัวอย่าง ยาขี้ผึ้ง ยาครีม และยาเจล เป็นต้น
4. เภสัชภัณฑ์รูปแบบอื่นๆ ตัวอย่าง ยาสูดดม ยาแอโรโซล และยาพ่นฝอย เป็นต้น
รูปแบบของยาแต่ละชนิดอาจมีได้มากกว่า 1 รูป ในแต่ละทางที่บริหารยา เช่น ทางปาก รูปแบบยา มียาเม็ด ยาแคปซูล ยาน้ำเชื่อม ยาน้ำแขวนลอย ยาอิมัลชัน และยาผง

วัตถุประสงค์ในการทำยาในรูปแบบต่างๆ

1. เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับประทานยาในขนาดที่ถูกต้อง ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในการรักษาโรค
2. ป้องกันการสลายตัวของยา ตัวยาบางอย่างจะสลายตัวเมื่อถูกอากาศและความชื้นจึงทำในรูปยาเม็ดเคลือบน้ำตาลหรือฟิล์ม
3. กลบรสตัวยาที่ไม่น่ารับประทาน เช่น ยาแคปซูล
4. เหมาะสำหรับเด็กหรือผู้สูงอายุที่กลืนยาเม็ด ยาแคปซูลไม่ได้ เช่น ยาน้ำผสม ยาน้ำแขวนตะกอน เป็นต้น
5. เพื่อให้ยาออกฤทธิ์ติดต่อกันนาน ไม่ต้องรับประทานยาบ่อยครั้ง เช่น ยาเม็ดชนิดออกฤทธิ์เนิ่นนาน
6. ต้องการใช้เป็นยาภายนอก ใช้สำหรับผิวหนัง ยาขี้ผึ้ง ครีม หรือใช้เฉพาะที่ เช่น ยาตา
ยาหู และยาจมูก เป็นต้น
7. ใช้สอดเข้าช่องต่างๆ ของร่างกาย เช่น ยาเหน็บทวารหนัก และยาเหน็บช่องคลอด
เป็นต้น
8. ต้องการให้ยาเข้าสู่หลอดเลือด หรือเนื้อเยื่อของร่างกายโดยตรง ทำให้ออกฤทธิ์เร็ว เช่น ยาฉีด
9. ต้องการให้ตัวยาออกฤทธิ์โดยผ่านระบบสูดดม เช่น ยาสูดดม หรือยาแอโรโซล เป็นต้น
10. ต้องการให้ตัวยาออกฤทธิ์โดยระบบนำส่งผ่านผิวหนัง เพื่อให้ตัวยาดูดซึมเข้าสู่กระแส
เลือดช้าๆ

2.2 วิธีการใช้ยา

การใช้ยารักษาโรคถ้าจะให้ได้ผลในทางรักษา ผู้ใช้ยาจำเป็นต้องมีความรู้ ความเข้าใจ ต้องศึกษาหาข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับยาที่จะใช้ อาจสอบถามจากแพทย์ เภสัชกร หรืออ่านจากหนังสือ หรืออ่านเอกสารทางยาและอื่นๆ ข้อมูลสำคัญที่นักศึกษาหรือผู้ใช้ยาควรทราบและใส่ใจเป็นพิเศษ

2.2.1 การดูฉลากยาและเอกสารกำกับยา

ก่อนการใช้ยา ต้องอ่านฉลากยาทุกครั้ง เพื่อป้องกันการหยิบยาผิด และเพื่อความปลอดภัยในการใช้ยา ควรต้องอ่านฉลากกำกับยาเพื่อทำความเข้าใจให้ชัดเจนเกี่ยวกับ สรรพคุณ ขนาดยา ความแรง วิธีใช้ ข้อห้าม ข้อแนะนำและคำเตือน วันผลิตและวันหมดอายุของยา อุณหภูมิที่เก็บยา การอ่านฉลากและเอกสารกำกับยาอย่างละเอียดก็เพื่อให้ได้รับประโยชน์จากการใช้ยามากที่สุด ต่อไปนี้เป็นข้อมูลที่มีบนฉลากยา ซึ่งผู้ใช้ยาควรใส่ใจ
1. ชื่อยา
ยาแต่ละตัวมีชื่อ 3 ชื่อด้วยกันคือ
ชื่อสามัญทางยา (Generic Name) จัดเป็นชื่อที่สำคัญที่สุดในทางเภสัช เพราะเป็นชื่อที่ถูกตั้งเพื่อเป็นมาตรฐานในการสื่อกัน แทนที่จะใช้ชื่อทางเคมี ซึ่งเป็นชื่อที่ยาวมาก ซับซ้อน นอกจากนี้ยังเป็นชื่อที่ใช้กันทั่วโลก จะมียกเว้นยาบางตัวเท่านั้น ได้แก่
Paracetamol ที่ USA เรียกว่า Acetaminophen
Salbutamol ที่ USA เรียกว่า Albuterol
ชื่อทางเคมี (Chemical Name) เป็นชื่อที่ตั้งขึ้นตามระบบวิธีตั้งชื่อทางวิทยาศาสตร์ จากชื่อนี้สามารถแสดงให้เห็นว่า ยานั้นมีโครงสร้างอย่างไร ชื่อนี้จะเป็นชื่อที่ยาวมาก จำยาก ใช้เป็นชื่ออ้างอิงทางวิทยาศาสตร์เท่านั้น เช่น
Ergotamine tartrate มีชื่อทางเคมีว่า Ergotaman-3’, 6’, 18-trione 12’-hydroxy-2’-menthyl-5’-(alpha)-[R-(R*,R*)]-2, 3-dihydroxybutanedioate(2:1)(tartrate)
ชื่อทางการค้า (Trade Name) ชื่อที่บริษัทผู้ขายตั้งขึ้นเอง เพื่อให้เรียกง่าย และใช้ในการ
โฆษณา ทำให้ติดปาก ผู้ใช้ยาเรียกชื่อการค้าแทน
ในฐานะผู้ใช้ยาควรที่จะทำความรู้จักกับชื่อสามัญของยามากกว่าที่จะใช้ชื่อทางการค้า เพราะ
จะเป็นวิธีที่ปกป้องตัวเองได้ดีกว่า และเป็นการประหยัดมากกว่า อย่างไรก็ตาม มาตรฐานในการผลิต
ยาของบางบริษัทก็จัดอยู่ในขั้นแย่มาก ดังนั้นการซื้อยาควรจะระบุชื่อทางการค้า และเลือกร้านขายยาที่ท่านวางใจด้วย
2. เลขทะเบียนตำรับยามักมีคำว่า Reg.No ส่วนเลขที่แสดงต่อท้ายอักษร ภาษาอังกฤษ คือ เลขลำดับที่ได้รับอนุญาตให้ขึ้นทะเบียนตำรับยาและทับเลขท้ายของปี พ.ศ.ที่ได้รับการขึ้นทะเบียน
3. ปริมาณหรือขนาดบรรจุของยา เช่น ยาเม็ด
4. เลขที่หรืออักษรแสดงครั้งที่ผลิตหรือวิเคราะห์ซึ่งมักใช้คำย่อเป็นภาษาอังกฤษ เช่น
Lotono., Cont.No., Batch No. หรือ L,C,L/C,B/C
5. ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิตยา ยาที่ผลิตในประเทศต้องมีชื่อผู้ผลิต จังหวัดที่ตั้งสถานที่ผลิตยาด้วย
6. วันเดือนปี ที่ผลิตยามักมีคำย่อภาษาอังกฤษ Mfd. หรือ Mfg date. แล้วตามด้วยวันเดือนปีที่ผลิต หากยานั้นผลิตมาเกิน 5 ปี ก็ไม่ควรนำมารับประทาน ส่วนยาบางชนิด เช่น ยาปฏิชีวนะ จะมีการระบุวันที่หมดอายุ โดยมีคำย่อว่า Exp.Date ซึ่งย่อมาจาก Expiration Date แล้วตามด้วยวันเดือนปีที่ผลิตยานั้นหมดอายุ โดยใช้คำว่า use before
7. คำว่า “ยาอันตราย” “ยาควบคุมพิเศษ” หรือ “ยาใช้ภายนอก” แล้วแต่กรณีซึ่งจะเขียนด้วยอักษรสีแดงอ่านได้ชัดเจน
8. วิธีใช้และคำเตือน การจัดให้มีคำเตือนไว้บนฉลาก และเอกสารกำกับยานั้นใช้สำหรับยาที่รัฐมนตรีประกาศหรือกรณีที่กฎหมายบังคับ
สำหรับตำรับยาที่มีตัวยาสำคัญตั้งแต่ 2 ตัวขึ้นไป เลขทะเบียนตำรับยาจะขึ้นต้นด้วย 2Aยาที่ใช้สำหรับสัตว์ อักษรย่อภาษาอังกฤษจะเป็น D……, คือยาที่ผลิตในประเทศคือ E….คือ ยาที่นำหรือสั่งเข้ามาจากต่างประเทศ แล้วมาบรรจุและ F…..คือ ยาที่นำสั่งเข้ามาจากต่างประเทศ ยาที่เป็นแผนโบราณอักษรภาษาอังกฤษก็จะเป็น G……คือ ยาที่ผลิตในประเทศ H…..คือ ยาที่แบ่งบรรจุ และ K…..คือ ยาที่นำสั่งเข้ามาจากต่างประเทศแล้วตามด้วยเลขลำดับที่ได้รับอนุญาตและปี พ.ศ.ที่ได้รับการขึ้นทะเบียน

ยาแผนปัจจุบัน
1A : ยามนุษย์ผลิตภายในประเทศ (แผนปัจจุบัน) (ยาเดี่ยว)
1B : ยามนุษย์แบ่งบรรจุ (แผนปัจจุบัน) (ยาเดี่ยว)
1C : ยามนุษย์นำหรือสั่งเข้าฯ (แผนปัจจุบัน) (ยาเดี่ยว)
1D : ยาสัตว์ผลิตภายในประเทศ (แผนปัจจุบัน) (ยาเดี่ยว)
1E : ยาสัตว์แบ่งบรรจุ (แผนปัจจุบัน) (ยาเดี่ยว)
1F : ยาสัตว์นำหรือสั่งเข้า (แผนปัจจุบัน) (ยาเดี่ยว)
2A : ยามนุษย์ผลิตภายในประเทศ (แผนปัจจุบัน) (ยาผสม)
2B : ยามนุษย์แบ่งบรรจุ (แผนปัจจุบัน) (ยาผสม)
2C : ยามนุษย์นำหรือสั่งเข้าฯ (แผนปัจจุบัน) (ยาผสม)
2D : ยาสัตว์ผลิตภายในประเทศ (แผนปัจจุบัน) (ยาผสม)
2E : ยาสัตว์บรรจุ (แผนปัจจุบัน) (ยาผสม)
2F : ยาสัตว์นำหรือสั่งเข้าฯ (แผนปัจจุบัน) (ยาผสม)

ยาแผนโบราณ
G : ยามนุษย์ผลิตภายในประเทศ (แผนโบราณ)
H : ยามนุษย์แบ่งบรรจุ (แผนโบราณ)
K : ยามนุษย์นำหรือสั่งเข้าฯ (แผนโบราณ)
L : ยาสัตว์ผลิตภายในประเทศ(แผนโบราณ)
M : ยาสัตว์แบ่งบรรจุ (แผนโบราณ)
N: ยาสัตว์นำหรือสั่งเข้าฯ (แผนโบราณ)
สำหรับผู้ใช้ยา ควรปฏิบัติตามคำเตือน ข้อแนะนำ และข้อห้ามที่เขียนไว้บนฉลากอย่างเคร่งครัด
ข้อห้าม ห้ามรับประทานยาพร้อมกับนมหรือยาลดกรด
ตัวอย่าง ยาเตตราซัยคลีน
ข้อห้าม ห้ามรับประทานยาขณะที่ท้องว่าง
ตัวอย่าง ยาแอสไพริน ยาแก้ปวดข้อกระดูก
ข้อห้าม ห้ามรับประทานยาเมื่อมีอาการปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน
ตัวอย่าง ยาระบาย-ยาถ่าย
คำเตือน ยานี้ทำให้ง่วง ไม่ควรขับขี่ยานยนต์หรือ ทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกล
ตัวอย่าง ยาคลอร์เฟนิรามีน
ข้อแนะนำ เคี้ยวยาให้ละเอียดก่อนกลืน
ตัวอย่าง ยาลดกรด
คำเตือน ยาใช้ภายนอก ห้ามรับประทาน
ตัวอย่าง ยาทาแก้ผดผื่นคัน
ข้อแนะนำ ควรดื่มน้ำตามมากๆ เพื่อป้องกันการเกิดนิ่ว
ตัวอย่าง ยาจำพวกซัลฟา



2.2.1 ขนาดของยาที่ต้องใช้

เพื่อไม่ให้ใช้ยาผิดขนาดคงต้องทำความเข้าใจมาตราที่ใช้ในการชั่งน้ำหนัก และการตวงปริมาตร

การชั่งน้ำหนัก
1 เกรน = 65 มิลลิกรัม
1 กรัม = 15.43 เกรน
1 ออนซ์ = 31.1 กรัม
1 มิลลิกรัม = 1000 ไมโครกรัม
1 กิโลกรัม = 2.2 ปอนด์

การตวงปริมาตร
1 มิลลิกรัม = 20 หยด
1 ช้อนชา = 5 มิลลิลิตร
1 ช้อนโต๊ะ = 15 มิลลิลิตร
1 ถ้วยชา = 120 มิลลิลิตร
1 ถ้วยแก้วน้ำ = 240 มิลลิลิตร
1 ไปนท์ = 473 มิลลิลิตร
1 ลิตร = 1,000 มิลลิลิตร
1 แกลลอน = 3.79 ลิตร


ปกติขนาดยาที่ใช้ในการบำบัดและรักษาโรค ได้ทำการศึกษาทดลองมาเป็นเวลานานต้องเป็นขนาดที่น้อยที่สุดที่ทำให้เกิดการสนองตอบต่อยา และมีประสิทธิภาพในการรักษาโรคให้ได้ผลดี และให้ผลข้างเคียงต่ำ ร่างกายได้รับสิ่งแปลกปลอมน้อยลง ขนาดของยาที่ใช้เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง การใช้ยาเกินขนาดอาจเกิดเป็นพิษ ในบางคราวอาจถึงตายได้ และรับประทานยาซ้ำ ผู้ป่วยบางรายมีการเข้าใจผิดคิดว่ายิ่งกินยาบ่อยๆ โรคจะหายเร็ว ตัวอย่าง ยาแก้ปวดลดไข้ควรรับประทานยาห่างกันอย่างน้อย 4 ชั่วโมง ถ้ารับประทานยาทุกๆ 2 ชั่วโมงทำให้เกิดอันตรายขึ้นได้ ในกรณีที่ลืมรับประทานยา ในครั้งต่อไปไม่ควรรับประทานยาเป็น 2 เท่า สำหรับยาน้ำควรใช้ช้อนตวงยา ถ้วยรินยาหรือหยอดหยดยาที่ได้มาตรฐาน การใช้ช้อนชา ช้อนโต๊ะ ที่ใช้ตามบ้านอาจไม่ได้ปริมาณที่ถูกต้อง ถ้าได้จำนวนยาไม่ถึงขนาดจะทำให้เชื้อโรคบางอย่างเกิดการดื้อยา และมีอาการป่วยเรื้อรัง 1 ช้อนชามาตรฐานเท่ากับ 5 มิลลิลิตร ช้อนชาที่ใช้ตามบ้าน เท่ากับ 3 – 4 มิลลิลิตร 1 ช้อนโต๊ะมาตรฐานเท่ากับ 15 มิลลิลิตร ช้อนโต๊ะตามบ้าน 10 – 12 มิลลิลิตร ยาน้ำแขวนตะกอนควรเขย่าก่อนรินยา ทุกครั้ง มิฉะนั้นจะได้ขนาดรับประทานของยาแต่ละครั้งไม่เท่ากัน



2.2.2 เวลาในการรับประทานยา

การใช้ยาที่ถูกต้องคือ ต้องรับประทานยาตามเวลาที่แพทย์สั่ง เช่น รับประทานก่อนอาหาร หลังอาหารทันที หรือก่อนนอน การรับประทานยาตามคำสั่งเหล่านี้มีความหมายและหลักการสำคัญที่ควรทราบดังต่อไปนี้คือ

รับประทานก่อนอาหาร
หมายความว่า ให้รับประทานยาก่อนรับประทานอาหาร ประมาณ ครึ่ง - 1 ชั่วโมง
หลักการสำคัญ คือ ต้องรับประทานยาในขณะที่ท้องว่างคือไม่มีกรดในกระเพาะอาหาร ที่จะมาทำลายตัวยา ดังนั้นยาที่รับประทานก็จะดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้มากที่สุด มีผลในการออกฤทธิ์สูง
ตัวอย่างยาที่ต้องรับประทานก่อนอาหาร เช่น ยาปฏิชีวนะชนิดต่างๆ เช่น ยากลุ่มเพนนิซิลิน ยกเว้นยาบางชนิด เช่น เตตร้าไซคลิน ฮีริโทรมัยซิน
หากลืมรับประทานก่อนอาหารให้รับประทานหลังอาหารแล้ว 2 ชั่วโมง

รับประทานหลังอาหาร
หมายความว่า ให้รับประทานยาหลังจากรับประทานอาหารเสร็จแล้วประมาณ 15 - 30 นาที

รับประทานหลังอาหารทันที หรือ พร้อมอาหาร
หมายความว่า ให้รับประทานยาทันทีหลังจากรับประทานอาหารเสร็จแล้ว หรือจะรับประทานยาในระหว่างที่กำลังรับประทานอาหารก็ได้
หลักการสำคัญคือ ตัวยาประเภทนี้จะระคายต่อกระเพาะอาหารมาก ถ้าหากว่ารับประทานยาในช่วงที่ท้องว่าง จะทำให้กระเพาะอาหารเป็นแผลได้
ตัวอย่างยาที่ต้องรับประทานหลังอาหารทันที เช่น ยากลุ่มต้านอาการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ยาแอสไพริน อินโดเมธาซิน ยาสเตียรอยด์ เช่น เพรดนิโซโลน เป็นต้น

รับประทานก่อนนอน
หมายความว่า ให้รับประทานยาก่อนเข้านอนตอนกลางคืน ประมาณ 15 - 30 นาที
เช่น ยาไดอะซีแพม
รับประทานเมื่อมีอาการ
หมายความว่า ให้รับประทานยาเมื่อมีอาการของโรค เช่น อาการปวด ถ้าหากไม่มีอาการปวด ก็ไม่ต้องรับประทานยา โดยปกติแล้วจะกำหนดให้รับประทานยาทุก 4 - 6 ชั่วโมง
หลักการสำคัญ อย่ากินยาก่อนถึงกำหนด เพราะอาจเกิดพิษจากการรับประทานยาเกินขนาดได้
ตัวอย่างยากลุ่มนี้ ได้แก่ ยาพาราเซตามอล

2.2.3 ผลของยาต่อร่างกายมนุษย์

แม้วัตถุประสงค์หลักของการใช้ยาคือ ผลรักษา ก็ตาม แต่จะมีผลอื่นๆ เกิดขึ้นร่วมด้วยมากน้อยแล้วแต่คุณสมบัติของยาและสภาพของผู้ใช้ยา
คำศัพท์เทคนิคซึ่งประชาชนหรือคนไข้มักจะได้ยินได้ฟังจากปากของบุคลากรทางการแพทย์ เช่น แพทย์ เภสัชกร พยาบาล ดังนั้นหากทำความเข้าใจว่าแต่ละคำมีความหมายอย่างไรจะทำให้การสื่อสารระหว่างบุคลากรทางการแพทย์กับประชาชนนั้นราบรื่นอันจะช่วยให้การรักษาโรคด้วยยาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นนักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่นี้ ก็ควรทำความเข้าใจกับคำเหล่านี้ให้ถ่องแท้ด้วย
ผลข้างเคียง เป็นผลของยาที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กับผลรักษา และผู้ป่วยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ บางครั้งอาจจะมีประโยชน์ต่อผู้ป่วย บางครั้งก่อให้เกิดความรำคาญหรือผลเสียต่อผู้ป่วย เช่น ผลข้างเคียงของยาแก้แพ้ส่วนใหญ่คืออาการง่วงนอน ปากแห้ง คอแห้ง อาการง่วงนอนนั้นอาจทำให้เกิดปัญหาในการเรียน การขับรถในตอนกลางวัน แต่อาจทำให้ผู้ป่วยนอนหลับได้ง่ายในตอนกลางคืน ในบางกรณีผลข้างเคียงของยาในการรักษาโรคอย่างหนึ่งอาจนำไปใช้เป็นผลรักษาโรคอีกอย่างหนึ่งก็ได้ เช่น ผลข้างเคียงของยาลดความดันเลือดบางตัวทำให้ขนดกถูกนำไปใช้เป็นยาปลูกผมสำหรับคนศีรษะล้าน เป็นต้น
ผลไม่พึงประสงค์ เป็นผลที่เกิดขึ้นจากการใช้ยาและมีผลเสียต่อผู้ป่วย ซึ่งอาจจะเกิดหรือไม่ขึ้นอยู่กับปัจจัยประกอบอื่นด้วย เช่น การใช้ยารักษาเบาหวานเกินขนาดทำให้น้ำตาลในเลือดต่ำเกินไปจนผู้ป่วยหมดสติ การใช้ยาระงับปวด-ต้านอักเสบทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร การใช้ยาปฏิชีวนะบางตัวนานเกินไปทำให้เกิดการติดเชื้อแทรกซ้อน การใช้ยานอนหลับหรือยาคลายกังวลเป็นประจำทำให้เกิดอาการหลงลืม และ อันตรายจากการใช้ยาร่วมกันหลายตัว เป็นต้น
ผลพิษ เป็นผลไม่พึงประสงค์ที่สำคัญอย่างหนึ่งซึ่งอาจจะเกิดจากการใช้ยาเกินขนาด หรือ
ผลของยาโดยตรงก็ได้ เช่น ยาแก้ปวดพาราเซตามอลหากรับประทานมากเกินไปหรือติดต่อกันนานเกินไปอาจทำให้เกิดพิษทำลายตับได้ ยาหลายชนิดทำให้เกิดผลพิษได้ในขนาดที่ใช้ปกติ เช่น ยารักษาโรคลมชักบางตัวมีผลพิษต่อทารกในครรภ์ ยารักษาโรคจิตบางตัวทำให้เกิดพิษต่อระบบการสร้างเม็ดเลือด ยาปฏิชีวนะบางกลุ่มทำให้เกิดพิษต่อไต เป็นต้น ในกรณีการใช้ยาเหล่านี้แพทย์หรือเภสัชกรจะต้องชี้แจงและเตือนให้ผู้ใช้ยาเฝ้าระวังอาการอันส่อถึงผลพิษดังกล่าวเสมอ ผลพิษส่วนใหญ่อาจเกิดขึ้นชั่วคราวและมักทุเลาหรือหมดไปเมื่อหยุดใช้ยาต้นเหตุ แต่ผลพิษบางอย่างอาจเกิดขึ้นเป็นการถาวร เช่น ผลพิษทำลายเซลล์ประสาทสมองของยาบ้า เป็นต้น
การแพ้ยา เป็นผลไม่พึงประสงค์ของยาที่เกิดน้อยครั้งและคาดคะเนได้ยาก การแพ้ยานั้นเกิดจากระบบภูมิต้านทานของร่างกายมีปฏิกริยาโต้ตอบต่อยามากเกินไป โดยพยายามใช้กลวิธีต่างๆ กำจัดยาซึ่งเป็นสิ่งแปลกปลอมออกจากร่างกาย แล้วผลสืบเนื่องจากการกำจัดยาโดยภูมิต้านทานนั้นเองทำให้ร่างกายเกิดอาการเจ็บป่วยต่างๆ ผู้ป่วยแต่ละคนจะมีโอกาสแพ้ยาได้มากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับคุณสมบัติทางเคมีของยาที่ใช้นั้นและสถานภาพภูมิต้านทานของผู้ใช้ยา ดังนั้นจึงคาดคะเนได้ยากว่าใครจะแพ้ยาอะไร แต่โดยทั่วไปยาปฏิชีวนะ ยาแก้ปวด-ต้านอักเสบ ยาต้านมะเร็ง มีโอกาสทำให้แพ้ได้มากกว่ายาในกลุ่มอื่นๆ การแพ้ยาอาจมีอาการได้ต่างๆ กัน เช่น เป็นผื่น ปื้นบวม คัน ผิวหนังอักเสบ ลมพิษ หอบหืด ปวดเกร็งท้อง ท้องเดิน ความดันเลือดต่ำ มึนงง หมดสติ เป็นต้น
การติดยา เป็นผลไม่พึงประสงค์ที่ก่อให้เกิดผลเสียทั้งต่อตัวผู้ใช้ยาและสังคม เกิดจากยาทำให้ร่างกายเปลี่ยนแปลงลักษณะการทำงานไปจากเดิม กลายเป็นต้องอาศัยอิทธิพลจากยาในการทำหน้าที่ปกติ ดังนั้นเมื่อใดที่ไม่ได้รับยา จิตใจและร่างกายก็จะโหยหายาดังกล่าวทำให้เกิดอาการอยากยา แสดงอาการขาดยาหรือลงแดง อาการอยากยาทำให้ผู้ติดยาต้องพยายามแสวงหายามาใช้ต่อโดยวิธีต่างๆ ทั้งชอบและมิชอบ ดังนั้นอาจกล่าวว่าการติดยาเป็นสภาวะที่ผู้ใช้ยาอยู่ภายใต้การควบคุมของยาก็ได้

2.2.4 วิธีการสังเกตยาที่เสื่อมคุณภาพ

ปกติบนฉลากยามีรายละเอียดต่างๆ แสดงไว้ เช่น ชื่อการค้าของยา ชื่อตัวยาสำคัญ ปริมาณยา ชื่อบริษัทผู้ผลิตยา ครั้งที่ผลิต วันที่ผลิต (MFG Date) หมายเลขทะเบียนยา ยาบางชนิดที่ผู้ผลิตมีความรับผิดชอบเขาจะใส่วันหมดอายุของยา (Exp.Date) ไว้ด้วย โดยทั่วไปถือว่ายาที่ผลิตมาเกิน 5 ปีแล้ว เป็นยาที่ไม่น่าไว้วางใจ แม้ว่ายานั้นจะยังคงคุณภาพเหมือนเดิมก็ตาม ถึงแม้บางครั้งฉลากยาบอกว่ายายังไม่หมดอายุแต่อย่าเพิ่งเชื่อใจ จงตรวจสอบลักษณะยาทุกครั้งก่อนรับประทานหากพบว่ามีาสิ่งผิดปกติก็ให้สันนิษฐานเบื้องต้นว่า ยานั้นเสื่อมคุณภาพ ไม่ควรรับประทาน นอกจากจะไม่ได้ผลในทางรักษาแล้ว ยังอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพอีกด้วย ขอย้ำว่าอย่ากินยาเสื่อมคุณภาพเป็นอันขาด
ในกรณีที่ยานั้นไม่มีข้อมูลบอกว่าผลิตเมื่อไร หรือหมดอายุเมื่อไร ขอแนะวิธีสังเกตดังนี้
1. ยาเม็ดที่เสื่อมภาพจะแตกร่วน กะเทาะ สีซีด ถ้าเป็นเม็ดเคลือบจะเยิ้มเหนียว
2. ยาแคปซูล ที่หมดอายุจะบวม โป่ง พอง หรือจับกันเป็นก้อน ยาในแคปซูลเปลี่ยนสี
3. ยาน้ำแขวนตะกอน เช่น ยาลดกรด ยาแก้ท้องเสีย ถ้าตะกอนจับตัวเป็นก้อนแข็ง เขย่าแรงๆ เท่าใดยาก็ไม่กระจายตัวแสดงว่ายานั้นเสีย
4. ยาน้ำเชื่อม ถ้าหากขุ่น มีตะกอน เปลี่ยนสี มีกลิ่นบูด หรือเปรี้ยว แสดงว่ายานั้นหมดสภาพแล้ว
5. ยาน้ำอีมัลชั่น เช่น น้ำมันตับปลา เมื่อเขย่าแล้วต้องรวมเข้าเป็นเนื้อเดียวกัน หากแยกชั้นแม้เขย่าแล้วก็ไม่รวมเป็นเนื้อเดียวกัน แสดงว่ายาเสียห้ามใช้เด็ดขาด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น