วันพฤหัสบดีที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2552

การป้องกันการติดยาเสพติด

การป้องกันการติดยาเสพติด
การป้องกันการติดยาเสพติด

เพราะเหตุที่ยาเสพติดทั้งหลายสามารถก่อให้เกิดโทษต่อร่างกายและจิตใจของผู้เสพ บางชนิดอาจก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิตหากเสพไม่ถูกวิธี เช่น เสพยาเกินขนาด ฉีดสารละลายที่มีฟองอากาศเข้าเส้น อีกทั้งผู้เสพติดอาจนำความเดือดร้อนมาสู่ครอบครัว สังคม และประเทศชาติ ดังนั้น เราทุกคนจึงควรห่างไกลจากยาเสพติด ในการนี้มีวิธีที่พึงปฏิบัติเพื่อป้องกันตนเองและผู้อื่นไม่ให้ตกเป็นทาสของยาเสพติดชนิดต่างๆ ได้ดังนี้

1. ไม่ใช้ยารักษาตนเองจนพร่ำเพรื่อ รวมทั้งไม่ใช้ยาชนิดหนึ่งชนิดใดติดต่อกันเป็นระยะเวลา
นานๆ โดยไม่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์หรือเภสัชกร ทั้งนี้เพราะยาบางชนิดเสพติดได้ หากใช้ผิดหลัก
การแพทย์ เช่น ยาแก้ปวด แก้ไอ
2. ไม่ทดลองชิมหรือเสพ เพราะยาบางชนิด เช่น เฮโรอีน แม้ลองเสพเพียง 1-2 ครั้ง ก็อาจทำให้ติดได้
3. ไม่เชื่อคำยั่วยุที่ว่า ยาเสพติดสามารถช่วยให้คลายทุกข์หรือก่อให้เกิดความสนุกแบบต่างๆ ซึ่งผลดังกล่าวอาจเกิดขึ้นชั่วขณะที่ยาออกฤทธิ์หรือขณะลองเสพใหม่ๆ แต่ภายหลังการเสพติดยา
แล้วจะเพิ่มความทุกข์ทรมานมากขึ้นโดยเฉพาะเวลาเกิดอาการขาดยา
4. ศึกษาให้เข้าใจและพร้อมทั้งชี้แจงให้ผู้อื่นเข้าใจ และมีความรู้เรื่องยาเสพติดในแง่มุมต่างๆ ทั้งนี้เพราะ เคยปรากฏว่าผู้เสพติดหลายรายไม่มีความรู้ด้านนี้มาก่อน หรือมีความรู้เกี่ยวกับโทษอันตราย แต่ไม่รู้ว่ายาเสพติดต่างๆ จะแฝงมาในรูปใด มีวิธีสังเกตอย่างไร หรือมีชื่ออื่นที่เรียกกันอย่างไร จึงได้ใช้หรือถูกหลอกให้ใช้ยาเสพติดโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เช่น ไม่รู้ว่าเฮโรอีนที่ยัดไส้บุหรี่ เมื่อจุดสูบแล้วจะทำให้ขี้เถ้าสีดำ ไม่รู้ว่าผงขาวหรือไอระเหยเป็นชื่อของเฮโรอีนด้วย ฯลฯ
5. ทำตนเป็นตัวอย่างที่ดี โดยเฉพาะผู้ที่มีเยาวชนอยู่ในความปกครอง ทั้งนี้เพราะเยาวชนที่ติดยาจำนวนไม่น้อย มีสาเหตุจากการกระทำของผู้ปกครอง เช่น พ่อแม่ไม่มีเวลาให้ลูกเพื่อให้คำปรึกษา ผู้ใหญ่ที่บ้านติดสิ่งเสพติด (เหล้า บุหรี่) ด้วย
6. ทำงาน เล่นกีฬา หรือกิจกรรมสันทนาการต่างๆ ที่น่าสนใจ รวมทั้งสอดส่องดูแลคนในบ้านในปกครอง โดยเฉพาะเด็กให้ทำสิ่งดังกล่าวเพื่อจะได้เพลิดเพลินหรือสนุกสนานในเรื่องต่างๆ ที่ทำแทนการหันไปสนใจยาเสพติด
7. เมื่อมีปัญหาใดๆ ถ้าคิดว่าไม่สามารถแก้ไขเองได้ ควรปรึกษาผู้ใกล้ชิดที่เป็นคนดีหรือพึ่งบริการของสังคมสงเคราะห์ เช่น หน่วยสังคมสงเคราะห์ที่อยู่ตามโรงพยาบาลต่างๆ สภาสังคมสงเคราะห์ หรือใช้ศาสนาเป็นที่พึ่งทางใจเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาแทนที่จะพึ่งยาเสพติด
8. ไม่รับของที่คนแปลกหน้าหยิบยื่นให้ เพราะในนั้นอาจมียาเสพติดชนิดร้ายแรงปนมา ในการนี้ยังอาจช่วยป้องกันการปฏิบัติการอาชญากรรมจากคนแปลกหน้า ซึ่งหลอกให้กินหรือสูบของที่มีพิษอันตรายอื่นๆ เช่น ยานอนหลับ สารพิษ เป็นต้น9. ถ้ารู้ว่าใครผลิต นำเข้า ส่งออก หรือจำหน่ายยาเสพติด ควรแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทางการที่มีหน้าที่ในการปราบปรามยาเสพติด เช่น ตำรวจ เจ้าหน้าที่ศุลกากร เจ้าหน้าที่หน่วยปราบปรามของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (สำนักงาน ป.ป.ส.) หรือแม้กระทั่งแจ้งต่อนายอำเภอ ผู้ใหญ่บ้าน เพื่อดำเนินการกวาดล้างและปราบปรามไม่ให้สิ่งเหล่านี้กระจายไปสู่ชุมชน เพราะต้องถือว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องรับผิดชอบร่วมกันในการกำจัดบุคคลที่ทำผิดกฎหมายให้หมดไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น