วันพฤหัสบดีที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2552

ยาบางชนิดที่ควรรู้จัก

ยาบางชนิดที่ควรรู้จัก
2.3 ยาบางชนิดที่ควรรู้จัก

2.3.1 ยาปฏิชีวนะ

ยาปฏิชีวนะมาจากคำว่า Antibiotic ในภาษาอังกฤษ แปลตรงตัวว่า สารต่อต้านการดำรงชีวิตโดยข้อเท็จจริงหมายถึง สารที่ผลิตตามธรรมชาติโดยสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่เรียกว่า จุลินทรีย์ประเภทหนึ่งแล้วมีอำนาจยับยั้ง หรือทำลายชีวิตของจุลินทรีย์อีกประเภทหนึ่งอันเป็นลักษณะของการรักษาสมดุลย์ระบบนิเวศน์ของสิ่งมีชีวิตชั้นต่ำ เช่น ยาปฏิชีวนะชื่อว่า เพนนิซิลลิน ผลิตโดยเชื้อราชนิดหนึ่งแล้วมีผลทำลายชีวิตของเชื้อแบคทีเรียอื่นที่อยู่ใกล้เคียง มนุษย์นำประโยชน์ตรงนี้มาประยุกต์เป็นยารักษาโรคติดเชื้อ ซึ่งคำว่าโรคติดเชื้อนี้แปลเอาความได้ว่า เป็นความเจ็บป่วยที่เกิดจากการรุกรานของเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย มนุษย์จะคัดแยกสารปฏิชีวนะที่มีฤทธิ์ต่อต้านการดำรงชีวิตของเชื้อต้นเหตุโรคมาปรุงแต่งเป็นรูปแบบยาเตรียมต่างๆ เช่น ยาเม็ด ยาแคปซูล ยาฉีด แล้วให้กับผู้ป่วยเมื่อเกิดโรคติดเชื้อที่คาดว่าหรือพิสูจน์ว่า เกิดจากเชื้อต้นเหตุดังกล่าว ยาปฏิชีวนะที่นิยมใช้กันมักจะมีชื่อทั่วไปที่ลงท้ายด้วยคำว่ามัยซิน เช่น อีริโทรมัยซิน คลาริโทรมัยซิน เจนตามัยซิน ลงท้ายด้วยคำว่าซิลลิน เช่น เพนนิซิลลินแอมพิซิลลิน อะม็อกซิซิลลิน ลงท้ายด้วยคำว่าซัยคลิน เช่น เตตร้าซัยคลิน ด้อกซี่ซัยคลิน เป็นต้น แต่มียาปฏิชีวนะหลายตัวที่อยู่นอกเหนือกฎเกณฑ์นี้ เช่น คลอแรมเฟนิคอล เซฟาโซลิน ไรแฟมปิซิน เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีศัพท์อีกหลายคำที่เรามักจะได้ยินได้ฟังหรือพูดกัน เช่น ยาต้านจุลชีพ ยาต้านแบคทีเรีย ยาต้านเชื้อรา ยาต้านไวรัส ยาฆ่าเชื้อ ยาแก้อักเสบ ศัพท์เหล่านี้เป็นคำที่มาจากการมองยารักษาโรคติดเชื้อในแง่มุมที่ต่างกัน ยาต้านจุลชีพเป็นคำรวมที่หมายถึงยาต่อต้านการดำรงชีวิตของเชื้อโรคซึ่งได้มาจากแหล่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นจากธรรมชาติหรือจากการสังเคราะห์ทางเคมีก็ตาม ยาต้านแบคทีเรีย ยาต้านเชื้อรา ยาต้านไวรัส หมายความถึงยาต่อต้านการดำรงชีวิตของเชื้อต้นเหตุโรคส่วนใหญ่ซึ่งแยกเป็นประเภทต่างๆ ตามชื่อที่บ่งบอก ยาฆ่าเชื้อหมายถึงยาต่อต้านการดำรงชีวิตของ เชื้อโรคที่ใช้นอกร่างกายและเป็นคำหนึ่งที่คนทั่วไปมักใช้เรียกแทนยารักษาโรคติดเชื้อ ยาแก้อักเสบเป็นอีกคำหนึ่งที่คนทั่วไปใช้เรียกแทนยาปฏิชีวนะซึ่งคำนี้สื่อความหมายที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากชื่อของโรคติดเชื้อส่วนใหญ่มักจะเรียกตามชื่อเนื้อเยื่อหรืออวัยวะที่มีการติดเชื้อแล้วตามด้วยคำว่าอักเสบ เช่น หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ โพรงจมูกอักเสบ เป็นต้น ทำให้คนทั่วไปจึงเรียกยารักษาโรคติดเชื้อว่า ยาแก้อักเสบ ทั้งที่โดยแท้จริงแล้วยาปฏิชีวนะไม่มีผลแก้ไขตรงจุดการอักเสบนี้ ยาเพียงแต่ทำลายเชื้อโรคที่เป็นสาเหตุอย่างหนึ่งของอาการอักเสบ โดยข้อเท็จจริงแล้วการอักเสบเป็นอาการบาดเจ็บที่เกิดจากความบอบช้ำของเนื้อเยื่ออันมีได้หลายสาเหตุ เช่น กล้ามเนื้ออักเสบจากการฉีกขาดของกล้ามเนื้อ
ไขข้ออักเสบจากการสะสมของกรดยูริค เป็นต้น ดังนั้นคำว่ายาแก้อักเสบ ควรใช้กับยาที่รักษาอาการอักเสบดังกล่าวจริงๆ ไม่ควรใช้กับยารักษาโรคติดเชื้อเพราะจะทำให้เข้าใจจุดประสงค์ของการใช้ยาผิดไปจากความเป็นจริง อย่างไรก็ตาม แม้การเรียกชื่อจะต่างกันแต่ยาเหล่านี้มีวัตถุประสงค์ในการใช้เหมือนกันคือ ทำลายหรือยับยั้งการเจริญของเชื้อโรคที่รุกรานให้ลดน้อยอยู่ในวิสัยที่กลไกป้องกันตนของมนุษย์ เช่น ภูมิต้านทาน สามารถกำจัดมันได้ และในบรรดาจุลินทรีย์ที่สามารถทำลายโดยการใช้ยาปฏิชีวนะนั้น ได้แก่ แบคทีเรียส่วนใหญ่ เชื้อราหลายชนิด และไวรัสบางชนิด

เหตุใดจึงเกิดโรคติดเชื้อและยาปฏิชีวนะรักษาโรคดังกล่าวได้อย่างไร?

ต้องขอเน้นในชั้นต้นว่ายาปฏิชีวนะสามารถรักษาโรคที่เกิดจากการติดเชื้อเท่านั้น แต่ในสภาพปัจจุบันปรากฏว่าประชาชนใช้ยาปฏิชีวนะกันอย่างพร่ำเพรื่อ หรือโดยไม่จำเป็น หรือทั้งที่ความเจ็บป่วยนั้นไม่เกี่ยวกับการติดเชื้อ จนทำให้มูลค่ายาปฏิชีวนะที่ใช้แต่ละปีสูงมากจนอยู่ในอันดับต้นๆ ของรายการยาที่ใช้ทั้งหมด จุลินทรีย์นั้นมีอยู่ทุกหนแห่งในสิ่งแวดล้อมทั้งในอากาศ อาหาร น้ำ และดิน ตลอดจนในร่างกายของมนุษย์เองโดยเฉพาะตามบริเวณผิวหนัง ช่องปาก ทางเดินหายใจส่วนบน ลำไส้ใหญ่และอวัยวะเพศ สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กเหล่านี้ (เช่น แบคทีเรีย ไวรัส เชื้อรา เป็นต้น) มักจะอยู่รวมกับมนุษย์ในภาวะสมดุลย์และไม่ก่อให้เกิดโรค แต่ในโอกาสที่สมดุลนี้เสียไปเนื่องจากมนุษย์เองมี ภูมิต้านทานลดลงหรือจุลินทรีย์ทวีจำนวนและความร้ายแรงมากขึ้น เมื่อนั้นจะเป็นหนทางนำไปสู่การติดเชื้อ ซึ่งจุลินทรีย์จะรุกรานเข้าในเนื้อเยื่อต่างๆ ทวีจำนวนมากขึ้นและก่อให้เกิดผลเสียหรืออันตรายต่อมนุษย์
อย่างไรก็ดีร่างกายมนุษย์จะมีกลไกต่างๆ ที่ใช้ป้องกันตนเองจากการรุกรานของจุลินทรีย์ กลไกที่สำคัญนั้นได้แก่ ผิวหนังซึ่งจะเป็นเกราะป้องกันการแทรกซึมเข้าของเชื้อโรค สารขับหลั่งและจุลินทรีย์บางประเภทบนผิวหนังซึ่งจะคอยยับยั้งการเจริญของเชื้อโรค สารขับหลั่งในทางเดินอาหาร ทางเดินหายใจและทางเดินระบบสืบพันธุ์จะคอยดักจับ ทำลาย หรือยับยั้งการเจริญของเชื้อโรค การไอ การกลืนและการบีบตัวของลำไส้หรือเซลล์ที่คอยพัดโบกทางเดินของระบบต่างๆ จะพยายามกำจัดสิ่งแปลกปลอมหรือเชื้อโรคออกจากร่างกาย เซลล์ชนิดหนึ่งในอวัยวะและเนื้อเยื่อต่างๆ จะทำตนเสมือนหนึ่งพนักงานเทศบาลคอยดักจับและย่อยสลายเชื้อโรคหรือเศษหักพังของเซลล์ กระบวนการอักเสบก็เป็นการตอบสนองของร่างกายต่อสิ่งแปลกปลอม สารเคมี หรือแม้แต่การบอบช้ำของเนื้อเยื่อ การอักเสบจะจำกัดหรือทำลายตัวต้นเหตุออกไปเพื่อให้เนื้อเยื่อเหล่านั้นสามารถฟื้นฟูกลับสู่สภาพปกติได้
ดังนั้น จะเห็นได้ว่าในสภาวะปกติของร่างกายแล้วมนุษย์มีวิธีการต่อสู้โดยธรรมชาติต่อเชื้อโรคอยู่แล้วหลายประการ
ในบางกรณี อาจจะมีปัจจัยบางอย่างที่บั่นทอนกลไกป้องกันตนดังกล่าวของร่างกายซึ่งทำให้เรามีโอกาสพ่ายแพ้ต่อจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรคได้ ปัจจัยเหล่านี้ได้แก่
- ภาวะเม็ดเลือดขาวลดต่ำ และความบกพร่องอื่นๆ เกี่ยวกับระบบเลือด
- ภาวะทุพโภชนาการหรือขาดอาหาร
- สุขภาพพลานามัยที่ทรุดโทรม
- โรคเบาหวาน หรือโรคเรื้อรังอื่นๆ
- วัยสูงอายุ
- การกดระบบภูมิต้านทานจากยาบางประเภท เช่น ยากดภูมิต้านทาน ยารักษามะเร็ง
และสารประกอบประเภทสเตอรอยด์ เป็นต้น
- การทำลายจุลินทรีย์ปกติในช่องทางเดินของระบบอวัยวะต่างๆ โดยการใช้ยาต้านจุลชีพอื่น
- พฤติกรรมการใช้ยา
ปัจจัยข้างต้นทั้งหลายที่กล่าวมาจะทำให้มนุษย์มีโอกาสเกิดโรคติดเชื้อได้ง่ายขึ้น และเมื่อเกิดเป็นแล้วการรักษาให้หายขาดหรือการฟื้นตัวจะใช้ทั้งความพยายามและเวลามากกว่าปกติ เมื่อเกิดโรคติดเชื้อ เชื้อต้นเหตุโรคจะรุกรานเข้าสู่ร่างกายผู้ป่วยแล้วเจริญและแบ่งตัวขยายพันธุ์โดยเบียดบังปัจจัยดำรงชีวิตจากร่างกายผู้ป่วย ทั้งยังผลิตสารพิษออกมาทำลายเนื้อเยื่อผู้ป่วยอีกด้วย ผลประการหนึ่งจากการติดเชื้อคือทำให้เกิดการอักเสบของเนื้อเยื่อในบริเวณที่เชื้ออาศัยอยู่ เกิดอาการบวม แดง ร้อน และเนื้อเยื่อเสื่อมทำลายที่บริเวณดังกล่าว นอกจากนั้นมักมีอาการไข้ร่วมด้วย ยาปฏิชีวนะรักษาโรคติดเชื้อโดยยับยั้งการเจริญหรือการขยายพันธุ์ของเชื้อต้นเหตุโรค ยาปฏิชีวนะแต่ละตัวจะเลือกออกฤทธิ์โจมตีเซลล์เชื้อโรคตรงจุดที่แตกต่างจากเซลล์ของมนุษย์ หรืออาจจะกล่าวว่ายาปฏิชีวนะมีพิษเฉพาะต่อเชื้อโรคโดยไม่มีพิษหรือมีพิษน้อยต่อเซลล์ร่างกายผู้ป่วย ส่วนใหญ่ยาปฏิชีวนะจะลดจำนวนเชื้อโรคลงจนเหลือน้อยและอยู่ในวิสัยที่ระบบภูมิต้านทานของร่างกายจะทำลายเชื้อโรคจำนวนนั้นได้ ดังนั้นภูมิต้านทานของร่างกายจึงมีบทบาทสำคัญในการรักษาโรคติดเชื้อ จะเห็นได้ว่าผู้ที่ภูมิต้านทานต่ำหรือบกพร่อง เช่น ผู้ป่วยโรคเอดส์ (AIDS) ผู้ที่ใช้ยากดภูมิต้านทาน หรือผู้ที่ขาดสารอาหารเรื้อรังเมื่อเกิดการติดเชื้อจึงรักษาให้หายขาดได้ยาก
ผลเสียและอันตรายจากการใช้ยาปฏิชีวนะ

เนื่องจากยาปฏิชีวนะเป็นสารแปลกปลอมที่เรานำเข้าสู่ร่างกาย ดังนั้น จึงก่อให้เกิดผลเสียและอันตรายต่อร่างกายได้หลายประการ มีทั้งที่เป็นผลเสียที่เกิดจากคุณสมบัติเฉพาะของยาปฏิชีวนะ แต่ละตัวและที่เป็นผลเสียโดยรวมของยาปฏิชีวนะทั้งหมด ผลเสียเฉพาะตัวนั้นมีรายละเอียดปลีกย่อยมากมาย แต่ผลเสียโดยรวมนั้นมีอยู่ 3 ประการ คือ
1. การแพ้ยา เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นได้จากการใช้ยาปฏิชีวนะแทบทุกตัว แต่มีโอกาสมากบ้างน้อยบ้างแล้วแต่กรณี การแพ้ยาเป็นผลจากการตอบโต้ของภูมิต้านทานร่างกายต่อยาปฏิชีวนะอย่างเกินเหตุ มีอาการได้ตั้งแต่ขั้นเบาเช่น มีผื่นตามผิวหนัง เป็นไข้ ลมพิษ เป็นต้น จนถึงขั้นสาหัสซึ่งเป็นการแพ้อย่างฉับพลันรุนแรงที่เกิดขึ้นกับระบบต่างๆ ของร่างกาย จนทำให้เกิดสภาวะช็อกและเสียชีวิตได้ โดยทั่วไปถ้าหากเกิดอาการแพ้ที่อาการรุนแรงกว่าการมีผื่นตามผิวหนังแล้วมักจะหยุดการใช้ยาปฏิชีวนะนั้นหรือเปลี่ยนไปใช้ยาอื่นที่มีผลรักษาเหมือนกันแทน ปัจจุบันการแพ้ยาเป็นปัญหาสำคัญประการหนึ่งของการรักษาโรคติดเชื้อ เนื่องจากเรามีโอกาสถูกกระตุ้นให้สร้างภูมิต้านทานต่อยาปฏิชีวนะได้โดยไม่รู้ตัว เช่น จากการบริโภคผลิตภัณฑ์นมหรือเนื้อสัตว์ที่มียาปฏิชีวนะปนเปื้อนอยู่
2. การดื้อยา ในกรณีนี้หมายถึงการดื้อของเชื้อโรคต่อยา เป็นภาวะที่เชื้อโรคสามารถ
ทนทานต่อฤทธิ์ของยาซึ่งเคยใช้ได้ผลกับมันมาก่อน อาจเกิดขึ้นอย่างช้าๆ หรือรวดเร็วก็ได้ในระหว่างการใช้ยาปฏิชีวนะโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่ใช้ยาติดต่อกันนานๆ ในทางปฏิบัติเราควรจะตั้งข้อสังเกตว่าเชื้อโรคเกิดดื้อยาถ้าพบว่าเมื่อใช้ยาปฏิชีวนะแล้วอาการของโรคติดเชื้อไม่ดีขึ้น หรือกลับมีสภาพเลวลง ส่วนใหญ่การดื้อยาเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมของเชื้อโรคทำให้มันกลายพันธุ์เป็นชนิดที่สามารถทนทานต่อยาได้ และโดยทั่วไปเชื้อโรคซึ่งดื้อต่อยาปฏิชีวนะตัวใดตัวหนึ่งมักจะพลอยดื้อต่อยาปฏิชีวนะอื่นที่อยู่ในประเภทเดียวกันหรือมีสูตรโครงสร้างคล้ายคลึงกันซึ่งทำให้จำเป็นต้องเปลี่ยนไปใช้ยาปฏิชีวนะประเภทอื่นหรือที่มีสูตรโครงสร้างต่างออกไป
3. การติดเชื้อแทรกซ้อน เป็นสภาวะการติดเชื้อที่เกิดขึ้นเมื่อสมดุลย์ของจุลินทรีย์ ซึ่งมีอยู่ตามปกติในร่างกายถูกกระทบกระเทือนหรือทำลายไป ในสภาพปกติจุลินทรีย์เหล่านี้บางชนิดมีประโยชน์โดยทำหน้าที่เหมือนองครักษ์พิทักษ์ร่างกายคอยปรามจุลินทรีย์ชนิดอื่นที่ก่อโรคให้สงบ การใช้ยาปฏิชีวนะนั้น ในบางกรณีนอกจากจะทำลายเชื้อต้นเหตุโรคแล้วยังพลอยทำให้จุลินทรีย์ชนิดนี้ถูกทำลายไปด้วย ซึ่งทำให้จุลินทรีย์ชนิดที่ทนทานต่อยาซึ่งหลงเหลืออยู่มีโอกาสแบ่งตัวขยายพันธุ์มากขึ้นและก่อให้เกิดการติดเชื้อชนิดใหม่ การติดเชื้อแทรกซ้อนอาจสังเกตได้จากอาการของโรคที่เปลี่ยนไปจากลักษณะเดิมที่เคยเป็นอยู่แต่แรก เช่น การติดเชื้อเดิมทำให้เจ็บคอ แต่ครั้นเมื่อใช้ยาปฏิชีวนะไประยะหนึ่งอาการเจ็บคออาจทุเลาลงแต่กลับมีอาการท้องเสียรุนแรงหรืออักเสบในช่องคลอด เป็นต้น สภาวะการติดเชื้อแทรกซ้อนนี้อาจเกิดได้ง่ายเมื่อใช้ยาปฏิชีวนะที่มีขอบเขตทำลายเชื้อกว้างขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่ใช้เป็นเวลานาน และมักเป็นปัญหาต่อการรักษาเนื่องจากเชื้อต้นเหตุโรคติดเชื้อใหม่นั้นมักเป็นสายพันธุ์ที่ดื้อต่อยาปฏิชีวนะที่ใช้กันทั่วไป วิธีที่ควรปฏิบัติเมื่อเกิดการติดเชื้อแทรกซ้อนคือ หยุดใช้ยาปฏิชีวนะที่กำลังใช้อยู่พร้อมกับพยายามจำแนกเชื้อที่เป็นต้นเหตุการติดเชื้อแทรกซ้อนนั้นให้ถูกต้อง แล้วรีบรักษาด้วยยาปฏิชีวนะอื่นที่สามารถทำลายเชื้อดังกล่าวได้ดี

หลักการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างมีประสิทธิภาพ

การใช้ยาปฏิชีวนะรักษาโรคอย่างมีประสิทธิภาพเป็นสิ่งที่ต้องอาศัยความรู้และการปฏิบัติอย่างถูกต้อง ซึ่งสรุปเป็นหลักการทั่วไปได้ดังต่อไปนี้
1. ประการแรกต้องแน่ใจว่าความเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นมีสาเหตุจากการติดเชื้อ สิ่งนี้อาศัยการ
วินิจฉัยด้วยประสบการณ์ของแพทย์ผู้ทำการรักษาซึ่งจะสังเกตจากตำแหน่งของการเกิดโรค ลักษณะอาการของโรค และยืนยันด้วยผลพิสูจน์ทางห้องปฏิบัติการจุลชีววิทยาว่ามีจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรคอยู่แถวบริเวณที่เกิดความเจ็บป่วย เช่น ตรวจเพาะเชื้อจากเสมหะ เลือด หรือเนื้อเยื่อที่บาดเจ็บ
2. ควรวินิจฉัยว่าจุลินทรีย์ที่เป็นสาเหตุของโรคติดเชื้อนั้นคืออะไร ส่วนใหญ่แพทย์มักสรุปเชื้อ
ต้นเหตุโรคจากข้อมูลทางระบาดวิทยาของโรค และถ้าจะให้สมบูรณ์แบบควรตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการว่า เชื้อต้นเหตุโรคดังกล่าวคือเชื้ออะไรและถูกทำลายด้วยยาปฏิชีวนะชนิดใดบ้าง เนื่องจากเชื้อโรคแต่ละชนิดมักจะสยบต่อยาปฏิชีวนะต่างชนิดกัน เชื้อโรคบางชนิดหรือบางสายพันธุ์จะทนทานต่อยาปฏิชีวนะบางตัวซึ่งถ้าหากไม่ทราบเชื้อต้นเหตุโรคแล้วใช้ยาโดยการคาดคะเน อาจเลือกยาผิด ทำให้การรักษาอาจล้มเหลวและเกิดผลเสียต่อผู้ป่วยได้
3. เมื่อทราบเชื้อต้นเหตุโรค แล้วต้องเลือกใช้ยาปฏิชีวนะให้ถูกต้องเหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละ
รายไป ไม่จำเป็นว่ายาที่เลือกใช้จะต้องเป็นยาที่มีอำนาจทำลายเชื้อต้นเหตุโรคได้สูงสุด เนื่องจากยังมีปัจจัยด้านอื่นที่เป็นตัวช่วยกำหนดอีกหลายประการ อาทิเช่น กำลังภูมิต้านทานโรคของผู้ป่วยว่ามีมากน้อยเพียงใด ผู้ป่วยมีความผิดปกติหรือพยาธิสภาพอื่น เช่น โรคเกี่ยวกับตับไตร่วมอยู่หรือไม่ ผู้ป่วยแพ้ยาปฏิชีวนะตัวใดบ้าง แม้แต่สถานภาพของผู้ป่วยว่าเป็นคนไข้นอกหรือคนไข้ใน หรือราคายา ก็อาจมีผลกระทบต่อการเลือกใช้ยาปฏิชีวนะได้เช่นกัน ยาที่เลือกใช้ควรจะเป็นยาตัวที่พิจารณาจากองค์ประกอบและปัจจัยส่งเสริมทุกประการแล้วเล็งเห็นว่าจะยังประโยชน์สูงสุดต่อการรักษาโรคติดเชื้อของผู้ป่วยเฉพาะรายนั้น
4. ใช้ยาที่เลือกสรรแล้วด้วยแผนการให้ยาที่ถูกต้อง กล่าวคือต้องใช้ยาด้วยวิธี ขนาดยาและ
กำหนดเวลาที่เหมาะสม เรื่องนี้เป็นการประยุกต์ทั้งศาสตร์และศิลป์ทางเวชบำบัดที่แพทย์ต้องนำมาใช้ร่วมกัน เนื่องจากโรคติดเชื้อแต่ละชนิดมักจะมีแผนการให้ยาที่แตกต่างกันไปตามความสาหัสของโรค ดังนั้น จึงไม่อาจกำหนดตายตัวได้ว่ายาปฏิชีวนะตัวหนึ่งต้องใช้วิธี ขนาดยา และกำหนดเวลาอย่างไร แต่อาจจะยึดเป็นหลักเบื้องต้นว่าไม่ควรหยุดการให้ยาในทันทีที่อาการของโรคหายไป ควรใช้ยาต่อไปอีกสักระยะหนึ่งเพื่อให้แน่ใจว่าเชื้อต้นเหตุโรคในร่างกายได้ถูกกำราบโดยสิ้นเชิงแล้ว เช่น การติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจส่วนบนชนิดไม่รุนแรงควรใช้ยาปฏิชีวนะประมาณ 5-7 วัน
5. หลีกเลี่ยงปฏิกริยาต่อกันของยาปฏิชีวนะกับยาอื่นที่ได้รับในเวลาเดียวกัน หลักการข้อนี้
เป็นสิ่งที่มักจะถูกเมินอยู่เป็นนิจเนื่องจากเป็นสิ่งที่โดยทั่วไปแล้วไม่แสดงผลเสียให้เห็นอย่างชัดเจน และในหลายกรณีก็ไม่อาจคาดคะเนได้ล่วงหน้า อย่างไรก็ดีการรักษาโรคในปัจจุบันมักใช้ยาร่วมกันหลายตัว ซึ่งยาที่ใช้ดังกล่าวอาจมีปฏิกิริยาต่อกันและมีผลเสียร้ายแรงต่อตัวผู้ป่วยได้ เช่น การใช้ยาปฏิชีวนะที่มีผลพิษต่อไตร่วมกับยาอื่น ซึ่งมีพิษต่อไตจะเสริมฤทธิ์กันและอาจทำให้ผู้ป่วยบางรายเกิดอาการพิษต่อไตรุนแรงจนถึงขั้นไตวาย ดังนั้น ถ้าเป็นไปได้ควรจะต้องทราบปฏิกิริยาต่อกันที่สำคัญของยาปฏิชีวนะและหาทางหลีกเลี่ยงเสมอ

ข้อแนะนำเกี่ยวกับการใช้ยาปฏิชีวนะ

1. เมื่อรับประทานยาปฏิชีวนะต้องรับประทานให้ครบขนาด และกำหนดเวลาอย่างเคร่งครัด
เนื่องจากการทำลายเชื้อโรคนั้นต้องให้เชื้อโรคในร่างกายสัมผัสกับยาในระดับที่สูงพออย่างต่อเนื่อง เมื่อเรารับประทานยาขาดหรือไม่ตรงเวลาจะทำให้ระดับยาในเลือดไม่สูงพอจะทำลายเชื้อโรค ถ้าเรารับประทานยาไม่ต่อเนื่องจนครบกำหนดเชื้อโรคส่วนที่ยังเล็ดลอดอยู่จะขยายพันธุ์เพิ่มขึ้นอีก โรคติดเชื้อก็จะไม่หาย มิหนำซ้ำในบางกรณีเชื้อโรคที่เล็ดลอดไปได้จะคุ้นเคยกับยาและกลายพันธุ์ไปเป็นเชื้อโรคที่ดื้อยา ทำให้เกิดปัญหาในการรักษาเมื่อเกิดโรคติดเชื้อเดิมอีกครั้ง
2. เมื่อเกิดอาการที่สงสัยว่าเป็นการแพ้ยาให้รีบปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ ในกรณีที่มีอาการแพ้
รุนแรงควรหยุดใช้ยาทันทีแล้วรีบนำยาที่ใช้ขณะนั้นทั้งหมดไปปรึกษาแพทย์ผู้รักษาหรือเภสัชกร เมื่อทราบว่าแพ้ยาใดแล้วจะต้องจดจำไว้เพื่อหลีกเลี่ยงยาดังกล่าวในการรักษาโรคครั้งต่อๆ ไป
3. ไม่ควรซื้อยาปฏิชีวนะเก็บไว้ใช้มากๆ เนื่องจากการติดเชื้อนั้นจะต้องใช้ยาให้เหมาะกับ
เชื้อต้นเหตุซึ่งในแต่ละครั้งอาจแตกต่างกันไป จึงควรพบแพทย์หรือปรึกษาเภสัชกรทุกครั้งที่สงสัยว่าเป็นโรคติดเชื้อเพื่อจะได้รับยาปฏิชีวนะที่ถูกต้อง เช่นเดียวกันไม่ควรแบ่งปันยาปฏิชีวนะของตนให้ผู้อื่นที่เป็นโรคติดเชื้อเนื่องจากอาจเกิดจากเชื้อต้นเหตุต่างชนิดกับที่ตัวเองเป็นอยู่
4. ไม่ควรใช้ยาปฏิชีวนะที่สงสัยว่าเสื่อมหรือหมดอายุแล้ว อาจสังเกตได้จากวันหมดอายุ ซึ่ง
พิมพ์อยู่บนแผง กล่อง หรือขวดยา หรือลักษณะโดยทั่วไปของยา เช่น เม็ดยาชื้น สีซีดจาง หรือแตกร้าว เป็นต้น ถ้าเป็นยาปฏิชีวนะชนิดผงแห้งที่ต้องละลายน้ำก่อนใช้ควรเก็บยาที่ละลายแล้วไว้ในตู้เย็นและใช้ให้หมดภายในเวลา 7 วัน เนื่องจากยาน้ำดังกล่าวมักไม่คงตัวอยู่นาน
5. ยาปฏิชีวนะบางอย่างมีข้อควรระวังพิเศษในการใช้ เช่น ทำให้คลื่นไส้อาเจียน มีผลพิษต่อไต มีปฏิกริยาต่อกันกับยาอื่นแล้วอาจทำให้เกิดอันตรายรุนแรง เป็นต้น กรณีของยาเหล่านี้เภสัชกรจะให้คำชี้แจงแก่ผู้ใช้ยาเสมอถึงข้อควรปฏิบัติเพื่อหลีกเลี่ยง ตัวอย่างของกรณีดังกล่าว เช่น การใช้ยาปฏิชีวนะอีริโทรมัยซินหรือยาต้านเชื้อราคีโตโคนาโซลมีผลลดความสามารถในการทำลายยาของตับ ถ้าหากใช้ร่วมกับยาแก้แพ้ชนิดไม่ทำให้ง่วงบางตัว เช่น เทอร์เฟนนาดีนหรือแอสเตมิโซลจะมีผลให้ยาแก้แพ้ดังกล่าวถูกทำลายน้อยลงจนเป็นเหตุให้เกิดผลพิษต่อหัวใจ โดยทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ซึ่งมีอันตรายร้ายแรง เป็นต้น
จากที่กล่าวมาทั้งหมดจะเห็นว่าการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างถูกหลักการทำได้ยากกว่ายารักษาโรคทั่วไป เนื่องจากมีหลายประเด็นที่ต้องอาศัยความรู้และความเชี่ยวชาญเฉพาะ ดังนั้น เมื่อเกิดความเจ็บป่วยที่สงสัยว่าเกิดจากการติดเชื้อ อย่าได้ลองรักษาตัวเองด้วยการซื้อยาปฏิชีวนะมารับประทานโดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเสียก่อน เพราะถ้าโชคดีความเจ็บป่วยนั้น อาจจะบรรเทาลงได้ แต่ถ้าโชคร้ายความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อตัวผู้ป่วยเองจะมากกว่าที่คาดคิดไว้ เช่น โรคลุกลามจนถึงขั้นรุนแรง เกิดการติดเชื้อแทรกซ้อน เป็นต้น ผลเสียจากการใช้ยาปฏิชีวนะไม่ถูกหลักการยังมีผลกระทบต่อสังคมด้วย เช่น กระตุ้นให้เกิดเชื้อสายพันธุ์ที่ดื้อยาได้อย่างรวดเร็ว ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการรักษาโรคติดเชื้อนั้นกับผู้ป่วยรายอื่นๆ

2.3.2 ยากลุ่มสเตียรอยด์ (Steriods)

ปัจจุบันข่าวสารส่วนใหญ่ที่ออกมาทำให้ยากลุ่มสเตียรอยด์ถูกมองเหมือนเป็นยาพิษ ยังคงเป็นเพราะว่ามีการนำมาใช้กันมากอย่างพร่ำเพรื่อเหมือนเป็นยาครอบจักรวาลทั้งในยาแผนปัจจุบันและยาแผนโบราณ เช่น ใช้เป็นยาเพิ่มความอ้วน ยาลดอาการอักเสบ ปวดข้อกระดูก
สเตียรอยด์ เป็นชื่อเรียกของกลุ่มฮอร์โมนที่ถูกสร้างจากต่อมหมวกไต ซึ่งที่ต่อมนี้จะสร้างฮอร์โมนแอนโดรเจน ( ฮอร์โมนชาย ) ด้วย
สเตียรอยด์ ถูกสร้างขึ้นจากสารตั้งต้นที่เรียกว่า คอเลสเตอรอล Cholesterol (จะเห็นว่า คอเลสเตอรอล ไม่ได้มีข้อเสียมากอย่างที่คิด )
สเตียรอยด์ที่ถูกสร้างขึ้น มีหลักๆ 2 ชนิด คือ Cortisol และ Aldosterone
Cortisol ถูกสร้างวันละประมาณ 20 -30 มิลลิกรัม ถูกหลั่งออกมาเป็นจังหวะไม่สม่ำเสมอ โดยสูงสุดตอนตื่นนอน และต่ำสุดตอนนอน เรียกว่า Diurnal Pattern นอกจากนี้ ภาวะที่ร่างกายมีความเครียด กดดันทั้งทางกายและจิตใจ เช่น มีบาดแผล ได้รับการผ่าตัด ออกกำลังกาย ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ เป็นไข้ วิตกกังวล ซึมเศร้า เป็นต้น ร่างกายจะหลั่ง Cortisol มากขึ้นเพื่อควบคุมความกดดันเหล่านี้ ดังนั้นสเตียรอยด์จึงมีประโยชน์ต่อร่างกายมาก เชื่อว่าถ้าไม่มีสเตียรอยด์เลย สามารถถึงตายได้ทีเดียว จะขออธิบายสรุปสั้นๆ ถึงผลของ สเตียรอยด์ต่อร่างกายดังนี้
- มีผลต่อเมตาบอลิซึมของคาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมัน
- ผลต่อความสมดุลของเกลือแร่ อิเล็กโทรไลต์ และน้ำ
- ฤทธิ์บรรเทาการอักเสบ
- ฤทธิ์กดภูมิคุ้มกัน
- ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด
- ผลต่อเลือด
- ผลต่อการเจริญเติบโต การแบ่งเซลล์ กล้ามเนื้อ กระดูก
จากต้นแบบ Cortisol มนุษย์เราได้พัฒนาความแรงของ Cortisol เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และมีฤทธิ์เฉพาะเจาะจงกับโรคบางอย่างที่ต้องการมากขึ้น
ตัวอย่างยากลุ่มสเตียรอยด์
Hydrocortisone Prednisolone Triamcinolone
Fluocinolone Betamethasone Clobetasol
Desoximetasone Prednicarbate Mometasone
Beclomethasone Budesonide Dexamethasone
ถ้าสังเกตจากชื่อยาจะเห็นว่า มักลงท้ายด้วย -one หรือ -ol เสมอ ยกเว้นบางตัว ดังนั้นจึงพอใช้เป็นข้อสังเกตว่ายาตัวไหนเป็นสเตียรอยด์หรือไม่

การใช้ยาสเตียรอยด์รักษาโรค

การใช้ยาสเตียรอยด์ มักจะถูกใช้รักษาอาการเจ็บป่วย ซึ่งเมื่อรักษาด้วยยามาตรฐานอื่นๆ เบื้องต้นแล้วไม่ดีขึ้น หรือควบคุมไม่ได้จึงจำเป็นต้องใช้สเตียรอยด์ ไอ หอบ ภูมิแพ้ โรคข้อรูมาตอยด์ อาการอักเสบรุนแรง โรคมะเร็ง เช่น มะเร็งเต้านม ป้องกันการอาเจียนในผู้ที่ได้รับยาต้านมะเร็งอื่นๆ อีกหลายอย่าง
โทษจากการใช้ยาสเตียรอยด์ อาจเกิดจากสาเหตุหลายประการ เช่น ใช้ยาผิดขนาด ใช้โดยไม่จำเป็นต้องใช้ ใช้ต่อเนื่องกันยาวนาน รับประทานเวลาท้องว่าง หรือทายาเป็นบริเวณกว้างมากๆ เป็นเวลานานๆ ตัวยาถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้
การใช้นานๆ อาจก่อให้เกิดผลต่อร่างกายได้หลายแบบดังต่อไปนี้
- ยามีฤทธิ์กดการทำงานของต่อมหมวกไต ห้ามหยุดยาอย่างทันที หลังจากใช้เป็นระยะเวลานาน
- เกิดลักษณะของผู้ที่ได้รับยาสเตียรอยด์นานๆ ที่เรียกว่า Cushing's Syndrome คือ มีอาการบวม ท้องลาย สิว ผิวเข้มขึ้น ความดันโลหิตสูง อ่อนแรง เพลีย ขนขึ้นตามตัว ฯลฯ
- ติดเชื้อง่ายขึ้น เพราะยากดระบบภูมิคุ้มกันที่คอยต่อต้านเชื้อโรค
- กดการเจริญเติบโตในเด็ก
- เกิดความดันโลหิตสูง ระดับโปแตสเซียมในเลือดต่ำ
- กล้ามเนื้ออ่อนแรง ผิวหนังบาง ลีบ
- เกิดภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำ ภาวะกระดูกพรุน
- ความดันในลูกตาเพิ่มทำให้เป็นต้อหิน
- เลนส์กระจกตาขุ่น เกิดต้อกระจก
- ภาวะไขมันในเลือดสูง
- ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง
- อารมณ์และพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงง่าย
- คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ทางเดินอาหารระคายเคือง เกิดแผลในกระเพาะอาหาร
- เกิดเชื้อราในช่องปากง่ายขึ้น
- ถ้าใช้ยามานานแล้วหยุดยาทันทีเกิดอาการถอนยา ทำให้เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนล้า ปวดศีรษะ มีไข้ ปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ น้ำหนักตัวลดลง ความดันโลหิตต่ำ
- รบกวนผลการทดสอบทางห้องปฏิบัติการ เช่น กดผลการทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง
- อื่นๆ ได้แก่ แผลหายช้า เกิดห้อเลือด ฟกช้ำง่าย มีไขมันสะสมมากที่ตับ ตับอ่อนอักเสบ มีขนขึ้นมาก ประจำเดือนผิดปกติ หรืออาจไม่มีประจำเดือน ลดความรู้สึกทางเพศในผู้ชาย
ดังนั้น ตามความเห็นแล้ว ถ้าจำเป็นต้องใช้ท่านคงต้องถามแพทย์หรือเภสัชกรที่จ่ายยาให้ว่า
1. จำเป็นต้องใช้นานแค่ไหน
2. เหตุผลที่ต้องใช้คืออะไร
3. มีความจำเป็นต้องใช้เป็นอันดับแรกเพราะไม่มียาอื่นรักษาหรือไม่

2.3.3 ยาบรรเทาอาการอักเสบ

มาจากภาษาอังกฤษว่า Non-Steroidal Anti-Inflammatory Drugs หรือเขียนย่อว่า NSAIDs
ยาลดการอักเสบ หมายถึงยาที่ลดอาการ ปวด บวม แดง ร้อน ( ซึ่งเป็นอาการที่บ่งบอกถึงการอักเสบ ) ไม่ใช่ยาฆ่าเชื้อ หรือ ยาแก้อักเสบ ตัวอย่างของโรคประเภทนี้ คือ โรคข้อเสื่อม โรคข้อรูมาติซั่ม เกาต์ เอ็นอักเสบ ฯลฯ
ในร้านขายยา มักจะพบว่า มีผู้มาขอซื้อยาแก้อักเสบ แต่เมื่อซักไปซักมา หลายๆ รายจะบอกว่า เป็นโรคข้ออักเสบ เอ็นอักเสบ เนื่องจากแพทย์บอกมา เมื่อได้ยินคำว่าอักเสบ จึงคิดไปว่าจะต้องทานยาแก้อักเสบ ซึ่งถ้าไม่ซักก็มักจะได้ยาผิดไป
กลไกการออกฤทธิ์ โดยการระงับยับยั้งการสร้างสาร Prostaglandin ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการอักเสบ ( ไม่ใช่การติดเชื้อ ) เมื่อไม่มีสาร Prostaglandin อาการปวด บวม แดง ร้อน จึงหายไป
ยาซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มยาต้านอาการอักเสบ ได้แก่
Aspirin
Diclofenac
Diflunisal
Etodolac
Fenoprofen
Flurbiprofen
Ibuprofen
Indomethacin
Ketoprofen
Ketorolac
Meclofenamate
Mefenamic acid
Naproxen
Phenylbutazone
Piroxicam
Sulindac
Tolmetin
Nabumetone
Moroxicam
Cerecoxib
Rofecoxib

ผลข้างเคียง

1. พบบ่อยมากคือ การระคายเคืองในกระเพาะอาหาร ลำไส้ ทำให้เกิดแผล
2. มึนหัว
3. ผื่นแดง หรือลมพิษ
4. ถ่ายเหลว หรือ ท้องผูกก็ได้

สิ่งที่ผู้ใช้ยานี้ควรทราบ

1. ควรทานยาพร้อมอาหาร หรือหลังอาหารทันที เพื่อลดการระคายเคืองกระเพาะอาหาร
2. หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
3. แจ้งแพทย์ เภสัชกรทันที ถ้ามีผื่นคัน มีเสียงดังในหู สายตาพร่ามัว ปวดท้องมาก

2.3.4 ยาเคมีบำบัด

คือ ยาหรือสารเคมีที่ใช้ในการฆ่าหรือทำลาย และควบคุมเซลล์ของเนื้องอก ขณะเดียวกันยาเคมีบำบัดอาจทำลายเซลล์ปกติของร่างกาย ทำให้เกิดผลข้างเคียงต่อระบบต่างๆ เช่น ระบบทางเดินอาหาร ทำให้คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ระบบผิวหนัง ทำให้ผมร่วง เป็นต้น

อาการข้างเคียงของยาเคมีบำบัด

จะเกิดขึ้นในขณะที่ได้รับยาและจะหายไปเมื่อหยุดยา อาการจะรุนแรงมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับ
- ชนิดของยา
- ความสมบูรณ์แข็งแรงของร่างกาย

การเตรียมตัวก่อนได้รับยาเคมีบำบัด

- เตรียมของทำความสะอาดร่างกาย เช่น สบู่ แป้ง แปรงสีฟัน ยาสีฟัน
- เตรียมร่างกายให้แข็งแรงสมบูรณ์ ซึ่งจะสามารถทนต่ออาการข้างเคียงที่เกิดขึ้นได้
- หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้กับบุคคลที่มีการติดเชื้อ เช่น เป็นไข้หวัด
- แพทย์จะทำการตรวจร่างกายโดยทั่วไป และตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น ตรวจเลือด ตรวจหัวใจ เอกซเรย์ปอด ฯลฯ

ข้อควรปฏิบัติตัวระหว่างได้รับเคมีบำบัด

- สังเกตอาการเปลี่ยนแปลงต่างๆ เช่น มีไข้ คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย ซึ่งอาการดังกล่าวอาจเกิดขึ้นได้จากผลข้างเคียงของยาเคมีบำบัด ให้แจ้งแพทย์ พยาบาลทราบ เพื่อจะได้รับความช่วยเหลือที่ถูกต้อง
- ดื่มน้ำมากๆ เพื่อขับสารเคมี ซึ่งอาจตกค้างในไตออกทางปัสสาวะ และให้เก็บปัสสาวะใส่ขวดที่จัดไว้ให้ เพื่อดูความสมดุลย์ระหว่างน้ำดื่มและจำนวนปัสสาวะ
- สังเกตผิวหนังบริเวณที่ให้ยาเคมีบำบัด ถ้าพบอาการบวม แดง พอง หรือมีจ้ำเลือด ควรปรึกษาแพทย์ทันที
- ถ้าได้ยาเคมีบำบัดชนิดรับประทาน หลังรับประทานแล้วอาเจียน รีบแจ้งพยาบาลทราบ เพื่อพิจารณาให้ยาซ้ำ การรักษาจะได้ครบถ้วน

การดูแลตนเองเมื่อมีอาการคลื่นไส้อาเจียน

- รับประทานอาหารอ่อน ย่อยง่ายๆ เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม ซุป
- รับประทานช้าๆ เคี้ยวให้ละเอียด
- รับประทานครั้งละน้อยๆ บ่อยๆ ไม่จำเป็นต้องรับประทานอาหารเป็นเวลา จิบเครื่องดื่มบ่อยๆ เช่น น้ำขิง น้ำส้ม น้ำมะนาว
- หลีกเลี่ยงอาหารรสหวาน หรือมันมากๆ จะทำให้เกิดอาการคลื่นไส้มากขึ้น
- ผ่อนคลายความเครียดด้วยการฟังเพลง อ่านหนังสือ เดินออกกำลังกาย
- ส่วนใหญ่แพทย์จะให้ยาระงับอาการคลื่นไส้ อาเจียนไว้

การดูแลก่อนเกิดแผลในปาก

- ทำความสะอาดช่องปากและฟัน เช้า ก่อนนอนและหลังอาหาร
- บ้วนปากหลังอาหารด้วยน้ำหรือน้ำเกลือ ไม่ควรใช้น้ำยาที่มีแอลกอฮอล์
- ใช้แปรงสีฟันขนนิ่มและยาสีฟันเด็ก
- ถ้ามีอาการปวดแสบร้อนในปากหรือมีฝ้าขาว รีบปรึกษาแพทย์ พยาบาล

การดูแลเมื่อเกิดแผลในปาก

- บ้วนปากบ่อยๆ ด้วยน้ำต้มสุก หรือน้ำเกลือทุก 2 - 3 ชั่วโมง
- ทำความสะอาดปากฟันหลังอาหารทุกครั้ง ใช้แปรงขนนิ่มๆ แปรงเบาๆ หรือใช้ผ้าสะอาดชุบน้ำเกลือเช็ดฟันแทนการแปรงฟัน
- รับประทานอาหารอ่อน นิ่ม รสไม่จัด
- จิบน้ำหรือเครื่องดื่มบ่อยๆ
- ปรึกษาแพทย์เมื่อเกิดแผลในช่องปาก



การดูแลตนเองเมื่อเกิดอาการท้องเสีย

- งดอาหารประเภท ถั่วต่างๆ อาหารที่ใส่กะทิและเครื่องเทศ
- รับประทานอาหารอ่อน ย่อยง่าย ไม่มีกาก
- ดื่มชาจีนอุ่นๆ แทนน้ำเปล่า
- ถ้าอาการไม่ทุเลา ให้ปรึกษาแพทย์ พยาบาล
- ดูแลความสะอาดบริเวณทวารหนัก

การดูแลตนเองเพื่อป้องกันและทุเลาอาการท้องผูก

- รับประทานผัก ผลไม้ เพิ่มขึ้นจากปกติ
- ออกกำลังกาย โดยเดินเล่นทุกวัน วันละ 30 นาที
- ปรึกษาแพทย์เพื่อขอยาระบาย ไม่ควรซื้อยารับประทานเอง

การดูแลตนเองเพื่อป้องกันการติดเชื้อ

- ดูแลรักษาความสะอาดร่างกายทั่วๆ ไป เช่น ผม เล็บ ปาก ฟัน เท้า อวัยวะสืบพันธุ์ ฯลฯ
- หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ชุมชนหรือที่มีการระบาดของเชื้อโรค เช่น ไข้หวัด ฯลฯ
- หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับบุคคลที่เป็นโรคติดต่อ เช่น หวัด วัณโรค

การดูแลเพื่อป้องกันหรือบรรเทาอาการอ่อนเพลีย

- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เช่น แป้ง น้ำตาล เนื้อสัตว์ นม ไข่ ผัก ผลไม้
- พักผ่อนให้เพียงพอ เพิ่มการนอนหลับกลางวัน วันละ 2 - 3 ชั่วโมง


การดูแลตนเองเพื่อป้องกันอาการแทรกซ้อนของระบบทางเดินปัสสาวะ

- ดื่มน้ำมากๆ อย่างน้อย 8 - 10 แก้วต่อวัน
- สังเกตสี ลักษณะของปัสสาวะ ถ้าผิดปกติมีสีคล้ายน้ำล้างเนื้อ มีเลือดปน แสบ ขัด ปัสสาวะน้อย กะปริดกะปรอย ให้รีบปรึกษาแพทย์

ข้อแนะนำการปฏิบัติตัวเพื่อให้จิตใจอารมณ์แจ่มใส

- หางานอดิเรกทำ ฟังวิทยุ ดูทีวี ปลูกต้นไม้อ่านหนังสือ ศึกษาธรรม ท่องเที่ยว ฯลฯ
- ไม่ควรอยู่ตามลำพัง ควรอยู่กับเพื่อนหรือคนในบ้าน
- ถ้ารู้สึกไม่สบายใจ ให้พูดคุยกับผู้ที่ไว้ใจได้

คำแนะนำเมื่อกลับบ้าน

- มารับการรักษาอย่างต่อเนื่อง
- หากพบอาการข้างเคียงที่รุนแรง หรืออาการผิดปกติ เช่น มีไข้ ปวดศีรษะมาก ปวดบริเวณต่างๆ ชาปลายมือปลายเท้า สูญเสียการทรงตัว มีจ้ำเลือดตามตัวให้รีบพบแพทย์โดยไม่ต้องรอให้ถึงวันนัด
- บำรุงร่างกายให้สมบูรณ์แข็งแรง อยู่ในสภาพพร้อมต่อการรักษาในครั้งต่อๆ ไป

อันตรายจากการใช้ยาที่ควรระวัง

ถึงแม้ในสถานการณ์ปัจจุบันยาจะเป็นปัจจัยที่สี่ที่สำคัญในยามเจ็บป่วย และช่วยต่ออายุเฉลี่ยของมนุษย์ยุคนี้ให้ยืนยาวขึ้น แต่ยาก็มีอันตรายมากด้วย การใช้สำหรับเราท่านทั้งหลายคงต้องพึงระวังไว้ด้วย
1. การแพ้ยา เกิดขึ้นเฉพาะคนเมื่อใช้ยาบางชนิด อาการแพ้อาจเกิดไม่รุนแรง อาทิ เป็นผื่นคัน
ตามผิวหนัง เป็นลมพิษ มีไข้ ฯลฯ แต่ถ้าอาการรุนแรงอาจเกิดหลอดลมตีบ หายใจไม่ออก จนถึงขั้นเสียชีวิตได้ ทุกคนจึงควรต้องทราบว่าตนเองแพ้ยาอะไร และแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบทุกครั้ง
2. การได้รับผลข้างเคียงของยา จะมีมากน้อยแตกต่างกันตามชนิดของยา ก่อนใช้ยาทุกครั้งต้องอ่านฉลาก เอกสารกำกับยา ข้อควรระวัง คำเตือน ให้ละเอียด และปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด 3. การดื้อยา เกิดจากการใช้ยาผิดๆ เช่น ใช้ยาปฏิชีวนะไม่ครบตามระยะเวลาที่กำหนด ทำให้
เชื้อโรคที่เหลืออยู่พัฒนาตนเองจนเป็นเชื้อดื้อยา ในครั้งต่อไปหากใช้ยาชนิดเดิมรักษาจะไม่เห็นผล เป็นต้น 4. การได้รับพิษจากยา เกิดจากการใช้ยาเกินขนาด หรือใช้ยาซ้ำซ้อน เช่น ใช้ยาที่มีชื่อทางการค้าต่างกัน แต่ตัวยาภายในเป็นสารเคมีชนิดเดียวกัน ทำให้ได้รับยาเกินขนาดจนเป็นพิษได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น