วันพฤหัสบดีที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2552

ยาเสพติด

ยาเสพติด
2.4 ยาเสพติด

2.4.1 ความหมายของยาเสพติด

ยาเสพติด หมายถึง ยาชนิดใดชนิดหนึ่ง อาจเป็นสารธรรมชาติหรือสารสังเคราะห์ ซึ่งเมื่อร่างกายได้รับซ้ำๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นการเสพโดยวิธีกิน ทา หรือฉีดเข้าสู่ร่างกายทางใดทางหนึ่ง จะเป็นครั้งคราวหรือเป็นเวลานาน แล้วทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกายและจิตใจโดยมีลักษณะสำคัญ 4
ประการคือ
1. เกิดความต้องการอย่างสุดจะอดกลั้นได้ (Compulsion) ที่จะต้องหายานั้นมาให้ได้ ไม่ว่าจะโดยวิธีใดก็ตาม
2. จะต้องเพิ่มปริมาณของยาที่ใช้อยู่เรื่อยๆ
3. ตกเป็นทาสของยานั้นทางจิตใจ (Psychic Dependence) และทางกาย (Physical
Dependence) และถ้าหยุดเสพจะมีอาการขาดยา (Withdrawal Symptoms)
4. ทำให้เกิดผลร้ายต่อผู้เสพและต่อสังคม

2.4.2 ประเภทของยาเสพติด

2.4.2.1 การแบ่งประเภทของยาเสพติดตามหลักวิชาการ
ยาเสพติดเหล่านี้ตามหลักวิชาการแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภทคือ
1. แบ่งตามแหล่งที่เกิด แบ่งออกได้เป็น
1.1 ยาเสพติดธรรมชาติ เป็นสารที่กลั่นหรือสกัดได้จากพืชบางชนิดโดยตรง เช่น ฝิ่น โคเคอีน กัญชา รวมทั้งการนำสารจากพืชเหล่านั้นมาปรุงเป็นอย่างอื่น โดยกรรมวิธีทางเคมี เช่น มอร์ฟีน เฮโรอีน ซึ่งทำมาจากฝิ่น เป็นต้น
1.2 ยาเสพติดสังเคราะห์ เป็นสารที่ผลิตขึ้นในห้องปฏิบัติการด้วยกรรมวิธีทางเคมี นำมาใช้แทนยาเสพติดธรรมชาติได้ โดยสารที่สังเคราะห์ขึ้นมานั้นออกฤทธิ์เหมือนยาเสพติดธรรมชาติ เช่น เมทีดรีน ไฟเซปโตน เมทาโดน เป็นต้น
2. แบ่งตามฤทธิ์ของยาที่มีต่อร่างกายมนุษย์ แบ่งได้เป็น
2.1 ออกฤทธิ์กดประสาท ได้แก่ ยาที่ออกฤทธิ์ทางกดประสาท เมื่อเสพแล้วทำให้คลาย
ความทรมาน ช่วยบรรเทาความเจ็บปวดทางร่างกาย บรรเทาความว้าวุ่นทางจิตใจ ทางอารมณ์ ช่วยคลายความหมกมุ่น ทำให้เกิดความรู้สึกเป็นสุข เช่น ฝิ่น มอร์ฟีน เฮโรอีน เซโคบาร์บาทาล เป็นต้น
2.2 ออกฤทธิ์กระตุ้นประสาท ได้แก่ ยาเสพติดที่ออกฤทธิ์ในทางกระตุ้นประสาทและสมอง ในขณะที่ยาออกฤทธิ์ทำให้ผู้เสพเพิ่มพูนความสามารถชั่วระยะเวลาหนึ่ง ช่วยเพิ่มความมั่นใจในตนเอง ทำให้เกิดความสุข จิตใจปลอดโปร่ง เช่น โคเคอีน เป็นต้น
2.3 ออกฤทธิ์หลอนประสาท ได้แก่ ยาที่ทำให้ประสาทสัมผัสสูญเสียสมรรถภาพ เกิดความรู้สึกในทางสัมผัสประสาทโดยไม่มีสิ่งเกิดขึ้นจริง เช่น ภาพหลอน ได้ยินเสียงทั้งๆ ที่ไม่มีเสียง คิดว่าเป็นผู้วิเศษเหาะเหินเดินอากาศได้ เช่น แอลเอสดี ดีเอ็มที เป็นต้น
2.4 ออกฤทธิ์ผสมผสานกัน ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทผสมกันไป อาจออกฤทธิ์กดประสาท กระตุ้นประสาท หรือหลอนประสาทพร้อมกันไป เช่น กัญชา เมื่อเสพในจำนวนน้อยจะกดประสาทอยู่ชั่วระยะหนึ่ง เมื่อเสพมากขึ้นจะกลายเป็นพิษหลอนประสาทต่อไปได้
3. แบ่งตามลักษณะของสารที่ใช้ในวงการแพทย์
สำหรับวงการแพทย์ยังมียาและสารเคมีหลายอย่างที่เป็นสารเสพติดให้โทษ กล่าวคือ
พวกที่ 1 ได้แก่ ฝิ่น หรือสารที่มีส่วนประกอบของฝิ่น เช่น มอร์ฟีน ทิงเจอร์ ฝิ่น เฮโรอีน รวมไปถึงสารสังเคราะห์หลายอย่างที่มีคุณสมบัติคล้ายๆ กัน
พวกที่ 2 ได้แก่ ยานอนหลับต่างๆ ที่มีผลโดยตรงต่อสมองส่วนกลาง ยาพวกนี้จำหน่ายทั่วไป เช่น ฟีโนบาร์บีทาล เหล้าแห้ง ซอลเนอรัลทูวิบาล รวมทั้งยานอนหลับที่ใช้บาร์ทูเรต ได้แก่ ไบร์ไมต์ คลอรอล ไฮเดรตพารัลดีไฮด์ และยาสังเคราะห์ใหม่ๆ เช่น กลูตาไมล์และเมตากูอาโลน
พวกที่ 3 ยากระตุ้นประสาท ได้แก่ แอมเฟตามีน และใบกระท่อม
พวกที่ 4 ยาที่ทำให้ประสาทหลอน ได้แก่ กัญชา แอลเอสดี เอสทีพี ดีเอ็มที ยาเหล่านี้ทำให้ประสาทการรับฟังของคนเราผิดไปจากเดิม รวมทั้งสารอย่างอื่นและเห็ดบางอย่าง
พวกที่ 5 แอลกอฮอล์จัดเป็นสารเสพติดชนิดหนึ่งด้วยเพราะเมื่อดื่มจนติดแล้วจะทำให้ผู้ดื่มมีความต้องการและเพิ่มปริมาณการดื่มเรื่อยๆ ไป อีกทั้งมีโทษต่อร่างกายเช่นเดียวกับยาเสพติดชนิดอื่นๆ

2.4.2.2 การแบ่งประเภทของยาเสพติดให้โทษตามกฎหมาย
เนื่องจากยาและสารหลายชนิด เมื่อนำมาใช้ผิดหลักการแพทย์หรือผิดวัตถุประสงค์ สามารถก่อให้เกิดการเสพติดขึ้น ถ้าเกิดการเสพติดจะส่งผลกระทบให้เกิดปัญหาต่อตัวผู้เสพ ครอบครัว สังคม ตลอดจนประเทศชาติได้ ในสภาวการณ์เช่นนี้จำเป็นที่ทางการต้องมีมาตรการในการควบคุมการผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย และครอบครองสิ่งเหล่านี้ โดยการใช้อำนาจทางกฎหมายในการลงโทษผู้กระทำผิด สำหรับกฎหมายสำคัญซึ่งระบุประเภทของยาเสพติดที่ควรรู้จักไว้คือ พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2528 และฉบับที่ 3 พ.ศ. 2530
พระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยฉบับที่ 2 พ.ศ. 2528 และฉบับที่ 3 พ.ศ. 2535 และพระราชกำหนดป้องกันการใช้สารระเหย พ.ศ. 2533
ยาเสพติดให้โทษที่ระบุตามกฎหมายนี้มีมากมายหลายชนิดแต่ได้จัดแบ่งออกเป็น 5 ประเภทคือ
ประเภท 1 เฮโรอีน อาเซทอร์ฟีน อีทอร์ฟีน ฯลฯ (เป็นยาเสพติดให้โทษชนิดร้ายแรง)
ประเภท 2 ฝิ่น มอร์ฟีน โคเคอีน (โคเคน) ฯลฯ (เป็นยาเสพติดให้โทษทั่วไป)
ประเภท 3 ยาแก้ไอที่มีฝิ่น หรือโคเคอีนเป็นส่วนผสม ยาแก้ท้องเสียที่มีไดฟ์น็อคซิเลทเป็น
ส่วนผสม ฯลฯ (เป็นยาเสพติดให้โทษชนิดเป็นตำรับยาที่มียาเสพติดให้โทษประเภท 2 ปรุงผสมอยู่ด้วย)
ประเภท 4 อาเซติคแอนไฮโดรด์ อาเซติลคลอไรด์ (เป็นสารเคมีที่ใช้ในการผลิตยาเสพติดให้โทษประเภท 1 หรือประเภท 2)
ประเภท 5 กัญชา กระท่อม (เป็นยาเสพติดให้โทษอื่นที่มิได้เข้าข่ายอยู่ในประเภท 1 ถึง
ประเภท 4)
แต่เนื่องจากสถานการณ์ของการเสพติดเพิ่มความยุ่งยากขึ้นเพราะพบว่า นอกเหนือจากมีการใช้ยาเสพติดให้โทษในทางที่ผิดแล้วยังปรากฏว่า มีการใช้วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทในทางที่ผิดด้วย จึงทำให้ต้องออกกฏหมายควบคุมสิ่งเหล่านี้เช่นเดียวกับยาเสพติดให้โทษ วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตใจและประสาทที่ระบุตามกฏหมายนี้มีมากมายหลายชนิด เช่นเดียวกับยาเสพติดให้โทษ แต่ได้จัดแบ่งออกเป็น 4 ประเภทคือ
ประเภท 1 ดีเอ็มที เมสคาลีน แอลเอสดี เตตราไฮโดรแคนนาบินอล ฯลฯ
ประเภท 2 แอมเฟตามีน เมทแอมเฟตามีน อีเฟตรีน เมทิลเฟนีเดทเซโคบาร์บาทาล เมทาควาโลน ฯลฯ
ประเภท 3 อะโมบาร์บิทาล ไซโคลบาร์บิทาล กลูเตทิไมด์ เมโปรบาเมต ฯลฯ
ประเภท 4 บาร์บิทาล ฟีโนบาร์บิทาล ไดอาซีแพม คลอไดอาซีพอกไซด์ ฯลฯ
สำหรับยาบ้านั้น จัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภทที่ 2 เนื่องจากมีส่วนผสมของแอมเฟตามีน หรือเมทแอมเฟตามีน หรืออีเฟดรีน ซึ่งเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 รวมอยู่ด้วย
และปัจจุบันได้มีการนำสารระเหย หรือวัตถุ หรือผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปที่มีสารระเหยผสมหรือเจือปนอยู่ ซึ่งผลิตขึ้นเพื่อใช้ในทางอุตสาหกรรมหรือทางอื่นไปใช้สูด ดม หรือวิธีอื่นใดอย่างแพร่หลายซึ่งก่อให้เกิดอันตรายอย่างร้ายแรงแก่ผู้สูดดม ซึ่งส่วนมากเป็นเด็กและเยาวชน และยังก่อให้เกิดปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศชาติโดยส่วนรวม นอกจากนี้ยังไม่มีกฎหมายใช้บังคับแก่สารระเหยโดยเฉพาะเพื่อดำเนินการป้องกันภัยของสารระเหยที่มีต่อความปลอดภัยสาธารณะ จึงมีการออกกฎหมายเพื่อป้องกันมิให้มีการนำสารระเหยมาใช้ในทางที่ไม่เหมาะสม สำหรับสารระเหยสามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มคือ
1. เป็นสารเคมี เช่น อาซีโทน เอทิลอาซิเตต โทลูอีน
2. เป็นผลิตภัณฑ์ เช่น แล็กเกอร์ ทินเนอร์ กาว ฯลฯ

2.4.3 ยาเสพติดให้โทษและวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทที่จำหน่ายได้

ยาเสพติดให้โทษและวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทที่จำหน่ายได้ ได้แก่ ยาเสพติดให้โทษในประเภท 3 และวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 3 และ 4 ซึ่งจำหน่ายได้ในร้านขายยาที่มีใบอนุญาตเพื่อการจำหน่ายยาเสพติดประเภทดังกล่าว

2.4.3.1 ยาเสพติดให้โทษประเภท 3ในการจำหน่ายยาประเภทนี้ นอกจากเจ้าของร้านขายยาต้องขออนุญาตทางการให้จำหน่ายแล้ว ยังต้องทำบัญชีเกี่ยวกับการซื้อขายของแต่ละเดือนเพื่อแจ้งแก่ทางการด้วย สำหรับผู้ซื้อจะต้องให้ชื่อและที่อยู่ทางร้านไว้ ในขณะจำหน่ายก็ต้องมีเภสัชกร (แผนปัจจุบันชั้นหนึ่ง) ผู้ควบคุมปฏิบัติการอยู่ สำหรับยาตำรับที่เป็นยาเสพติดให้โทษในประเภทที่ 3 สังเกตได้จากที่ข้างภาชนะบรรจุจะมีตัวอักษรสีแดงว่า “ยาเสพติดให้โทษประเภท 3” กำกับไว้
2.4.3.2 วัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 3 และ 4ในการจำหน่ายยาประเภทนี้ นอกจากเจ้าของร้านขายยาต้องขออนุญาตทางการให้จำหน่ายได้แล้ว ยังต้องทำบัญชีเกี่ยวกับการซื้อขายของแต่ละเดือนเพื่อแจ้งแก่ทางการด้วย สำหรับผู้ซื้อจะต้องนำใบสั่งแพทย์มาซื้อ ในขณะจำหน่ายก็ต้องมีเภสัชกร (แผนปัจจุบันชั้นหนึ่ง) และผู้ควบคุมปฏิบัติการอยู่ ยาเป็นวัตถุออกฤทธิ์นี้อาจเป็นตำรับยาเดี่ยวๆ หรือเป็นตำรับยาที่มีตัวยาชนิดอื่นปรุงผสมร่วม
ยาเสพติดบางชนิดที่ระบาดในสถานการณ์ปัจจุบัน

ในระยะนี้เมื่ออ่านหนังสือพิมพ์ครั้งใด มักจะอ่านพบข่าวเกี่ยวกับ การใช้ยาในทางที่ผิดอยู่เสมอ ซึ่งส่วนใหญ่ยาที่ตกเป็นข่าวก็คือ ยาบ้า ยาอี ยาเค และยาอื่นที่ใกล้เคียง เรื่องของยาเหล่านี้ กำลังเป็นปัญหาสังคมที่ชัดเจน และขยายวงกว้างขึ้นทุกวัน
1. ยาบ้า เป็นชื่อที่ใช้เรียกยาเสพติดที่มีส่วนผสมของสารเคมีประเภท
แอมเฟตามีน (Amphetamine) สารประเภทนี้แพร่ระบาดอยู่ 3 รูปแบบ
ด้วยกันคือ แอมเฟตามีนซัลเฟต (Amphetamine Sulfate)
เมทแอมเฟตามีน (Methamphetamine) และเมทแอมเฟตามีนไฮโดรคลอไรด์ (Methamphetmine Hydrochloride) ซึ่งจากผลการตรวจพิสูจน์ยาบ้าปัจจุบัน ที่พบอยู่ในประเทศไทยมักพบว่า เกือบทั้งหมดมีเมทแอมเฟตามีนไฮโดรคลอไรด์ผสมอยู่
ยาบ้า จัดอยู่ในกลุ่มยาเสพติดที่ออกฤทธิ์กระตุ้นประสาท มีลักษณะเป็นยาเม็ดกลมแบนขนาดเล็ก เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 6-8 มิลลิเมตร ความหนาประมาณ 3 มิลลิเมตร น้ำหนักเม็ดยาประมาณ 80-100 มิลลิกรัม มีสีต่างๆ กัน เช่น สีส้ม สีน้ำตาล สีม่วง สีชมพู สีเทา สีเหลืองและสีเขียว มีสัญลักษณ์ ที่ปรากฏบนเม็ดยา เช่น ฬ, m, M, RG, WY สัญลักษณ์รูปดาว, รูปพระจันทร์เสี้ยว, 99 หรืออาจเป็นลักษณะของเส้นแบ่งครึ่งเม็ด ซึ่งสัญลักษณ์เหล่านี้ อาจปรากฏบนเม็ดยาด้านใดด้านหนึ่ง หรือทั้งสองด้าน หรืออาจเป็นเม็ดเรียบทั้งสองด้านก็ได้
อาการผู้เสพ : เมื่อเสพเข้าสู่ร่างกายในระยะแรกจะออกฤทธิ์ทำให้ร่างกายตื่นตัว หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูง ใจสั่น ประสาทตึงเครียด แต่เมื่อหมดฤทธิ์ยาจะรู้สึกอ่อนเพลียมากกว่าปกติ ประสาทล้า ทำให้การตัดสินใจช้าและผิดพลาด เป็นเหตุให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงได้ ถ้าใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานจะทำให้สมองเสื่อม เกิดอาการประสาทหลอน เห็นภาพลวงตา หวาดระแวง คลุ้มคลั่ง เสียสติ เป็นบ้าอาจทำร้ายตนเองและผู้อื่นได้ หรือในกรณีที่ได้รับยาในปริมาณมาก (Overdose) จะไปกดประสาท และระบบการหายใจ ทำให้หมดสติ และถึงแก่ความตายได้
โทษที่ได้รับ : การเสพยาบ้าก่อให้เกิดผลร้ายหลายประการ ดังนี้
1. ผลต่อจิตใจ เมื่อเสพยาบ้าเป็นระยะเวลานานหรือใช้เป็นจำนวนมาก จะทำให้ผู้เสพมีความผิดปกติทางด้านจิตใจ กลายเป็นโรคจิตชนิดหวาดระแวง ส่งผลให้มีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไป เช่น เกิดอาการหวาดกลัว ประสาทหลอนซึ่งโรคนี้หากเกิดขึ้นแล้ว อาการจะคงอยู่ตลอดไป แม้ในช่วงเวลาที่ไม่
ได้เสพยาก็ตาม
2. ผลต่อระบบประสาท ในระยะแรกจะออกฤทธิ์กระตุ้นประสาท ทำให้ประสาทตึงเครียด แต่เมื่อหมดฤทธิ์ยาจะมีอาการประสาทล้า ทำให้การตัดสินใจเรื่องต่างๆช้า และผิดพลาด หากใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานจะทำให้สมองเสื่อม หรือกรณีที่ใช้ยาในปริมาณมาก (Overdose) จะไปกดประสาทและระบบการหายใจ ทำให้หมดสติและถึงแก่ความตายได้
3. ผลต่อพฤติกรรม ฤทธิ์ของยาจะกระตุ้นสมองส่วนที่ควบคุมความก้าวร้าวและความกระวนกระวายใจ ดังนั้น เมื่อเสพยาบ้าไปนานๆ จะก่อให้เกิดพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป คือ ผู้เสพจะมีความก้าวร้าวเพิ่มขึ้นและหากยังใช้ต่อไปจะมีโอกาสเป็นโรคจิตชนิดหวาดระแวง เกรงว่าจะมีคนมาทำร้ายตนเองจึงต้องทำร้ายผู้อื่นก่อน

2. เฮโรอีน (Heroin)
เฮโรอีน เป็นยาเสพติดที่ได้จากการสังเคราะห์ทางเคมีจากปฏิกิริยาระหว่างมอร์ฟีนกับสารเคมีบางชนิด เช่น อาเซติคแอนไฮไดรด์ (Acetic Anhydride) หรือ อาเซติลคลอไรด์ (Acetyl Chloride) หรือเอทิลิดีนไดอาเซเตต (Ethylidene Diacetate) โดยนักวิจัยชาวอังกฤษ ชื่อ C.R. Wright ได้ค้นพบวิธีการสังเคราะห์เฮโรอีนจากมอร์ฟีนโดยใช้น้ำยาอาเซติคแอนไฮไดรด์ (Acetic Anhydride) และบริษัทผลิตยาไบเออร์ (Bayer) ได้นำมาผลิตเป็นยาออกสู่ตลาดโลก ในชื่อทางการค้าว่า "Heroin" และนำมาใช้แทนมอร์ฟีนอย่างแพร่หลาย หลังจากที่มีการใช้เฮโรอีนในวงการแพทย์นานถึง 18 ปี จึงทราบถึงอันตรายและผลที่ทำให้เกิดการเสพติดที่ให้โทษอย่างร้ายแรงจนปี พ.ศ. 2467 (ค.ศ. 1924) ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ออกกฎหมายระบุให้เฮโรอีนเป็นยาเสพติดให้โทษ ห้ามมิให้ผู้ใดมีไว้ในครอบครอง
หลังจากนั้นต่อมาอีก 35 ปี คือ เมื่อปี พ.ศ. 2502 เฮโรอีนจึงได้แพร่ระบาดสู่ประเทศไทย และในปี พ.ศ. 2504 ประเทศไทยจึงออกกฎหมาย ระบุให้เฮโรอีนและมอร์ฟีนเป็นยาเสพติดให้โทษ เฮโรอีนออกฤทธิ์แรงกว่ามอร์ฟีนประมาณ 4-8 เท่า และออกฤทธิ์แรงกว่าฝิ่น ประมาณ 30-90 เท่า โดยทั่วไปเฮโรอีน จะมีลักษณะเป็นผงสีขาว สีนวล หรือสีครีม มีรสขม ไม่มีกลิ่น และแบ่งได้เป็น 2 ประเภท เช่นเดียวกับมอร์ฟีน ได้แก่ เฮโรอีนเบส (Heroin Base) ซึ่งมีคุณลักษณะเด่น คือ ไม่ละลายน้ำ ส่วนอีกประเภทหนึ่ง คือ เกลือของเฮโรอีน (Heroin Salt) เช่น เฮโรอีนไฮโดรคลอไรด์ (Heroin Hydrochloride)
เฮโรอีนที่แพร่ระบาดในประเทศไทย แบ่งเป็น 2 ชนิด คือ
1. เฮโรอีนผสม หรือเรียกว่า เฮโรอีนเบอร์ 3 หรือไอระเหย เป็นเฮโรอีนที่มีความบริสุทธิ์ต่ำ เนื่องจากมีการผสมสารอื่นเข้าไปด้วย เช่น ผสมสารหนู สตริกนิน ยานอนหลับ คาเฟอีน แป้ง น้ำตาลและอาจผสมสี เช่น สีม่วงอ่อน สีชมพูอ่อน สีน้ำตาล อาจพบในลักษณะเป็นผง เป็นเกล็ดหรืออัดเป็นก้อนเล็กๆ มีวิธีการเสพโดยการสูดเอาไอสารเข้าร่างกาย จึงเรียกว่า "ไอระเหย" หรือ "แคป"
2. เฮโรอีนเบอร์ 4 เป็นเฮโรอีนไฮโดรคลอไรด์ที่มีความบริสุทธิ์สูง มีลักษณะเป็นผงละเอียด หรือเป็นเม็ดคล้ายไข่ปลา หรือพบในลักษณะอัดเป็นก้อนสี่เหลี่ยมผืนผ้า มักมีสีขาวหรือสีครีม ไม่มีกลิ่น มีรสขม เป็นที่รู้จักกันทั่วไปว่า “ผงขาว” มักเสพโดยนำมาละลายน้ำแล้วฉีดเข้าร่างกาย หรือผสมบุหรี่สูบ

อาการผู้เสพ :
1. มีอาการปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระดูก ปวดตามข้อ ปวดสันหลัง ปวดบั้นเอว ปวดหัวรุนแรง
2. มีอาการจุกแน่นในอก คล้ายใจจะขาด อ่อนเพลียอย่างหนัก หมดเรี่ยวแรง มีอาการหนาวๆ ร้อนๆ อึดอัดทุรนทุราย นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย บางรายมีอาการชักตาตั้ง น้ำลายฟูมปาก ม่านตาดำหดเล็กลง
3. ใจคอหงุดหงิดฟุ้งซ่าน มึนงง หายใจไม่ออก
4. ประสาทเสื่อม ความจำเสื่อม

โทษทางร่างกาย :
1. โทษต่อผิวหนัง เป็นอาการที่ทำให้เส้นเลือดใต้ผิวหนังเกิดการขยายตัว เกิดเป็นตุ่มแดงเล็กๆ ขึ้นบริเวณผิวหนัง และกระตุ้นสารฮิสตามีน (Histamine) และกระตุ้นต่อมเหงื่อด้วย อาการนี้พบได้หลังจากที่เสพเฮโรอีนใหม่ๆ จะมีอาการคันใต้ผิวหนัง นอกจากนี้ผู้เสพจะมีเหงื่อออกมากกว่าปกติและขนลุก
2. โทษต่อลำไส้ ทำให้ลำไส้บิดตัวลดลง ผู้เสพจึงมีอาการท้องผูก
3. กดศูนย์การหายใจ ทำให้หายใจช้ากว่าปกติ ถ้าใช้ในปริมาณมากจะทำให้หัวใจหยุดเต้นได้
4. ทำลายฮอร์โมนเพศ ถ้าผู้เสพเป็นเพศหญิง จะทำให้ประจำเดือนมาผิดปกติ ถ้าผู้เสพเป็นเพศชาย จะทำให้ฮอร์โมนเพศลดลง ไม่มีความรู้สึกต้องการทางเพศ
5. ทำลายระบบภูมิคุ้มกันโรคของร่างกาย ผู้เสพจึงมีโอกาสติดเชื้อโรคได้ง่าย อาการที่พบเห็นภายนอก คือ ผิวหนังมีอาการติดเชื้อ เป็นแผลพุพอง ติดเชื้อวัณโรค ติดเชื้อโรคตับอักเสบ นอกจากนี้ ผู้เสพติดเฮโรอีนจะทำให้ติดโรคเอดส์ได้ง่ายกว่าปกติ เพราะผู้เสพมักใช้เข็มฉีดยาที่ไม่ได้ทำความสะอาด หรือใช้เข็มฉีดยาร่วมกันจนทำให้ติดเชื้อ HIV ผู้เสพติดเฮโรอีนที่ติดเชื้อ HIV ก็จะเป็นผู้แพร่ระบาด HIV เนื่องจากการจับกลุ่มใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน หรือในบางครั้งก็มีเพศสัมพันธ์ร่วมกันโดยไม่ได้ป้องกัน

3. โคเคน (Cocaine)
โคเคน หรือ โคคาอีน เป็นยาเสพติด ที่สกัดได้จากใบของต้นโคคา ซึ่งเป็นต้นไม้ที่นิยม
ลักลอบปลูกมากในประเทศแถบอเมริกาใต้ เช่น เปรู โบลิเวีย และโคลัมเบีย เป็นต้น ในใบโคคาจะมีโคเคนอยู่ประมาณ 2% โคเคนมีชื่อเรียกในกลุ่มผู้เสพว่า COKE, SNOW, SPEED BALL, CRACK โคเคนสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ โคเคนเบส (Cocaine Base) และเกลือโคเคน เช่น โคเคนไฮโดรคลอไรด์ (Cocaine Hydrochloride) และโคเคนซัลเฟต (Cocaine Sulfate) โคเคนที่พบในประเทศไทย มีทั้งเป็นผงละเอียดสีขาว และมีรูปผลึกเป็นก้อน (Free Base, Crack)

อาการผู้เสพ :
หัวใจเต้นแรง ความดันโลหิตสูง กระวนกระวาย ตัวร้อนมีไข้ นอนไม่หลับ มีอาการซึมเศร้า

โทษที่ได้รับ :
ผนังจมูกขาดเลือดทำให้เยื่อบุโพรงจมูกฝ่อ ขาดหรือทะลุ สมองถูกกระตุ้นอย่างรุนแรง ทำให้เกิดอาการชัก มีเลือดออกในสมอง เนื้อสมองตายเป็นบางส่วน หัวใจถูกกระตุ้นอยู่เสมอ กล้ามเนื้อหัวใจเสื่อมลงทีละน้อยจนหัวใจบีบตัวไม่ไหว ทำให้หัวใจล้มเหลว ผลจากการเสพเป็นระยะเวลานาน ทำให้เกิดอาการโรคจิต ซึมเศร้า

4. แอลเอสดี (LSD : Lysergic Acid Diethylamide)

Double-headedserpent
Black rings
Skull design B
Red spot
Buddha
Mr Zippy
Bat Design
Blackliahtning
Smileyblue eyes
Strawberry

แอลเอสดี เป็นสารสกัดจากกรดไลเซอจิกที่มีในเชื้อราชนิดหนึ่งชอบขึ้นในข้าวไรย์ มีลักษณะเป็นผงละลายน้ำได้ อาจพบแอลเอสดีเป็นเม็ดยาแคปซูล หรือผสมในทอฟฟี่ ที่พบว่าแพร่ระบาดมากมีลักษณะเป็นแผ่นกระดาษชุบหรือเคลือบสารแอลเอสดี และปรุแบ่งเป็นชิ้นเล็กๆ ลักษณะเดียวกับแสตมป์ แต่มีขนาดเล็กกว่าแสตมป์ โดยบนแผ่นกระดาษที่เคลือบสารแอลเอสดีนั้นจะมีสัญลักษณ์หรือรูปภาพต่างๆ แอลเอสดีมีความรุนแรงในการออกฤทธิ์ต่อสมองสูงคือใช้ในปริมาณแค่ 25 microgram (25/1 ล้านส่วนของกรัม) แอลเอสดีมีชื่อเรียกอีกหลายชื่อ เช่น เมจิคเปเปอร์ แอสซิสแสตมป์

อาการผู้เสพ :
เคลิบเคลิ้ม ฝันเฟื่อง ความดันโลหิตสูง อุณหภูมิในร่างกายสูง หายใจไม่สม่ำเสมอ

โทษที่ได้รับ :
ฤทธิ์ของยาจะทำให้ผู้เสพเห็นภาพลวงตา หูแว่ว เพ้อฝัน คิดว่าตนเองเป็นผู้วิเศษ หรือคิดว่าเหาะได้อาจมีอาการทางจิตประสาทรุนแรง มีอาการหวาดระแวง เกิดอาการกลัว ภาพหลอน (Bad Trip) จึงต้องหนีจากความหวาดกลัว เช่น การขับรถหนี หรือเหาะหนี หรือฆ่าตัวตายเพราะความหวาดกลัว

5. บุหรี่ (Cigaratte)
บุหรี่ มีสารต่างๆ หลายชนิด แต่สารสำคัญที่ทำให้เกิดการเสพติดคือ นิโคติน ซึ่งเป็นสาร
แอลคะลอยด์ที่ไม่มีสี นิโคติน 30 มิลลิกรัมสามารถทำให้คนตายได้ บุหรี่ธรรมดามวนหนึ่งจะมีนิโคตินอยู่ราว 15-20 มิลลิกรัม ก็คือจำนวนนิโคตินในบุหรี่ 2 มวน สามารถทำให้คนตายได้ในทันที แต่การที่สูบบุหรี่ติดต่อกันหลายมวนแล้วไม่ตาย ก็เพราะว่ามีนิโคตินในควันบุหรี่ เป็นส่วนน้อยที่เข้าสู่ร่างกายของผู้สูบ

ฤทธิ์ในทางเสพติด :
บุหรี่ออกฤทธิ์กระตุ้นประสาท ไม่มีอาการเสพติดทางร่างกาย มีอาการเสพติดทางจิตใจ ไม่มีอาการขาดยาทางร่างกาย

อาการผู้เสพ :
ตาแห้ง ตาแดง ริมฝีปากแห้งเขียว เล็บเหลือง ฟันมีคราบดำจับ มือสั่น ลมหายใจมีกลิ่นเหม็น หลอดลมอักเสบ เกิดอาการระคายเคืองต่อระบบทางเดินหายใจ ไอ เสียงแหบ

โทษที่ได้รับ :
นิโคตินจะออกฤทธิ์กระตุ้นหัวใจให้ทำงานหนัก และในขณะเดียวกัน จะทำให้หลอดเลือดหดตัวอันเป็นสาเหตุของโรคหัวใจขาดเลือด ความดันโลหิตสูง โรคมะเร็งปอด ถุงลมโป่งพอง ถ้าผู้สูบบุหรี่เป็นหญิงมีครรภ์จะทำให้แท้งได้ง่ายหรือทารกที่คลอดออกมาจะมีน้ำหนักตัวน้อยกว่าปกติ
บุหรี่ที่มีก้นกรองและไม่มีก้นกรองอย่างไหนมีอันตรายกว่ากัน :
จากการศึกษาพบว่าบุหรี่นั้นมีอันตรายไม่ว่าจะมีหรือไม่มีก้นกรองก็ตาม เพราะจากการวัดปริมาณสารทาร์ และสารนิโคติน พบว่า บุหรี่ที่มีก้นกรองและไม่มีก้นกรองผู้สูบจะได้รับปริมาณสารทาร์และสารนิโคตินเท่ากัน แต่อาจป็นไปได้ว่าบุหรี่ที่มีก้นกรองอาจจะกรองสารอื่นที่มีอนุภาคขนาดใหญ่ออกไปจากควันบุหรี่ได้บ้าง จะเห็นได้ว่าแม้แต่ในต่างประเทศซึ่งส่วนใหญ่จะชอบสูบบุหรี่ก้นกรอง ก็ยังพบว่า ผู้สูบบุหรี่ที่มีก้นกรองนั้นได้รับพิษภัยจากบุหรี่เป็นจำนวนมาก และรัฐบาลต่างประเทศก็รณรงค์ให้เลิกสูบบุหรี่ก้นกรองอยู่ตลอดเวลา

6. ยาอี ยาเลิฟ เอ็คซ์ตาซี (Ecstasy)
ยาอี ยาเลิฟ เอ็คซ์ตาซี (Ecstasy) เป็นยาเสพติดกลุ่มเดียวกัน จะแตกต่างกันบ้างในด้านโครงสร้างทางเคมี เท่าที่พบส่วนใหญ่จะมีองค์ประกอบทางเคมีที่สำคัญ คือ 3,4 Methylenedioxy
methamphetamine (MDMA), 3,4 Methylenedioxy amphetamine (MDA) และ 3,4 Methylenedioxy ethamphetamine (MDE หรือ MDEA) ลักษณะของยาอี มีทั้งที่เป็นแคปซูลและเป็นเม็ดยาสีต่างๆ แต่ที่พบในประเทศไทย ส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นเม็ดกลมแบน เส้นผ่าศูนย์กลาง 0.8-1.2 เซนติเมตร หนา 0.3-0.4 เซนติเมตร ผิวเรียบและปรากฏสัญลักษณ์บนเม็ดยาเป็นรูปต่างๆ เช่น กระต่าย, ค้างคาว, นก, ดวงอาทิตย์, P.T. ฯลฯ เสพโดยการรับประทานเป็นเม็ด จะออกฤทธิ์ภายในเวลา 45 นาที และฤทธิ์ยาจะอยู่ในร่างกายได้นานประมาณ 6-8 ชั่วโมง
ยาอี ยาเลิฟ เอ็คซ์ตาซี เป็นยาที่แพร่ระบาดในกลุ่มวัยรุ่นที่ชอบเที่ยวกลางคืน ออกฤทธิ์ใน 2 ลักษณะ คือ ออกฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทในระยะสั้นๆ หลังจากนั้นจะออกฤทธิ์หลอนประสาทอย่างรุนแรง ฤทธิ์ของยาจะทำให้ผู้เสพรู้สึกร้อน เหงื่อออกมาก หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูง การได้ยินเสียงและการมองเห็นแสงสีต่างๆ ผิดไปจากความเป็นจริง เคลิบเคลิ้ม ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ของตนเองได้ อันเป็นสาเหตุที่จะนำไปสู่พฤติกรรมเสื่อมเสียต่างๆ และจากการค้นคว้าวิจัยของแพทย์และนักวิทยาศาสตร์หลายท่าน พบว่า ยาชนิดนี้มีอันตรายร้ายแรง แม้จะเสพเพียง 1-2 ครั้ง ก็สามารถทำลายระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ส่งผลให้ผู้เสพมีโอกาสติดเชื้อโรคต่างๆ ได้ง่าย และยังทำลายเซลล์สมองส่วนที่ทำหน้าที่ส่งสารซีโรโทนิน (Serotonin) ซึ่งเป็นสารสำคัญในการควบคุมอารมณ์ให้มีความสุข โดยผลจากการทำลายดังกล่าว จะทำให้ผู้เสพเข้าสู่สภาวะของอารมณ์ที่เศร้าหมองหดหู่อย่างมาก และมีแนวโน้มการฆ่าตัวตายสูงกว่าคนปกติ



ฤทธิ์ในทางเสพติด :
ออกฤทธิ์กระตุ้นประสาทในระยะสั้นๆ จากนั้นจะออกฤทธิ์หลอนประสาท มีอาการติดยาทางจิตใจ ไม่มีอาการขาดยาทางร่างกาย

อาการผู้เสพ :
เหงื่อออกมาก หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูง ระบบประสาทการรับรู้เปลี่ยนแปลงทั้งหมด (Psychedelic) ทำให้การได้ยินเสียงและการมองเห็นแสงสีต่างๆ ผิดไปจากความเป็นจริง เคลิบเคลิ้ม ควบคุมอารมณ์ไม่ได้

โทษที่ได้รับ :
การเสพยาอีก่อให้เกิดผลร้ายหลายประการ ดังนี้
1. ผลต่ออารมณ์ เมื่อเริ่มเสพในระยะแรกยาอีจะออกฤทธิ์กระตุ้นประสาทให้ผู้เสพรู้สึกตื่นตัวตลอดเวลา ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ของตนเองได้ เป็นสาเหตุให้เกิดพฤติกรรมสำส่อนทางเพศ
2. ผลต่อการรับรู้ การรับรู้จะเปลี่ยนแปลงไปจากความเป็นจริง
3. ผลต่อระบบประสาท ยาอีจะทำลายระบบประสาททำให้เซลล์สมองส่วนที่ทำหน้าที่หลั่งสารซีโรโทนิน (Seortonin) ซึ่งเป็นสารสำคัญในการควบคุมอารมณ์นั้นทำงานผิดปกติ กล่าวคือ เมื่อยาอีเข้าสู่สมองแล้วจะทำให้เกิดการหลั่งสาร "ซีโรโทนิน" ออกมามากเกินกว่าปกติ ส่งผลให้จิตใจสดชื่นเบิกบาน แต่เมื่อระยะเวลาผ่านไป สารดังกล่าวจะลดน้อยลงทำให้เกิดอาการซึมเศร้า หดหู่อย่างมาก อาจกลายเป็นโรคจิตประเภทซึมเศร้า (Depression) และอาจเกิดสภาวะอยากฆ่าตัวตาย นอกจากนี้ การที่สารซีโรโทนินลดลงยังทำให้ธรรมชาติของการหลับนอนผิดปกติ จำนวนเวลาของการหลับลดลง นอนหลับไม่สนิท จึงเกิดอาการอ่อนเพลียขาดสมาธิในการเรียนและการทำงาน

7. ยาเค
ยาเค มาจากคำว่า เคตามีน (Ketamine) เคตาวา (Ketava) เคตารา (Ketara) หมายถึง ยาที่มีอันตรายสูง ที่แพทย์จะจ่ายให้กับผู้ป่วยเฉพาะเมื่อมีความจำเป็นจริงๆ เท่านั้น ยาเคถูกสังเคราะห์ขึ้นเพื่อใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ โดยใช้เป็นยาสลบมีชื่อเรียกในวงการแพทย์ว่า "KATAMINE HCL." มีลักษณะเป็นผงสีขาว และเป็นน้ำบรรจุอยู่ในขวดสีชา การนำไปใช้นั้นปกติแพทย์จะใช้ฉีดเข้าเส้นเลือดในอัตรา 1 ถึง 2 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม โดยยาจะออกฤทธิ์ทำให้หมดสติภายในเวลา 1 นาที หรืออาจใช้วิธีฉีดเข้ากล้ามเนื้อ แต่วิธีนี้จะใช้ปริมาณยามากกว่าการฉีดเข้าเส้นเลือดประมาณ 3 เท่า อาการหมดสติจากการใช้ยาเคจะเป็นอยู่นานประมาณ 10-15 นาที เท่านั้น ด้วยเหตุนี้ยาเคจึงถูกนำมาใช้ในกรณีของการผ่าตัดที่ใช้ระยะเวลาสั้นๆ หรือใช้ทำให้ผู้ป่วยสลบ ก่อนที่จะผ่านไปสู่การใช้ยาสลบชนิดอื่น
สาเหตุที่ทำให้ยาเค กลายเป็นปัญหา เพราะวัยรุ่นบางกลุ่มได้นำยาเคมาใช้เป็นสิ่งมึนเมา โดยนำมาทำให้เป็นผงด้วยกรรมวิธีผ่านความร้อน จากนั้นจึงนำมาสูดดมเพื่อให้เกิดอาการมึนเมาและมักพบว่ามีการนำยาเคมาใช้ร่วมกับยาเสพติดร้ายแรงชนิดอื่น เช่น ยาอี และโคเคน
ยาเค เป็นยาที่ออกฤทธิ์หลอนประสาทอย่างรุนแรง เมื่อเสพเข้าไปแล้วจะรู้สึกเคลิบเคลิ้ม
(Euphoria) รู้สึกว่าตนเองมีอำนาจพิเศษ (Mystical) มีอาการสูญเสียกระบวนการทางความคิด ความคิดสับสน การรับรู้และตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อมทั้งภาพ แสง สี เสียง จะเปลี่ยนแปลงไป ตาลาย ร่างกายเคลื่อนไหวไม่สัมพันธ์กัน หากใช้ปริมาณมากจะเกิดการติดขัดในการหายใจ (Respiratory Depression) อาการที่ไม่พึงประสงค์เหล่านั้น (Bad Trip) จะปรากฏให้เห็นคล้ายกับอาการทางจิต ซึ่งหากใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานจะปรากฏอาการเช่นนี้อยู่บ่อยๆ เรียกว่า Flashbacks ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว จะทำให้ผู้เสพประสพกับสภาวะโรคจิตและกลายเป็นคนวิกลจริตได้

โทษที่ได้รับ :
การนำยาเคมาใช้ในทางที่ผิดย่อมก่อให้เกิดอันตรายต่อตัวผู้ใช้ โดยทำให้เกิดผล ดังนี้
1. ผลต่ออารมณ์ มีความรู้สึกเคลิบเคลิ้ม มึนงง หรือที่เรียกว่าอาการ "Dissociation"
2. ผลต่อการรับรู้ จะเปลี่ยนแปลงการรับรู้ทั้งหมดในขณะเสพ ไม่ค่อยตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อมทั้งภาพ แสง สี เสียง

8. กัญชา (Cannabis, Marihuana, Ganja)
กัญชา เป็นพืชล้มลุกจำพวกหญ้าขึ้นได้ง่ายในเขตร้อน ลำต้นสูงประมาณ 2-4 ฟุต ลักษณะใบจะแยกออกเป็นแฉกประมาณ 5-8 แฉก คล้ายใบมันสำปะหลัง ที่ขอบใบทุกใบจะมีรอยหยักอยู่เป็นระยะๆ ออกดอกเป็นช่อเล็กๆ ตามง่ามของกิ่งและก้าน ส่วนที่คนนำมาเสพได้แก่ ส่วนของกิ่ง ก้าน ใบและยอดช่อดอกกัญชา โดยนำมาตากหรืออบแห้งแล้วบดหรือหั่นให้เป็นผงหยาบๆ จากนั้นจึงนำมายัดไส้บุหรี่สูบ (แตกต่างจากบุหรี่ทั่วไปที่ไส้บุหรี่จะมีสีเขียวต่างจากไส้ยาสูบที่มีสีน้ำตาล และขณะจุดสูบจะมีกลิ่นเหมือนหญ้าแห้งไหม้ไฟ) หรืออาจสูบด้วยกล้องหรือบ้องกัญชา บ้างก็ใช้เคี้ยว หรือผสมลงในอาหารรับประทาน ปัจจุบันรูปแบบของกัญชาที่พบนอกจากจะพบในลักษณะของกัญชาสด กัญชาแห้งอัดเป็นแท่งเป็นก้อนแล้วยังอาจพบในรูปของ "น้ำมันกัญชา" (Hashish Oil) ซึ่งมีลักษณะเป็นของเหลวสีน้ำตาลเข้มหรือสีดำ ได้จากการนำกัญชามาผ่านกระบวนการสกัดหลายๆ ครั้งจึงได้เป็นน้ำมันกัญชาที่มีปริมาณสารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทสูงถึง 20-60% หรืออาจพบในลักษณะของ "ยางกัญชา" (Hashish) เป็นยางแห้งที่ได้จากใบและยอดช่อดอกกัญชา ซึ่งโดยทั่วไปจะมีฤทธิ์แรงกว่ากัญชาสด และมีปริมาณสารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทประมาณ 4-8%
กัญชา เป็นยาเสพติดให้โทษที่ออกฤทธิ์หลายอย่างต่อระบบประสาทส่วนกลาง คือ ทั้งกระตุ้น กดและหลอนประสาท สารออกฤทธิ์ที่อยู่ในกัญชามีหลายชนิด แต่สารที่สำคัญที่สุดที่มีฤทธิ์ต่อสมองและทำให้ร่างกาย อารมณ์และจิตใจเปลี่ยนแปลงไป คือ เตตราไฮโดรแคนนาบินอล (Tetrahydro Cannabinol) หรือ THC ที่มีอยู่มากในส่วนของยอดช่อดอกกัญชา สาร THC นี้ ในเบื้องต้นจะออกฤทธิ์กระตุ้นประสาท ทำให้ผู้เสพตื่นเต้น ช่างพูด และหัวเราะตลอดเวลา ต่อมาจะกดประสาททำให้ผู้เสพมีอาการคล้ายเมาเหล้าอย่างอ่อนๆ เซื่องซึมและง่วงนอน หากเสพเข้าไปในปริมาณมากๆ จะหลอนประสาททำให้เห็นภาพลวงตา หูแว่ว ความคิดสับสน ควบคุมตนเองไม่ได้

ฤทธิ์ในทางเสพติด :
ออกฤทธิ์ผสมผสานทั้งกระตุ้น กดและหลอนประสาท มีอาการเสพติดทางจิตใจ ไม่มีอาการขาดยาทางร่างกาย

อาการผู้เสพ :
อารมณ์อ่อนไหวเปลี่ยนแปลงง่าย ความคิดเลื่อนลอยสับสน ควบคุมตัวเองไม่ได้ ไม่สนใจสิ่งแวดล้อม ความจำเสื่อม กล้ามเนื้อลีบ หัวใจเต้นเร็ว หูแว่ว

โทษที่ได้รับ :
หลายคนคิดว่า การเสพกัญชานั้นไม่มีโทษร้ายแรงมากนัก แต่จากการศึกษาวิจัย พบว่า กัญชาเป็นยาเสพติดอีกชนิดหนึ่ง ที่มีอันตรายร้ายแรงต่อสุขภาพมากเกินกว่าที่คาดคิด อาทิเช่น
1. ทำลายสมรรถภาพทางกาย ผู้เสพกัญชาในปริมาณมาก เป็นระยะเวลานานๆ จะทำให้ร่างกายเสื่อมโทรม จนไม่สามารถประกอบกิจการงานใดๆ ได้ โดยเฉพาะงานที่ต้องใช้แรงงาน ความคิด และการตัดสินใจ รวมทั้งจะมีลักษณะ Amotivation Syndrome คือ การหมดแรงจูงใจของชีวิต จะไม่คิดทำอะไรเลย อยากอยู่เฉยๆ ไปวันๆ ซึ่งมีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตและการทำงานเป็นอย่างมาก
2. ทำลายระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย การเสพติดกัญชามีผลร้ายคล้ายกับการติดเชื้อเอดส์ (HIV) กล่าวคือ กัญชาจะทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานเสื่อมลงหรือบกพร่อง ร่างกายจะอ่อนแอและติดเชื้อโรคต่างๆ ได้ง่าย
3. ทำลายสมอง การเสพกัญชาแม้เพียงในระยะสั้น ทำให้ผู้เสพบางรายสูญเสียความทรงจำ เพราะฤทธิ์ของกัญชาจะทำให้สมองและความจำเสื่อม เกิดความสับสน วิตกกังวล และหากผู้เสพเป็นผู้มีอาการของโรคจิตเภท หรือป่วยเป็นโรคซึมเศร้าจะมีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการรุนแรงมากกว่าคนปกติทั่วไป
4. ทำให้เกิดมะเร็งปอด เนื่องจากผู้เสพจะอัดควันกัญชาเข้าไปในปอดลึกนานหลายวินาที การสูบบุหรี่ยัดไส้กัญชาเพียง 4 มวน ซึ่งเท่ากับการสูบบุหรี่ 1 ซอง หรือ 20 มวน นั้นสามารถทำลายการทำงานของระบบทางเดินหายใจทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งได้มากกว่าคนสูบบุหรี่ธรรมดาถึง 5 เท่า และในกัญชายังมีสารเคมีที่เป็นอันตรายสามารถให้เกิดโรคมะเร็งได้
5. ทำร้ายทารกในครรภ์ กัญชาจะทำลายโครโมโซม ฉะนั้นหญิงที่เสพกัญชาในระยะตั้งครรภ์ ทารกที่เกิดมาจะพิการมีความผิดปกติทางร่างกาย เช่น ความผิดปกติของเซลล์ประสาทในสมอง ความผิดปกติของฮอร์โมนเพศและพันธุกรรม
6. ทำลายความรู้สึกทางเพศ กัญชาจะทำให้ระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนในชายลดลง ทำให้ปริมาณอสุจิน้อยลง ทั้งยังพบว่า ผู้เสพติดกัญชามักกลายเป็นคนขาดสมรรถภาพทางเพศ
7. ทำลายสุขภาพจิต ฤทธิ์ของกัญชาจะทำให้ผู้เสพมีอาการเลื่อนลอย ฝันเฟื่อง ความคิดสับสนและมีอาการประสาทหลอนจนควบคุมตนเองไม่ได้ ซึ่งถ้าเสพเป็นระยะเวลานานจะทำให้มีอาการจิตเสื่อม
นอกจากผลร้ายที่มีต่อร่างกายและจิตใจของผู้เสพแล้ว การขับรถขณะเมากัญชายังก่อให้เกิดอันตรายได้มาก เพราะฤทธิ์ของกัญชาจะทำให้เสียสมาธิ ทำให้การตัดสินใจผิดพลาด การตอบสนองช้าลง การรับรู้ทางสายตาบิดเบือน ความสามารถในการมองเห็นสิ่งเคลื่อนที่ด้อยลง จึงเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อผู้ขับรถยนต์หรือแม้แต่เดินบนท้องถนนก็ตาม
8. ผลต่อร่างกายและระบบประสาท เมื่อใช้ยาเคในปริมาณมากๆ ไม่เพียงแต่จะทำให้เกิดอาการติดขัดในการหายใจเท่านั้น ยังทำให้เกิดอาการทางจิตประสาทหลอน หูแว่วกลายเป็นคนวิกลจริตได้

9. แอลกอฮอล์ (Alcohol)
แอลกอฮอล์ เป็นของเหลวไม่มีสี แอลกอฮอล์ในเครื่องดื่มมึนเมา คือ เอธิลแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มมึนเมาชนิดต่างๆ เช่น เหล้า เบียร์ วิสกี้ บรั่นดี จะมีปริมาณของเอธิลแอลกอฮอล์แตกต่างกัน

ฤทธิ์ในทางเสพติด :
ออกฤทธิ์กดประสาท มีการเสพติดทั้งทางร่างกายและจิตใจ


อาการผู้เสพ :
ถ้าดื่มมากๆ จะกัดกระเพาะอาหารเกิดเป็นแผลในกระเพาะอาหาร ความรู้สึกนึกคิดผิดไป ควบคุมตนเองไม่ได้ ไม่สามารถยับยั้งตนเองจึงอาจแสดงอาการบางอย่างออกมา เช่น ดุร้าย ทะเลาะวิวาท พูดมาก นอกจากนี้ยังมีอาการหน้าแดง ตัวแดง ความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นแรง ปัสสาวะบ่อย ถ้าดื่มมากขึ้นอีกจะทำให้การรับรส กลิ่น เสียง และสัมผัสลดลง คนที่เสพติดแอลกอฮอล์หรือคนที่เป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง จะมีใบหน้าบวมฉุ หน้าแดง ตาแดง ผิวหนังคล้ำ มือสั่น ลมหายใจมีกลิ่นแอลกอฮอล์

โทษที่ได้รับ :
ถ้าดื่มเป็นระยะเวลานานๆ จะทำให้เกิดโรคพิษสุราเรื้อรัง ทำลายตับและสมอง สติปัญญาเสื่อม ควบคุมตัวเองไม่ได้ จิตใจผิดปกติ กล้ามเนื้ออ่อนเปลี้ย เป็นตะคริว ปลายมือปลายเท้าชา กระเพาะอาหารอักเสบ เบื่ออาหาร ร่างกายซูบผอม และอาจเกิดโรคตับแข็งถ้าเสพติดมาก และไม่ได้เสพจะมีอาการกระวนกระวาย อ่อนเพลีย นอนไม่หลับ เหงื่อออกมาก คลื่นไส้ อาเจียน หัวใจเต้นเร็ว อารมณ์ฉุนเฉียว อาจมีอาการชัก ประสาทหลอน เป็นโรคจิต และถ้าดื่มแอลกอฮอล์ร่วมกับยาที่กดประสาท เช่น ยานอนหลับ ยากล่อมประสาท จะเสริมฤทธิ์กันทำให้มีอันตรายมากขึ้นได้
สำหรับสถานการณ์ปัจจุบัน ยาเสพติดนับวันแต่จะมีชนิดใหม่ๆ และมีความร้ายแรงมากขึ้น ผู้ที่ติดยาเสพติดก็มีจำนวนมากขึ้นตามไปด้วย แต่ผู้ติดยาส่วนใหญ่กลับมีอายุที่ลดลงอย่างน่าวิตก คือ ต่ำที่สุด 7 ปี จึงนับได้ว่ายาเสพติดได้ก่อให้เกิดปัญหาทั้งทางเศรษฐกิจ และสังคมของประเทศอย่างร้ายแรง
ดังนั้น คงต้องได้รับความร่วมมือกันจากบุคคลหลายฝ่ายทั้งในระดับรากหญ้า จนถึงบุคคลในองค์กรสูงสุดระดับประเทศ ในฐานะนักศึกษาซึ่งได้เรียนรู้ถึงพิษภัยของยาเสพติด ซึ่งมีทั้งเป็นยาเสพติดโดยตรง หรืออาจเป็นสิ่งที่แฝงมาในลักษณะอื่นๆ รู้สาเหตุการติดยา รู้โทษของการติดยา ก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะช่วยให้นักศึกษาที่ได้เรียนรู้แล้วคงไม่หลงไปในทางที่ผิดเสียเอง และจะเป็นสิ่งที่ดียิ่งขึ้น ถ้าได้มีโอกาสได้ช่วยเหลือคนใกล้ชิดให้พ้นจากสิ่งเหล่านี้ได้
ประเทศใดมีเยาวชนซึ่งจะเป็นพลังของชาติในอนาคตติดยาเสพติดมาก ก็เป็นการบ่อนทำลายความมั่นคงของประเทศมาก ซึ่งต้องระมัดระวังผู้ที่ไม่หวังดีต่อชาติ จะใช้ยาเสพติดเป็นเครื่องมือ เพื่อทำลายความมั่นคงของประเทศ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น